มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
ในห้วงของความโกลาหลหลังจากเหตุคาร์บอมบ์ที่โรงแรมลี การ์เดนส์ พลาซ่า กลางเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และยะลา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 นักข่าวหลายสำนักมุ่งนำเสนอความเสียหายอย่างเจาะลึก พอๆ กับการมุ่งไล่ล่าคนร้ายของเจ้าหน้าที่
ในห้วงนั้น นักข่าวทางเลือกกลุ่มหนึ่งกำลังง่วนอยู่กับการจัดค่ายฝึกอบรมการทำข่าวให้แก่นักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหวังไกลถึงการผลิตนักข่าว 4 ภาษา และปูทางสู่การก่อตั้งสำนักข่าว 4 ภาษา ที่จะเริ่มต้นด้วยภาษามลายูอักษรยาวีควบคู่กับภาษาไทย
ด้วยพื้นฐานสำคัญที่เป็นข้อได้เปรียบทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหรือเรียกในชื่อเล่นว่า โรงเรียนปอเนาะ ในพื้นที่ คือมีการสอนทั้ง 4 ภาษา เป็นวิชาพื้นฐาน
ทั้ง 4 ภาษา ได้แก่ ภาษามลายู อันเป็นภาษาหลักของพื้นที่ ที่มีทั้งตัวเขียนที่ใช้อักษรโรมันและอักษรยาวี ภาษาไทย คือภาษาราชการของไทยที่ใช้ในการเรียนการสอนในหลักสูตรสามัญทั่วไป ส่วนภาษาอังกฤษ เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันทั่วโลก และภาษาอาหรับ เป็นภาษาพื้นฐานสำคัญของอิสลามศึกษา
ค่ายฝึกอบรมข่าวนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเตรียมคนให้พร้อมก่อนก่อตั้งสำนักข่าว เสมือนหนึ่งการเฟ้นหาเด็กที่สนใจในการฝึกทักษะ และเห็นความสำคัญของการสื่อสารในรูปของการนำเสนอข่าว ก่อนนำไปฝึกทักษะอย่างจริงจังต่อไปในอนาคต
เป็นค่ายอบรมที่ดำเนินการโดยโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ซึ่งอยู่ภายใต้ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Project) โดยมีนายมูฮำหมัด ดือราแม ผู้ช่วยบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ เป็นหัวหน้าโครงการ
ค่ายอบรมซึ่งจัดขึ้นที่บ้านพักตากอากาศ อามาน่าแปซิฟิก 302 หมู่ที่ 1 ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีทีมงานหลักๆ มาจากกลุ่มบูหงารายา กลุ่มซีเระปีแน และวิทยาลัยประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น นายลุกมาน มะ นายแซมซู แยะแยง
มุ่งสู่รากหญ้าพัฒนาคนพื้นที่
ค่ายฝึกอบรมข่าวนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดขึ้นภายใต้กรอบแนวคิด และยุทธศาสตร์การสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ในกรอบการทำงานกับระดับรากหญ้า (Track 3)
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แบ่งกรอบการทำงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับบน (Track 1) คือ การทำงานกับรัฐ ขบวนการ คู่ขัดแย้ง ระดับกลาง (Track 2) คือ องค์กรภาคประชาสังคม และ (Track 3) คือ ระดับรากหญ้า หรือระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
แนวคิดหลักๆ ของค่ายฝึกอบรมข่าว คือ มุ่งพัฒนาศักยภาพการสื่อสารให้คนชายแดนภาคใต้ ผ่านการฝึกทำข่าวทั้งภาษาไทย และภาษามลายูอักษรยาวี โดยมีช่องทางการเผยแพร่ 2 ทาง ทางแรกสำหรับข่าวภาษาไทย คือ ผ่านเว็บไซด์ต่างๆ ส่วนข่าวภาษามลายูอักษรยาวี คือนำไปผลิตจดหมายข่าวแจกจ่ายไปตามที่ต่างๆ ในพื้นที่
แน่นอนว่า เป้าหมายของผู้เข้าค่ายอบรมในโครงการนี้ จึงต้องเป็นนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะที่เป็นทั้งผู้เรียน ผู้ใช้ ผู้เขียน และผู้อ่านทั้งภาษาไทย และภาษามลายู รวมถึงภาษาอังกฤษ และภาษาอาหรับ อันเป็นเป้าหมายต่อไปในการพัฒนาทักษะการเขียนข่าวตามลำดับ
ในการคัดเลือกโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ให้ส่งนักเรียนเข้าร่วมนั้น เกิดจากแนวคิดในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้โรงเรียนเป็นผู้คัดเลือกนักเรียนเอง โดยกำหนดคุณสมบัติคร่าวๆ ของนักเรียน คือ ความสนใจในการพัฒนาทักษะการสื่อสาร และมีความสามารถด้านภาษามลายูอักษรยาวี
โดยกำหนดจำนวนผู้เข้าอบรมรวม 20 คน ระยะเวลาอบรม 10 วัน แบ่งเป็น 2 รุ่น รุ่นละ 10 คน และกำหนดโรงเรียนเป้าหมาย 10 โรงเรียน โรงเรียนละ 2 คน
ทีมงานได้กำหนดโรงเรียนเป้าหมาย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงระดับหนึ่งในพื้นที่ และโรงเรียนที่มีอุสตาซ หรือครูสอนศาสนาที่เคยเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ภาษามลายู ชื่อ FAJAR เพื่อให้ง่ายต่อการอธิบายโครงการแก่ผู้บริหารโรงเรียน เนื่องจากมีความเข้าใจในการทำข่าวเป็นอย่างดี
เปิดชื่อโรงเรียนเป้าหมาย
เดิมทีมงานได้กำหนดโรงเรียนเป้าหมาย 10 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนดำรงวิทยา (ปอเนาะบันนังสตา), โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ (ปอเนาะฮายีฮารูน), โรงเรียนมะฮัดอัลอิสลามียะห์ (ปอเนาะบาลอ), วิทยาลัยอิสลามเซคดาวุด (JISDA) จังหวัดยะลา
โรงเรียนนะห์ฏอตุลสูบาน (ปอเนาะปือดอ), โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา (ปอเนาะเจาะไอร้อง) จังหวัดนราธิวาส, โรงเรียนดารุลมะอาเรฟ (มัจลิสปัตตานี), โรงเรียนดรุนศาสน์(ปอเนาะชอแม), โรงเรียนมูฮำมาดียะห์ จังหวัดปัตตานี และศูนย์ประสานงานโรงเรียนตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทว่า ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนเป้าหมายบางส่วน เนื่องจากความไม่สะดวกของอุสตาซ รวมทั้งตัวนักเรียนที่จะเข้าอบรม
สำหรับค่ายอบรมข่าวรุ่นที่ 1 ผ่านไปแล้ว ระหว่างวันที่ 1-10 เมษายน 2555 โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วม 9 คน จากโรงเรียนเจริญวิทยานุสรณ์ (ปอเนาะลูโบะสาวอ) อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส, โรงเรียนนะห์ฏอตุลสูบาน (ปอเนาะปือดอ) อำเภอรือเสาะ จังหวดนราธิวาส, โรงเรียนประทีปวิทยา (ปอเนาะชายา) อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส, โรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา (ปอเนาะบ้านแหร) อำเภอธารโต จังหวัดยะลา, โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ (ปอเนาะฮายีฮารูน) อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และโรงเรียนมะฮัดอัลอิสลามียะห์ (ปอเนาะบาลอ) อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
ผลงานข่าวของนักเรียนรุ่นนี้ ได้ถูกนำไปเผยแพร่แล้วตามเว็บไซต์ข่าวต่างๆ แล้ว
ส่วนรุ่นที่ 2 ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ระหว่างวันที่ 21-30 เมษายน 2555 มีนักเรียนจาก 4 โรงเรียน และ 2 สถาบัน ที่เข้าร่วม ได้แก่ โรงเรียนวัฒนธรรมอิสลาม (ปอเนาะพ่อมิ่ง) อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี โรงเรียนบากงพิทยา (ปอเนาะตาฆู) อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี, โรงเรียนอัครศาสน์ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส, โรงเรียนประทีปวิทยา (ปอเนาะชายา) อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส, วิทยาลัยอิสลามเซคดาวุด และมูลนิธิศูนย์ตาดีกานราธิวาส (pusaka)
นักเรียนที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว แต่กำลังศึกษาในสายศาสนาอย่างเดียวเพื่อให้เรียนจบชั้น 10 ก่อนจะไปศึกษาต่อในระดับสูงต่อไป บางคนกำลังศึกษาชั้นมัธยมปลายควบคู่กับการเรียนในสายศาสนา
เนื้อหาเข้มฝึกปฏิบัติจริง
ตลอดระยะเวลา 10 วันของการอบรม เนื้อหาแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ภาคทฤษฎี เป็นการให้ข้อมูล หรือทำความเข้าใจองค์ประกอบพื้นฐานของข่าว คือ 5W1H หรือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร และทำไม โดยมีวิทยากรหลัก คือ นายสุพจ จริงจิตร บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้
ส่วนที่ 2 คือการบรรยายเกี่ยวกับความสำคัญของภาษามลายูอักษรยาวี รวมทั้งประสบการณ์ในการผลิตสื่อภาษามลายูอักษรยาวี โดยวิทยากรซึ่งเป็นอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษามลายูอักษรยาวี ได้แก่ นายอับดุลรอมาน หะยีหะสา และนายอุสมาน โตะตาหยง
พร้อมกันนั้น วิทยากรทั้ง 2 คน ได้จัดทำแบบทดสอบความสามารถด้านภาษามลายูของผู้เข้าอบรมแบบง่ายๆ ซึ่งสำหรับรุ่นที่ 1 แล้ว นายอับดุรอมาน ยืนยันว่า ทุกคนสามารถเขียนข่าวภาษามลายูได้
นอกจากนี้ ยังมีวิทยากรคนอื่นๆ ที่มาร่วมให้ความรู้ด้วย เริ่มจากนายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ บรรยายหัวข้อ “ข่าวอะไรคนชายแดนใต้สนใจ” โดยมีการสอดแทรกเรื่องความจำเป็นที่ต้องมีนักข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนการบรรยายของนายสมัชชา นิลปัทม์ อาจารย์คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เป็นเรื่องของ “ช่องทางการสื่อสาร” เพื่อให้ผู้เข้าอบรมทราบว่า มีช่องทางใดบ้างที่สามารถนำเสนอข่าว รวมทั้งยังแนะนำสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เปิดสอนเกี่ยวกับสื่อมวลชน
การฝึกอบรมส่วนที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการฝึกอบรม ซึ่งเป็นหัวใจของการทำข่าว คือ การประชุมข่าว โดยให้ผู้เข้าอบรมนำเสนอประเด็นที่ตัวเองจะทำข่าว ซึ่งเป็นข่าวที่เกิดขึ้นในชุมชนหมู่บ้านของตัวเอง ในประเด็นง่าย ไม่ซับซ้อนมากนัก
จากนั้น ได้ส่งนักเรียนลงพื้นที่ทำข่าวจริงๆ โดยการติดตามของพี่เลี้ยง เป็นเวลา 2 วัน ในช่วงวันที่ 6-7 ของการอบรม โดยผู้เข้าอบรมต้องไปหาข้อมูล และสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดไว้ในช่วงการประชุมข่าว จากนั้นพี่เลี้ยงจะเดินทางไปรับนักเรียนถึงบ้าน
กระบวนการหลังจากนั้นคือ การตรวจการบ้าน เริ่มจากตรวจดูว่าข่าวที่ได้ ครบองค์ประกอบพื้นฐานของข่าวหรือไม่ คือ 5W1H หากยังไม่ครบผู้เข้าอบรมต้องโทรศัพท์สัมภาษณ์เพิ่มเติม จนได้ข้อมูลครบ จากนั้น จึงเข้าสู่กระบวนการตรวจวิธีการเขียน หรือการรีไรต์ จนกระทั่งได้ข่าวของแต่ละคน
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเพิ่มเติม คือการฝึกถ่ายภาพ โดยให้ผู้เข้าอบรมลงพื้นที่ถ่ายภาพในพื้นที่ชุมชนใกล้ๆ กับสถานที่อบรม จากนั้นให้แต่ละคนเลือกมา 1 รูปเพื่อให้วิทยากรซึ่งเป็นช่างภาพมืออาชีพ คือ นายอิบรอเฮม มาโซะ จากเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ และกลุ่มบินตัง โฟโต้ วิจารณ์ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถแยกแยะได้ว่า ภาพประเภทใดเป็นภาพข่าว เป็นต้น
ก้าวต่อไปผลิตสื่อ 2 ภาษา
สำหรับก้าวต่อไป หลังการอบรมครั้งนี้ คือ การมอบการบ้านให้ผู้เข้าอบรม แปลข่าวของตัวเองเป็นภาษามลายูอักษรยาวี เพื่อนำมาตีพิมพ์เป็นจดหมายข่าว 2 ภาษา คือ ภาษามลายูอักษรยาวี และภาษาไทย สำหรับแจกจ่ายไปยังสถานที่ต่างๆ โดยจะทยอยตีพิมพ์จดหมายข่าวดังกล่าว เดือนละ 1 ฉบับ เป็นเวลา 1 ปี
นอกจากนั้น ยังกำหนดให้แผนที่จะให้ผู้เข้าอบรมได้นัดหมายพบปะเพื่อประชุมข่าวเดือนละ 1 ครั้ง ในรูปของการประชุมข่าวสัญจรไปตามโรงเรียน หรือชุมชนต่างๆ ของผู้เข้าอบรม เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้นำเสนอประเด็นข่าวที่จะทำต่อไป เพื่อเป็นการต่อยอดหลักการเข้าค่ายฝึกอบรมข่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทักษะการทำข่าวเป็นเวลา 1 ปี ตามแผนที่กำหนดไว้
ส่วนภารกิจต่อไป คือ เส้นทางสู่เป้าหมายในการผลิตนักข่าว 4 ภาษา ซึ่งยังเป็นโจทย์ที่ต้องคบคิดต่อไป สำหรับการพัฒนาศักยภาพบุคคลต้นทุนกลุ่มนี้ รวมทั้งกลุ่มใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต
วันนี้ แม้ความไม่สงบที่ยังไม่มีทีท่าจะยุติลง ภารกิจของนักข่าวก็ต้องมีต่อไป เช่นเดียวกับการสร้างนักข่าวรุ่นใหม่ในชายแดนใต้ ยิ่งพื้นที่ที่แตกต่างจากสังคมใหญ่ของประเทศ ก็ยิ่งต้องสร้างนักสื่อสารที่มีคุณภาพจากคนในพื้นที่ ซึ่งก้าวแรกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
อ่านข่าวผู้เข้าอบรมรุ่นที่ 1
http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3113#en
http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3114#en
http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3118#en
http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3133#en
http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3121#en
http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3122#en
http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3125#en
http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3135#en
http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3141#en