xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ตเดินหน้าดันใช้พลังงานทดแทนบนเกาะราชาใหญ่-เกาะโหลน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ภูเก็ตเดินหน้านำพลังงานทดแทนใช้บนเกาะราชา-เกาะโหลน ร่วมโครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน หวังลดการใช้พลังงานฟอสซิลดึง Esco Fund ร่วมลงทุนที่เกาะราชา พร้อมของบ 18 ล้านจากกระทรวงพลังงาน และกองทุนสวีเดนทำระบบพลังงานทดแทนบนเกาะโหลน

นายจิรศักดิ์ ธรรมเวช พลังงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการนำพลังงานทดแทนไปใช้บนเกาะราชาใหญ่ และเกาะโหลน ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลว่า ขณะนี้การดำเนินโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าไปมากแล้วล่าสุดนาย ทวรัตน์ สูตบุตร รองอธิบดีกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกองทุน Esco Fund หรือมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมได้เดินทางมาร่วมประชุมกับผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่เกาะราชาใหญ่จำนวน 7 แห่ง เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการลดใช้พลังงานจากฟอสซิล ตามโครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน

ทั้งนี้ ในแต่ละเดือนผู้ประกอบการบนเกาะราชาที่มีทั้งโรงแรมขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก รีสอร์ต และบังกะโลต้องใช้น้ำมันในการปั่นไฟประมาณ 1 แสนบาท และนับวันแนวโน้มราคาน้ำมันก็สูงขึ้นจึงจำเป็นที่จะต้องหาพลังงานทดแทนเข้ามาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน สำหรับจังหวัดภูเก็ตนั้นเป็นจังหวัดที่มีความเหมาะสมเรื่องของการใช้พลังงานทดแทน และกระทรวงพลังงานจะเริ่มการใช้พลังงานทดแทนที่เกาะราชาใหญ่ โดยให้ผู้ประกอบการบนเกาะปรับเปลี่ยนการผลิตกระแสไฟฟ้า จากเดิมที่ใช้น้ำมันหันมาใช้พลังงานทดแทนรูปแบบอื่นซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 30-40% ต่อปี

จากการหารือร่วมกัน Esco Fund เสนอเรื่องของเงินกู้ในการลงทุนเรื่องของพลังงานทดแทนให้แก่ผู้ประกอบการบนเกาะราชาซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดี แต่ยังไม่ได้คุยในเรื่องของรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการ ว่าจะเป็นแบบใดในเรื่องของการลงทุน ซึ่งเร็วๆนี้มูลนิธิจะลงมาเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดทั้งหมด เพื่อดูความเหมาะสมของการใช้พลังงานทดแทนบนเกาะราชา ว่าควรจะออกมาในรูปแบบใดทั้งเรื่องของพลังงานลม แสงอาทิตย์ และน้ำ

จากการเก็บข้อมูลในเบื้องต้นพบว่ามีความเหมาะสมมาก เนื่องจากเกาะราชาเป็นเกาะที่อยู่กลางทะเลสามารถรับลมได้ตลอด นอกจากนั้นยังมีเรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์ และการผลิตไบโอแก๊สจากกากอาหารที่มีอยู่จำนวนมาก และหลังจากนี้ประมาณ 2 เดือนจะนำข้อมูลทั้งหมดมาสรุปอีกครั้ง รวมทั้งเรื่องของรูปแบบการลงทุนว่าจะควรจะทำแบบใด

นายจิรศักดิ์ยังได้กล่าวถึงการดำเนินโครงการใช้พลังงานทดแทนบนเกาะโหลนว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเสนอของบประมาณซึ่งจะดำเนินการในรูปแบบผสมผสานทั้งเรื่องของพลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานจากน้ำมันดีเซล และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยจะใช้งบประมาณในการดำเนินการประมาณ 18 ล้านบาท

ขณะนี้ทำเรื่องของบประมาณไปยัง 2 หน่วยงาน คือ ขอสนับสนุนผ่านกระทรวงพลังงาน และขอสนับสนุนผ่านทางกองทุนสวีเดน ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ

สำหรับเกาะโหลน เป็นเกาะที่อยู่นอกเขตพื้นที่การบริการไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่อยู่ห่างจากฝั่งของเมืองภูเก็ตประมาณ 5 กิโลเมตร มีประชากรอยู่ประมาณ 100 ครัวเรือน มี 1โรงเรียน 1 สถานีอนามัย และประชากรส่วนใหญ่ทำอาชีพประมง ทำสวนยาง และบริการนักท่องเที่ยว เกาะโหลนมีแหล่งน้ำจืดของตนเอง ทำให้ประชากรส่วนใหญ่จึงอยู่รวมกันเป็นกลุ่มที่มีรัศมีในการอยู่ด้วยกันไม่เกิน 2 กิโลเมตร ในปัจจุบันการใช้ไฟฟ้านั้นใช้เครื่องยนต์ดีเซลในการเดินระบบ ซึ่งชาวบ้านต้องจ่ายไฟฟ้าเดือนละ 2,000 บาทสามารถใช้ไฟฟ้าได้เพียงวันละ 2-3 ชั่วโมง

จากการสำรวจพบว่า เกาะโหลนมีศักยภาพทางด้านพลังงานลมเป็นอย่างดี เพราะเป็นเกาะที่มีพื้นราบรับลมได้ทั้งสองทิศทางและมีการบริการทางการเดินสายส่งไฟฟ้าได้ง่าย เนื่องจากการรวมกันอยู่เป็นกลุ่มก้อนของประชาชนบนเกาะ

หลักการในเบื้องต้นจากการสำรวจ เกาะโหลนสามารถดำเนินการจ่ายพลังงานทดแทนขนาด 100 กิโลวัตต์ได้โดยการทำงานแบบผสมผสานกันระหว่างพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานจากเครื่องยนต์ดีเซล โดยพลังงานทุกระบบทำงานแปรผันการตามภาระโหลดเข้าด้วยกัน เก็บพลังงานทั้งหมดอยู่ในรูปแบบการควบคุมจากระบบแบ่งจ่ายกระแสการทำงานอย่างผสมผสาน
กำลังโหลดความคิดเห็น