xs
xsm
sm
md
lg

“เจ้าท่า” เปิดฟัง ปชช.ครั้งที่ 2 เรื่องเขื่อนกันเซาะฝั่งสงขลา 27 เม.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “กรมเจ้าท่า” จัดประชุมสัมมนาครั้งที่ 2 โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะ บริเวณบ้านทุ่งใหญ่ หมู่ 3-7 ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา วันศุกร์ที่ 27 เม.ย.นี้
 
กรมเจ้าท่า โดยสำนักวิศวกรรม แจ้งว่า จะจัดการประชุมสัมมนาครั้งที่ 2 โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะที่บริเวณบ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 3-7 ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จังหวัดสงขลา ในวันศุกร์ที่ 27 เม.ย.2555 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองเขารูปช้าง
 
ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของประชาชนและการประชาสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจโครงการที่ถูกต้องชัดเจนแก่ประชาชน และการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ร่วมคิด ร่วมแสดงความเห็น ร่วมตัดสินใจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้การดำเนินงานโครงการประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นกลไกที่สำคัญในการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการ ได้มีโอกาสในการร่วมรับทราบข้อมูล และแสดงความคิดเห็น เกิดความเข้าใจ ยอมรับ สนับสนุนการก่อสร้างโครงการ
 
อีกทั้งเพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะที่บริเวณดังกล่าว ที่ปรึกษาจะจัดระบบการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอนโดยใช้เทคนิคและวิธีการในการนำเสนอข้อมูลรับฟังความคิดเห็น และชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชนอย่างสม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวางและเสรีในทุกขั้นตอนของการดำเนินการศึกษา และข้อคิดเห็นที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่ปรึกษาจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจในทุกขั้นตอนของการศึกษาตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ กล่าวคือ


การประชาสัมพันธ์เป็นการดำเนินงานเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายในภาคส่วนต่างๆ เช่น ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ ประชาชนผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ ผู้นำชุมชนและแกนนำทางความคิด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานภาคเอกชน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจ และรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าใจความจำเป็นที่จะต้องทำการก่อสร้างโครงการโดยการใช้สื่อในลักษณะต่างๆ ที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี เช่น แผ่นพับ จดหมายข่าว ผ่านเสียงตามสายในชุมชน ผ่านสื่อในท้องถิ่น ผ่านเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปสู่ประชาชน

การมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นกระบวนการที่ให้หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนผู้สนใจ ร่วมแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาโครงการฯ โดยผ่านกระบวนการสื่อสารแบบสองทาง (Two-way Communication) เพื่อให้มีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาทั้งในรูปแบบของการรับและให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ การมีส่วนร่วมในการเสนอแนะข้อคิดเห็น ซึ่งที่ปรึกษาจะได้รวบรวมประเด็นข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปพิจารณาประกอบในการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์รอบด้าน และสอดคล้องกับความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
 
โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการเพื่อเผยแพร่ข้อมูลโครงการและผลการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งส่วนราชการ ภาคเอกชนและประชาชนได้มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนเสร็จสิ้นโครงการ พร้อมรวบรวมความคิดเห็นของประชาชน/องค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ รวมทั้งความเดือดร้อนและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชน และเพื่อให้ผลการสำรวจออกแบบโครงการสอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่าย

อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจอันดี และผนึกกำลังระหว่างองค์กรของภาครัฐและเอกชนจัดทำโครงการเพื่อให้ประชาชน/องค์กรที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาและตัดสินใจร่วมกัน รวมทั้งให้ความร่วมมือตามวิถีทางของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
 
สำหรับพื้นที่ดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนจะเน้นพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงในรัศมี 1 กิโลเมตร รอบพื้นที่โครงการและพื้นที่อื่นๆ ที่ใกล้เคียงและเป็นเขตพื้นที่ภายใต้อิทธิพลของโครงการในรัศมี 2-5 กิโลเมตร รอบพื้นที่โครงการโดยมีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 50 คน ได้แก่ ประชาชนชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงโครงการ ผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการ (ครัวเรือนประมง) ผู้นำชุมชนในพื้นที่ และแกนนำทางความคิด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการในส่วนกลางส่วนท้องถิ่นในระดับอำเภอและจังหวัด องค์กรภาคเอกชนที่สนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิประชาชนต่างๆ ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการโรงงาน สถาบันศึกษาและสื่อมวลชน


โดยผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิศวกรรม สำนักวิศวกรรม กรมเจ้าท่า โทรศัพท์ 0-2234-3593
กำลังโหลดความคิดเห็น