ศูนย์ข่าวภูเก็ต - อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนระบุผลการดำเนินการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนประสบความสำเร็จสามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 10% ระบุแต่ละปีประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในเรื่องพลังงานไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านล้านบาท
วันนี้ (14 ก.ค.) ที่โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการส่งเสริมการใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบผสมผสาน ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานจัดขึ้นว่า การจัดสัมมนาดังกล่าวเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบผสมผสาน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิล เดิมนั้นผู้ประกอบการจะใช้ไฟฟ้า หรือเครื่องปั่นไฟในการทำน้ำร้อน ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
ดังนั้น ทางกรมฯ จึงเข้ามาสนับสนุนเรื่องของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสานโดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 โดยให้การสนับสนุนการลงทุนการใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ 30% ในการติดตั้งอุปกรณ์ซึ่งขณะนี้มีสถานประกอบการต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมแล้วเกือบ 100 แห่งโดยโครงการดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 2 ปี ก็คุ้มทุน
อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 นี้ทางกรมมีงบประมาณในการดำเนินการ 10,000 ตารางเมตร ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อขอเข้าร่วมโครงการได้ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวจะเกิดผลประโยชน์มหาศาลต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงานน้ำมัน หรือไฟฟ้า ซึ่งในการดำเนินการนั้นทางกระทรวงพลังงานตั้งเป้าที่จะเข้าไปส่งเสริมผู้ประกอบการให้ดำเนินการให้ได้ 300,000 ตารางเมตรภายในปี 2565
นายไกรฤทธิ์ยังได้กล่าวถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในภาพรวมด้วยว่า จากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องของการใช้พลังทดแทนจากแสงอาทิตย์ พลังงานทดแทนจากลม ชีวภาพและชีวมวล ซึ่งแต่ละพลังงานสามารถดำเนินการได้ตามเป้าที่วางไว้โดยในปี 2554 ทางกรมพลังงานตั้งเป้าที่จะลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลให้ได้ประมาณ 12%
โดยขณะนี้สามารถทำได้แล้วประมาณ 10% ซึ่งในส่วนที่ยังดำเนินการไม่ได้ตามเป้านั้นเป็นเรื่องของการใช้พลังงานลมเนื่องจากการเข้าไปติดตั้งกันหันลมยังไม่สามารถทำได้ในหลายจุดเพราะเป็นพื้นที่ป่า แต่เชื่อว่าหลังจากนี้การดำเนินการจะมีความก้าวหน้าต่อไป ส่วนเรื่องของพลังงานทดแทนจากชีวมวลก็ยังมีปัญหาเนื่องจากมีวัตถุดิบไม่เพียงพอ
นายไกรฤทธิ์กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินโครงการใช้พลังงานทดแทนแบบครบวงจรนั้นทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายและคดการใช้พลังงานไปได้จำนวนมากซึ่งในปี 2554 นั้นสามารถลดการใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายไปได้แล้วประมาณ 10% ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพลังงานต่างๆประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท แต่เมื่อมีการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้ประมาณ 10% ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หรือประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท
ส่วนเรื่องการส่งเสริมและผลักดันให้เกาะราชาจังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะนำร่องในการใช้พลังงานแบบผสมผสานนั้น นายไกรฤทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการและจัดทำแผนงานเพื่อกำหนดรูปแบบการใช้พลังงานบนเกาะว่าจะออกมาในรูปแบบใดรวมทั้งเรื่องของการลงทุนพัฒนาระบบคาดว่าในเร็วนี้จะทราบผลการศึกษาเรื่องของแผนงานโครงการ