เอเอฟพี - ในสภาวะที่ไม่แน่นอนว่าโลกจะแก้ไขปัญหาการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้อย่างไร ทำให้ “นาฬิกาวันสิ้นโลก” (Doomsday Clock) ถูกปรับให้เข้าใกล้เที่ยงคืนขึ้นอีก 1 นาที องค์กรนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ เผย วานนี้(10)
แอลลิสัน แม็คฟาร์แลน ประธานกลุ่มจดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ (Bulletin of Atomic Scientists) ซึ่งประดิษฐ์นาฬิกาเชิงสัญลักษณ์นี้ขึ้นเมื่อปี 1947 เพื่อชี้วัดว่าโลกใกล้ถึงจุดหายนะไปมากเท่าใดแล้ว ระบุว่า “อีกเพียง 5 นาทีก็จะถึงเที่ยงคืน”
องค์กรดังกล่าวซึ่งประกอบด้วย นักวิทยาศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลหลายคน ตัดสินใจปรับเข็มนาฬิกาให้ห่างเที่ยงคืนออกมาอีก 1 นาที เมื่อปี 2010 หลังจาก บารัค โอบามา ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ และมีความหวังว่าทั่วโลกประสานร่วมมือด้านนิวเคลียร์ได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ตัดสินใจเลื่อนเข็มนาฬิกาขึ้นมา 1 นาที วานนี้ (10) ซึ่งเท่ากับจุดที่เคยเป็นเมื่อปี 2007
“เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ความเปลี่ยนแปลงซึ่งเราคาดว่าจะเกิดขึ้นนั้น ไม่เกิดตามที่คาดหมาย และไม่เป็นรูปร่างขึ้นมา” ลอว์เรนซ์ โครสส์ ประธานร่วมของกลุ่มจดหมายข่าว เผย
“และในวันนี้ เรายังเผชิญกับภัยของการสะสมอาวุธนิวเคลียร์, สภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง, ความท้าทายในการแสวงหาพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืนและปลอดภัย และการที่ผู้นำประเทศต่างๆ ยังมองธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก”
เข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกเคยเคลื่อนเข้าใกล้จุดวิกฤตมากที่สุดเมื่อปี 1953 โดยห่างจากเวลาเที่ยงคืนเพียง 2 นาที หลังจากสหรัฐฯและสหภาพโซเวียต ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์แบบความร้อน (ระเบิดไฮโดรเจน) ในระยะเวลาห่างกันเพียง 9 เดือน
เข็มนาฬิกาเคลื่อนห่างจากเที่ยงคืนถึง 17 นาที ในปี 1991 หลังจากสหรัฐฯและสหภาพโซเวียต ทำสนธิสัญญาลดอาวุธทางยุทธศาสตร์ (START) และประกาศจะลดการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ลงทั้ง 2 ฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งด้านนิวเคลียร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น บวกกับการที่ทั่วโลกยังไม่ร่วมมือลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง และแนวโน้มที่คนจะหันหลังให้วิทยาศาสตร์มากขึ้น เมื่อพูดถึงปัญหาระดับโลก เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นาฬิกาวันสิ้นโลกถูกปรับเข้าใกล้จุดวิกฤต
นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ของญี่ปุ่น แสดงให้เห็นความเสี่ยงในการพึ่งพาเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ในพื้นที่ซึ่งเกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง
โรเบิร์ต โซโคโลว์ อาจารย์ด้านวิศวกรรมอากาศยานและเครื่องกลจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน กล่าวถึง “แนวโน้มอันน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯและหลายประเทศ ซึ่งมักมองข้ามความสำคัญของวิทยาศาสตร์ซึ่งอธิบายลักษณะของปัญหา”
“โลกกำลังประสบปัญหาหนัก เพราะคนส่วนมากอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น บนโลกซึ่งมีขนาดจำกัด” เขาเผย
แม้นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้จะใจชื้นเมื่อเห็นกระแสปฏิวัติในโลกอาหรับ, ขบวนการอ็อคคิวพาย ตลอดจนการประท้วงในรัสเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนกำลังแสวงหาสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่พวกเขาบอกว่า อาวุธนิวเคลียร์ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ และสนธิสัญญา START ใหม่ระหว่างสหรัฐฯและรัสเซียก็ไม่ช่วยให้เกิดผลคืบหน้าเท่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดหวัง
“ปัจจุบันยังมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์อยู่กว่า 20,000 หัวทั่วโลก ซึ่งมีอานุภาพพอจะทำลายล้างประชากรได้อีกหลายเท่าตัว... อาวุธเหล่านั้นอาจตกไปอยู่ในมือผู้ก่อการร้ายหรือผู้ใช้ที่มิใช่รัฐก็ได้ ดังนั้น การใช้อาวุธนิวเคลียร์ไม่ว่าจะโดยอุบัติเหตุหรือเจตนาก็ตาม ยังเป็นปัญหาที่ร้ายแรงมาก” จายันธา ธนะพลา อดีตผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติฝ่ายกิจการลดอาวุธ กล่าว