xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อนโยบายพลังงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขัดแย้งกับแผนผลิตไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่สำคัญและใหญ่มาก ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับรายจ่ายของเราเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เดี๋ยวเกิดพายุ น้ำท่วม เดี๋ยวแผ่นดินไหว รวมทั้งเป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคมและอื่นๆ อีกมากมายด้วย ผมไม่ได้เขียนเรื่องนี้ให้ดู “เว่อร์” เพียงเพื่อให้ท่านผู้อ่านติดตาม แต่มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

ความจริงบอกว่า เมื่อ 20 ปีก่อน เราใช้พลังงานรวมกันแล้วคิดเป็นเงินเพียง 11% ของรายได้ทั้งประเทศ (หรือจีดีพี) แต่ตัวเลขนี้กลับเพิ่มขึ้นเป็น 18% ในปี 2553 และถ้าเราไม่ทำอะไรเลย อีก 20 ปีข้างหน้ารายจ่ายด้านพลังงานอาจจะเพิ่มเป็น 30-40% แล้วคงจะยุ่งตายแน่

การจะแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องมี “นโยบายพลังงาน” ที่ถูกต้อง และ เป็นไปได้

ผมได้วิจารณ์เชิงไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ไว้หลายเรื่อง ทั้งเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต นโยบายค่าแรง เป็นต้น แต่ในที่นี้ผมขอกล่าวถึง “บางข้อของนโยบายพลังงาน” ซึ่งผมเห็นด้วยว่าเป็นนโยบายที่ดีครับ แต่สงสัยว่ามันจะ “เป็นไปได้หรือ?”

ข้อสงสัยตั้งอยู่บนเหตุผลว่า นโยบายนี้ขัดแย้งกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ พีดีพี 2010 ซึ่งเป็นแผน 20 ปีข้างหน้าที่เขียนโดยข้าราชการประจำและพ่อค้าพลังงานระดับข้ามโลก และขอย้ำว่ามันเป็นถึง “แผนปฏิบัติการ” แล้วนะ ไม่ใช่แค่นามธรรมที่เรียกว่า “นโยบาย” เท่านั้น เรามาทำความเข้าใจกันทีละอย่าง ระหว่างนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์กับแผนพีดีพี 2010

นโยบายพลังงานเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้มี 6 ข้อ โดยข้อที่ 5 เป็นนโยบายพลังงาน และในนโยบายพลังงานนี้ข้อที่ 4 เขียนว่า “3.5.4 ส่งเสริมการผลิต การใช้ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก โดยตั้งเป้าหมายให้สามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างน้อยร้อยละ 25 ภายใน 10 ปี ทั้งนี้ ให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร” (หน้าที่ 25)

ผมได้อ่านนโยบายข้อย่อยนี้อยู่หลายรอบ มีคำที่จะต้องตีความอยู่ 2 คำ คือ “พลังงานทดแทน” และ “พลังงานทางเลือก” ซึ่งทั้งสองคำนี้ได้ถูกหน่วยราชการไทยและบริษัทพลังงานทำให้สับสนมาตลอด เช่น “เอาก๊าซธรรมชาติมาทดแทนน้ำมัน” และถ้าไม่มีอย่างนี้ก็ขอเลือกอีกอย่าง เป็นต้น แทนที่จะเอา “พลังงานหมุนเวียน” (Renewable Energy, คำว่า Renewable แปลว่า งอกใหม่ แทนตัวเองได้) ซึ่งได้แก่พลังงานที่ใช้แล้วไม่มีวันหมด เช่น แสงแดด ลม ชีวมวล และพลังน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น

พลังงานหมุนเวียนเป็นกลุ่มแหล่งพลังงานที่ตรงกันข้ามกับพลังงานฟอสซิลที่ใช้แล้วหมดไป หมดแล้วก็หมดเลย เกิดใหม่ไม่ได้ พร้อมกับทิ้งมลพิษไว้เบื้องหลังทั้งคนรุ่นนี้และยาวนานถึงรุ่นหลัง

ผมไม่ได้ฟังการอภิปรายในสภาฯ จึงไม่ทราบว่านโยบายข้อนี้ เขาหมายถึงอะไรกันแน่ และอภิปรายกันว่าอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตามเมื่อมีข้อความว่า “ให้สามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล” ก็น่าจะทำให้เราเข้าใจได้ว่า “นำพลังงานหมุนเวียนมาแทนพลังงานฟอสซิลให้ได้ร้อยละ 25 ภายใน 10 ปี”

หรือเขาจะ “ศรีธนญชัย” ว่านำ “พลังงานนิวเคลียร์” มา “ทดแทนพลังงานฟอสซิล”

ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีก 2 ประเด็นที่เหลือ คือ ให้ได้ “อย่างน้อยร้อยละ 25 ภายใน 10 ปี” และ “ทั้งนี้ ให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร”

ประเด็นหลังนี้ผมไม่เข้าใจเลยครับว่าเขาหมายถึงอะไร เป็นอุตสาหกรรมพลังงาน หรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี แล้วทำไมจึงเอามาเขียนในข้อนี้ หรือจะเป็นอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน

กลับมาที่ประเด็นเดิมครับ ถ้าผมเข้าใจถูกต้องก็คือ รัฐบาลนี้จะ “นำพลังงานหมุนเวียนมาแทนพลังงานฟอสซิลให้ได้ร้อยละ 25 ภายใน 10 ปี”

คำถามก็คือ “เป็นไปได้ไหม” และสอดคล้องหรือขัดแย้งกับแผนพีดีพี 2010 ที่มีกำหนดการตั้ง 20 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2553-2573

จริงอยู่ ในนโยบายของรัฐบาลข้อนี้เป็นพลังงานโดยรวมซึ่งแบ่งออกได้เป็นสองหมวดใหญ่ๆ คือ หมวดไฟฟ้า (คิดเป็นมูลค่าประมาณ 25% ของพลังงานทั้งหมด) และหมวดน้ำมันและอื่นๆ (คิดเป็น 75%) แต่การจะทำให้นโยบายพลังงานของรัฐบาลข้อนี้สำเร็จได้ คือใช้พลังงานหมุนเวียน 25% ก็ต้อง “รื้อ” แผนพีดีพี 2010 (ซึ่งเป็นแผนเฉพาะกิจการไฟฟ้า) ที่กำหนดว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียนแค่ 6% (ดังตาราง)

ถ้าไม่มีการรื้อแผนพีดีพี 2010 (ที่กำหนดเดิมที่ 6%) แล้ว ทำอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้ภาพรวมพลังงานทั้งหมดไปอยู่ที่ 25% ได้เลย

กระบวนการจัดทำแผนพีดีพี 2010 มีขั้นตอนที่ยาวนาน ซับซ้อน เริ่มต้นที่คณะอนุกรรมการพยากรณ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (แม้จะหลอกๆ ก็ตาม) จนสุดท้ายได้ผ่านมติ ครม.รัฐบาลอภิสิทธิ์

ผู้อยู่เบื้องหลังการจัดทำแผนพีดีพี คือ พ่อค้าถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ (ทั้ง ปตท. และบริษัทต่างชาติ) รวมทั้งกลุ่มล็อบบี้ยิสต์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

แล้วอยู่ๆ จะมาล้มกันได้ง่ายๆ กระนั้นหรือ ไม่น่าจะเป็นไปได้ (ทั้งๆ ที่ผมอยากให้เป็น) หรือว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีพลังเหนือกว่ากลุ่มพ่อค้าเหล่านั้น ก็ไม่น่าจะใช่

หรือว่าเขียนๆ ไปอย่างนั้นเอง ไม่ได้ครุ่นคิดให้ละเอียด คงไม่มีใครมาตรวจสอบ (ซึ่งผมคิดเอาเองว่าถึงตอนนี้ยังไม่มีใครตรวจสอบในประเด็นนี้) หรือทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คนไทยขี้ลืม!

ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร รัฐมนตรีพลังงาน (นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) เคยไปประกาศในเวทีโลกที่เยอรมนี ปี 2547 ว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 8% ภายใน 4 ปี ที่ประชุมยกย่องกันใหญ่เลย ปรากฏว่าจนถึงวันนี้ พลังงานหมุนเวียนในภาคไฟฟ้าไทยยังไม่ถึง 2% เลย

แผนพีดีดีเองก็เถอะ ผิดพลาดมาตลอด ทั้งพยากรณ์ความต้องการเกินจริง ทำให้คนไทยต้องแบกรับภาระที่ไม่จำเป็น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4-5 โรงก็ถูกจับยัดเข้ามาใส่อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย

ผมอยากจะสรุปว่า ไม่ว่านโยบายรัฐบาลและแผนพีดีพีที่ผ่านๆ มาแล้ว มีส่วนที่เหมือนกันสองอย่าง คือ ยัดเยียดและหลอกลวงประชาชนตลอดมา ยิ่งประชาชนไม่สนใจ ยิ่งหวานหมู ขอโทษด้วยครับ ถ้าผมทำให้บางท่านรู้สึกเศร้า! อย่าเอาแต่เศร้า อย่าเอาแต่นอน ชาวบ้านคนหนึ่งเคยเตือนสติผมไว้อย่างนี้ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น