xs
xsm
sm
md
lg

ไอพีซีซีเตือนให้โลกเตรียมรับสภาพอากาศวิปริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อนาคตเราต้องเตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้ายกว่าเดิม (เอเอฟพี)
หลังจากประชุมหารือกันที่แอฟริกานักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศระดับหัวกะทิจากทั่วโลกของไอพีซีได้เตือนให้เตรียมรับสภาพอากาศวิปริตที่กำลังเป็นภัยคุกคาม ซึ่งตอนนี้เราให้ไดเห็นแล้วว่าเกิดทั้งอุบัติภัยในเมืองไทย ภัยแล้งในเท็กซัส ไปจนถึงคลื่นความร้อนที่สร้างความเสียหายให้แก่รัสเซีย และในอนาคตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเจอน้ำท่วมหนักมากกว่าเดิม 4 เท่า

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้เตือนให้โลกเตรียมรับมือกับสภาพอากาศวิปริตที่อันตายและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนมาก่อน ซึ่งเป็นผลเนื่องจากภาวะโลกร้อน โดยเอพีระบุว่าผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางด้านภูมิอากาศระดับหัวกะทิของโลกนั้นกลัวว่า หากไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือแล้ว สภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้วนั้นอาจจะทำลายบางท้องถิ่นและทำให้บางพื้นที่ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้

ทั้งนี้ ไอพีซีซีองค์กรซึ่งได้รับรางวัลโนเบลาขาสันติภาพนี้ได้หยิบยกรายงานพิเศษว่าด้วยเรื่องภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศวิปริตหลังร่วมประชุมที่เมืองกัมปาลา ประเทศอูกานดา ซึ่งเอพีระบุว่าเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ได้ให้พุ่งเป้าไปที่อันตรายของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว อย่างเรื่องคลื่นความร้อน น้ำท่วม ภัยแล้งและพายุ โดนภัยพิบัติเหล่านี้เป็นอันตรายยิ่งกว่าอุณหภูมิโลกเฉลี่ยที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเสียอีก และผู้นำของโลกต้องเตรียมรับมือสภาพอากาศสุดขั้วให้ดีกว่านี้

ตัวอย่างภัยคุกคามจากสภาพอากาศสุดขั้วนั้น รายงานพิเศษได้ทำนายว่า คลื่นความร้อนซึ่งเกิดขึ้น 1 ครั้งในชั่วอายุคนจะร้อนขึ้นและเกิดขึ้นทุกๆ 5 ปีเมื่อถึงกลางศตวรรษนี้ และเมื่อสิ้นสุดศตวรรษนี้จะเกิดถี่ขึ้นเป็นปีละครั้ง และในบางพื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชียนั้นจะกลายเป็นพื้นที่ร้อนสูงเหมือนเตาอบทุกปี

ส่วนพายุฝนหนักๆ ที่ปกติจะเกิดขึ้นทุก 20 ปีนั้นในรายงานก็ระบุว่าจะเกิดถี่ขึ้นอีก โดยในสหรัฐฯ และแคนาดานั้นจะเกิดบ่อยขึ้น 3 เท่าก่อนเปลี่ยนศตวรรษ หากว่าการใช้พลังงานฟอสซิลยังคงในอัตราปัจจุบันนี้อยู่ ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นรายงานทำนยว่าจะเกิดมหาอุทกภัยบ่อยขึ้นกว่าที่เกิดในปัจจุบัน 4 เท่า

“ผมคิดว่านี่เป็นสัญญาณเตือน” เดวิด อีสเตอร์ลิง (David Easterling) หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมเขียนรายงานดังกล่าวและเป็นผู้อำนวยการส่วนการประยุกต์ด้านภูมิอากาศโลกขององค์การมหาสมุทรและบรรยากาศสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) โดยเขาบอกว่าเหตุการณ์อย่างภัยแล้งและอุณหภูมิสูงถึง 38 องศาเซลเซียสที่เกิดขึ้นหลายๆ วันในเท็กซัสและโอกลาโฮมา สหรัฐฯ จนกลายเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดหน้าร้อนนั้นจะรุนแรงขึ้นในอนาคต

“เราจำเป็นต้องวิตก และการตั้งรับของเราจำเป็นต้องเตรียมป้องกันหายนะและลดความเสี่ยงก่อนที่เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น มากกว่าที่จะรอจนกระทั่งเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว และตามเก็บกวาดภายหลัง ความเสี่ยงนั้นได้เพิ่มขึ้นมโหฬารแล้ว” มาเต็น ฟาน อาลสท์ (Maarten van Aalst) ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิอากาศกาชาดสากล (International Red Cross/Red Crescent Climate Centre) และหนึ่งในทีมเขียนรายงานของไอพีซีซีกล่าว

ทางด้าน คริส ฟิล์ด (Chris Field) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) สหรัฐฯ ซึ่งเป็นอีกผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมเขียนรายงานของไอพีซีซีกล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์เองยังไม่แน่ใจนักว่าอับัติภัยจากสภาพอากาศแบบไหนที่จะคุกคามรุนแรงที่สุด เพราะสภาพอากาศที่ทารุณนั้นเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและแหล่งที่ผู้คนอาศัยอยู่ด้วย และความไม่มั่นคงทางสังคมต่อหายนะทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากภูมิอากาศก็เพิ่มขึ้นด้วย

“ชัดเจนว่าการสูญเสียจากหายนะกำลังเพิ่มขึ้น และในแง่การสูญเสียชีวิตนับจากช่วงทศวรรษ 1970 ถึงปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 95%” ฟิล์ดกล่าว โดย ไมเคิล ออพเพนไฮเมอร์ (Michael Oppenheimer) จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ผู้ร่วมเขียนรายงานระบุว่า การสูญเสียนี้มีมูลค่าสูงถึงปีละ 6 ล้านล้านบาทแล้ว

ด้าน โทมัส สต็อคเกอร์ (Thomas Stocker) มหาวิทยาลัยเบิร์น (University of Bern) กล่าวว่า วิทยาศาสตรืที่ก้าวหน้ามากขึ้นทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงการเพิ่มขึ้นเหตุการณ์สภาพอากาศอันเลวร้ายเข้ากับภาวะโลกร้อนได้อย่างมั่นใจขึ้น โดยพวกเขาสามารถประเมินความมั่นใจในหายนะจากภูมิอากาศและคลื่นความร้อนในอนาคตได้แน่นอนขึ้น

ในรายงานระบุว่าคลื่นความร้อนนั้นกำลังเลวร้ายขึ้น ทั้งร้อนขึ้นและกินเวลายาวนานขึ้น และมีโอกาส 2 ใน 3 ที่ฝนตกหนักจะเพิ่มขึ้นทั้งบริเวณเส้นศูนย์สูตรและซีกโลกเหนือ รวมถึงฝนจากพายุหมุนเขตร้อน และรายงานสรุป 29 หน้าของไอพีซีซียังระบุอีกว่า ความรุนแรงของสภาพอากาศนั้นจะเลวร้ายมากถึงขั้นที่บางพื้นที่ต้องจัดให้เป็นพื้นที่ห้ามอาศัย (รายงานฉบับเต็มนั้นจะแล้วเสร็จในอีกหลายเดือนข้างหน้า)

สำหรับพื้นที่ต้องห้ามนั้น ฟาน อาลสต์ระบุว่า มีแนวโน้มเป็นพื้นในประเทศยากจน หรือแม้กระทั่งบางพื้นที่ของประเทศพัฒนาแล้วอย่าง แคนาดา รัสเซีย และกรีนแลนด์นั้นอาจต้องย้ายเมืองเพราะผลกระทบจากสภาพอากาศอันเลวร้ายและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความร้อนเนื่องน้ำมือมนุษย์ รวมถึงเนเธอร์แลนด์ต้องเรียนรู้ในการับมือกับปัญหาสภาพอากาศใหม่ๆ อย่างคลื่นความร้อนด้วย
ภาพพายุ ตาลัส ขณะถล่มญี่ปุ่น (เอเอฟพี/นาซา)
กำลังโหลดความคิดเห็น