xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : 7 อารมณ์ก่อโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อารมณ์เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในร่างกาย เพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นจากภายนอก ในภาวะปกติจะไม่ทำให้เกิดโรค แต่ถ้าเกิดความผิดปกติทางอารมณ์ คือ อารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน รุนแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน จนร่างกายปรับตัวไม่ได้ ทำให้เกิดความผิดปกติในการไหลเวียนเลือดและลมปราณ อวัยวะภายในทำงานผิดปกติจนเกิดความเจ็บป่วยตามมา

นอกจากความผิดปกติทางอารมณ์เป็นสาเหตุของโรคแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการดำเนินโรค อาจทำให้โรคดีขึ้นหรือเลวลงได้

ความผิดปกติทางอารมณ์ที่เป็นสาเหตุของโรคมี 7 แบบคือ โกรธ ยินดี เศร้าโศก วิตกกังวล ครุ่นคิด หวาดกลัว ตกใจ

เลือดและลมปราณเป็นส่วนประกอบสำคัญของร่างกาย และจำเป็นต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ความผิดปกติทางอารมณ์เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะ ความผิดปกติของเลือดและลมปราณ จึงเป็นสาเหตุของความผิดปกติทางอารมณ์

คัมภีร์หวงตี้เน่ย์จิง บันทึกไว้ว่า เลือดมากเกินไปก่อให้เกิดอารมณ์โกรธ เลือดพร่องทำให้เกิดอารมณ์กลัว เลือดของหัวใจและตับพร่องทำให้ตกใจ ลมปราณหัวใจพร่องทำให้เศร้า ลมปราณหัวใจสูงเกินไปทำให้เสียสติ หัวเราะร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ

1. ความสัมพันธ์ระหว่าง
อารมณ์กับอวัยวะภายใน


อารมณ์เปลี่ยนแปลงมาจากลมปราณของอวัยวะตัน เช่น ความยินดี ตกใจ สร้างจากลมปราณหัวใจ ความโกรธสร้างจากลมปราณตับ ความครุ่นคิดสร้างจากลมปราณม้าม ความเศร้าโศก วิตกกังวลสร้างจากลมปราณปอด ความกลัวสร้างจากลมปราณไต

• ความผิดปกติทางอารมณ์โดยทั่วไป จะมีผลกระทบต่ออวัยวะตันที่ให้กำเนิดอารมณ์นั้นๆ เช่น

- ความยินดีหรือตกใจเกินไปจะกระทบต่อหัวใจ

- ความโกรธจัดจะกระทบต่อตับ

- ความครุ่นคิดหมกมุ่นจะกระทบต่อม้าม

- ความเศร้าโศกวิตกกังวลจะกระทบต่อปอด

- ความกลัวสุดขีดจะกระทบต่อไต

ความผิดปกติทางอารมณ์มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษกับหัวใจ เพราะหัวใจเป็นเจ้าแห่งอวัยวะภายใน และเป็นที่อยู่ของจิตใจ ความผิดปกติทางอารมณ์จึงมักมีผลกระทบต่อหัวใจก่อนอวัยวะอื่นๆ

ความผิดปกติทางอารมณ์เป็นสาเหตุกระทบทุกอวัยวะตัน แต่มักจะกระทบการทำงานของหัวใจ ตับ และม้าม เพราะอวัยวะทั้งสามมีบทบาทสำคัญต่อการไหล เวียนเลือดและลมปราณ ดังนี้

• หัวใจเป็นเจ้าแห่งเลือดและควบคุมจิตใจ ความยินดีหรือตกใจเกินไปกระทบต่อหัวใจ มีอาการใจสั่น นอนไม่หลับ ฝัน หงุดหงิด กระวนกระวาย หัวเราะร้องไห้ไม่มีสาเหตุ เป็นโรคจิตอาละวาด

• ตับเก็บสะสมเลือด ลมปราณตับแผ่ซ่าน ความโกรธจัดกระทบต่อตับ ทำให้ลมปราณตับแผ่ซ่านลอยขึ้นบน มีอาการปวดแน่นชายโครง หงุดหงิด ชอบถอนใจ จุกแน่นลำคอ ผู้หญิงระดูผิดปกติ ปวดระดู

• ม้ามควบคุมการย่อยและการดูดซึมอาหาร ความครุ่นคิดหมกมุ่นจะกระทบต่อม้าม มีอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องเดิน

ความผิดปกติทางอารมณ์สามารถเปลี่ยนแปลงกลายเป็นไฟ ทำให้มีอาการหงุดหงิด กระวนกระวาย นอนไม่หลับ หน้าแดง ปากขม อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล เป็นต้น

ความผิดปกติทางอารมณ์ยังอาจเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยจากการคั่งสะสมของลมปราณ ความชื้น ความร้อน เสมหะ เลือด และอาหาร

2. ความผิดปกติทางอารมณ์ มีผลกระทบต่อ
ทิศทางการไหลเวียนลมปราณของอวัยวะภายใน


ความผิดปกติทางอารมณ์มีผลกระทบต่อทิศทางการไหลเวียนลมปราณของอวัยวะภายใน ทำให้การไหลเวียนเลือดและลมปราณผิดปกติ ดังนี้

1) ความยินดีเป็นอารมณ์ของหัวใจ ความยินดีทำให้ผ่อนคลาย รู้สึกสบายใจ เลือดและลมปราณไหลเวียนสม่ำเสมอ เป็นผลดีต่อร่างกาย แต่ความยินดีเกินขนาดจะกระทบต่อหัวใจ ทำให้ลมปราณหัวใจกระจัดกระจาย จิตใจจึงไม่อยู่เป็นที่มีอาการอ่อนเพลีย เกียจคร้าน ไม่มีสมาธิ ถ้าเป็นมากมีอาการใจสั่น กระวนกระวาย อาละวาด

2) ความโกรธกระทบต่อตับ ทำให้ลมปราณแผ่ซ่านมากเกินไป หรือลอยสวนขึ้น ข้างบนและพาเอาเลือดไหลขึ้นไปด้วย ทำให้มีอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หน้าแดง หูมีเสียงดัง อาเจียนเป็นเลือด หมดสติ ตับเป็นอวัยวะที่สำคัญ ความผิดปกติ ของลมปราณตับ มักจะมีผลกระทบอวัยวะอื่นๆด้วย ถ้าลมปราณตับไปกระทบม้าม ทำให้ท้องอืดท้องเดิน ถ้าลมปราณตับ ไปกระทบกระเพาะอาหาร ทำให้คลื่นไส้อาเจียน ตับและไตมีกำเนิดเดียวกัน ความโกรธจึงมักกระทบไตด้วย มีอาการหวาดกลัว ความจำเสื่อม ปวดเมื่อยอ่อนแรงที่เอว

3) ความเศร้าโศกเกินไปทำลายลมปราณปอด แล้วไปมีผลกระทบอวัยวะอื่น

- ถ้าลมปราณปอดถูกทำลาย จะเกิดอาการลมปราณปอดพร่อง คือ แน่นหน้าอก หายใจขัด เซื่องซึม ไม่มีแรง

- ความเศร้าโศกไปกระทบลมปราณหัวใจ มีอาการใจสั่นใจลอย

- ความเศร้าโศกไปกระทบตับ ทำให้เกิดความผิดปกติทางจิต แน่นชายโครง แขนขาชา เกร็ง ชักกระตุก

- ความเศร้าโศกไปกระทบม้าม ทำให้การไหลเวียนของลมปราณของจงเจียวติดขัด อาหารไม่ย่อย ท้องอืด แขนขาอ่อนแรง

4) ความวิตกกังวลเกินไปทำให้ลม ปราณปอดติดขัด มีอาการหายใจเบา พูดเสียงต่ำ ไอ แน่นหน้าอก แล้วไปมีผลกระทบต่อลมปราณของหัวใจ ตับ และม้ามได้

5) ความครุ่นคิดมากเกินไปทำให้ลมปราณม้ามคั่งอยู่ข้างใน ลมปราณของจงเจียวติดขัด กระทบการทำงานของม้าม และกระเพาะอาหาร มีอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด แน่นท้อง ท้องเดิน ถ้าเป็นมากทำให้กล้ามเนื้อลีบ

ความครุ่นคิดเกิดจากม้าม แล้วส่งผลต่อหัวใจ ทำให้เลือดในหัวใจพร่อง มีอาการใจสั่น นอนไม่หลับ ฝัน ความจำเสื่อม

6) ความหวาดกลัวทำให้ลมปราณไตไม่มั่นคง มีอาการกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ ฝันเปียก แขนขาไม่มีแรง ปวดเอว ความหวาดกลัวยังทำให้ไตไม่สามารถส่งสารจำเป็นและลมปราณขึ้นไปหล่อเลี้ยงหัวใจและปอด เรียกว่าน้ำกับไฟไม่ปรองดองกัน มีอาการแน่นท้องและหน้าอก หงุดหงิด นอนไม่หลับ

7) ความตกใจเกินไปทำให้ลมปราณหัวใจสับสน เลือดและลมปราณไม่อยู่ในสมดุล มีอาการใจสั่น กระวนกระวาย นอนไม่หลับ หายใจขัด ถ้าเป็นมากอาจมีอาการโรคจิต

(จากส่วนหนึ่งของหนังสือศาสตร์การแพทย์แผนจีนเบื้องต้น)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 134 กุมภาพันธ์ 2555 โดย กองบรรณาธิการ)






กำลังโหลดความคิดเห็น