xs
xsm
sm
md
lg

คร.เล็งใช้แบคทีเรีย BS กำจัดยุงลาย ป้องกันไข้เลือดออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรค เล็งใช้แบคทีเรีย BS กำจัดลูกน้ำยุงลาย-ยุงรำคาญ ป้องกันแพร่ระบาดไข้เลือดออก-สมองอักเสบ

เมื่อวานนี้ (14 พ.ย.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าว ถึงแนวทางการควบคุมปัญหาโรคระบาดช่วงน้ำท่วม ว่า ในภาวะน้ำท่วม หลายคนกังวลโรคที่มากับแมลง โดยเฉพาะยุงลาย ซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก แต่จริงๆแล้ว น้ำท่วมขังไม่ได้เป็นแหล่งของลูกน้ำยุงลาย แต่เป็นแหล่งของยุงรำคาญ ซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ (Japanese encephalitis : JE) ซึ่งโรคนี้อันตรายมาก จะมีไข้ ปวดเมื่อย อาเจียน ชักกระตุกบางราย อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าว คร.โดยมีเชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อทางแมลงได้มีการหารือถึงแนวทางการป้องกัน ไม่ให้เกิดการระบาดของโรค โดยเฉพาะน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นน้ำสกปรกจะทำอย่างไรเพื่อฆ่ายุงเหล่านี้

นพ.พรเทพ กล่าวว่า กรมได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ทำการศึกษาเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งพบว่าเมื่อนำมาใส่ไว้ในภาชนะใส่น้ำฝน ซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำใสจะฆ่าลูกน้ำยุงลายได้ จึงมีการศึกษาต่อว่าจะสามารถนำมาใช้ในแหล่งน้ำท่วมขังได้หรือไม่ ซึ่งพบว่าใช้ได้เช่นกัน โดยหากนำมาพ่นในแหล่งน้ำในขอบเขตที่จำกัดจะสามารถฆ่าลูกน้ำยุงรำคาญได้ภายใน 3 วัน แสดงว่า แบคทีเรียชนิดนี้จะกำจัดลูกน้ำยุงทั้งสองชนิดได้ ทำให้ป้องกันได้ทั้งโรคไข้เลือดออก และไข้สมองอักเสบ ซึ่งอยู่ระหว่าการหาแนวทางการดำเนินการ

ด้าน นพ.วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อ นำโดยแมลง คร. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการศึกษาแบคทีเรีย 2 ชนิดที่สามารถกำจัดลูกน้ำได้ คือ แบคทีเรีย BTi (Bacillus thuringiensis israelensis ) และ BS (Bacillus sphaericus ) โดยแบคทีเรียดังกล่าวไม่ก่ออันตรายในคนและสัตว์เลี้ยง แต่จะมีอันตรายเฉพาะลูกน้ำเท่านั้น ซึ่ง คร.ได้ร่วมกับ สวทช.คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการศึกษาและผลิตเชื้อแบคทีเรีย BS ขึ้น โดยได้ทำการศึกษาพบว่าแบคทีเรียดังกล่าวมีคุณสมบัติฆ่าลูกน้ำได้จริงทั้งลูกน้ำยุงลาย และยุงรำคาญ ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้จะสามารถแตกตัวเป็นผลึกท็อกซินออกมาได้เอง และเมื่อลูกน้ำกินเข้าไปก็จะเกิดสารพิษเข้าไปทำลายกระเพาะอาหารทำให้ลูกน้ำตายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งสามารถนำมาใช้กำจัดลูกน้ำในแหล่งน้ำตามบ้าน อย่างภาชนะใส่น้ำ

แต่สำหรับน้ำท่วมขังในช่วงน้ำท่วมนั้น กำลังศึกษาว่า จะต้องใช้ในปริมาณเท่าไร สำหรับพื้นที่กว้างมากน้อยเพียงใด ส่วนวิธีการใช้แบคทีเรียตัวนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะนำมาลอยเป็นทุ่น โดยใช้กากมะพร้าวชุบเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวแล้วทำเป็นทุ่นลอยน้ำ เพื่อปล่อยสารออกมาให้พวกลูกน้ำกินเข้าไป จะเริ่มทดลองในสัปดาห์หน้าในพื้นที่ อ.ศาลายา จ.นครปฐม และ อ.ท่าอิฐ จ.นนทบุรี

“จริงๆ แล้ว เชื้อแบคทีเรียพวกนี้มีการใช้มานานเป็นสิบปี แต่ขณะนี้ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากไม่ได้นำมาใช้กำจัดในภาวะปกติ แต่ต้องใช้ในน้ำท่วมขังที่มีอาณาเขตกว้าง จึงจำเป็นต้องหาวิธีในการใช้แบคทีเรียชนิดนี้ว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ผลมากที่สุด” นพ.วิชัย กล่าว และว่า ระหว่างนี้อยากให้ประชาชนดูแลตัวเอง อย่าให้ถูกยุงกัด ไม่ว่าจะยุงลายหรือยุงรำคาญ โดยควรนอนในมุ้ง หรือทายากันยุง ซึ่งมีทั้งโลชั่นสำเร็จรูป และสมุนไพรตะไคร้หอม ยิ่งในศูนย์พักพิง ซึ่งเป็นที่รวมของคนจำนวนมากยิ่งต้องระวัง เพราะติดต่อกันได้ อย่างตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปี 2554 ถึงปัจจุบันพบ 58,370 ราย เสียชีวิต 53 ราย ขณะที่ปี 2553 พบผู้ป่วย 100,000 ราย เสียชีวิต 100 ราย
กำลังโหลดความคิดเห็น