ตรัง - อุตุนิยมวิทยาและพลังงานจังหวัดตรัง เห็นพ้องต้องกัน ต่อแนวคิดของการนำน้ำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนผลิตกระแสไฟฟ้า หลังพบจังหวัดมีแหล่งน้ำขนาดเล็กที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 39 สายน้ำ
นายวุฒิชัย สกาวสุวรรณ หัวหน้าสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดตรัง กล่าวว่า เมื่อมองดูสภาพภูมิอากาศของจังหวัดตรังในแต่ละปีจะเห็นว่า ในช่วงหน้าฝนมีปริมาณฝนตกลงมาเป็นจำนวนมากจนบางครั้งถึงขั้นเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ต่างๆ แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถนำน้ำเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้ กลับต้องปล่อยให้ไหลทิ้งไปเป็นปริมาณมากมาย จึงอยากจะเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้คิดค้นนำพลังงานน้ำมาใช้ประโยชน์ เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งน่าจะดีกว่าพลังงานอย่างอื่น เช่น พลังงานลม เพราะพลังงานน้ำสามารถนำมาใช้ได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ต่างจากพลังงานลมที่นำมาใช้ได้แค่บางช่วงเท่านั้น
นายอำนาจ บุญคง พลังงานจังหวัดตรัง กล่าวว่า จากการที่สำนักงานพลังงานจังหวัดตรัง ได้ทำการศึกษาศักยภาพเกี่ยวกับพลังงานทดแทนพบว่า ในจังหวัดมีแหล่งน้ำขนาดเล็กที่สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำได้ถึง 39 สายน้ำ โดยให้ชุมชนในท้องถิ่นเป็นผู้ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้า และให้ชุมชนหรือท้องถิ่นช่วยกันบริหารจัดการ
หลังจากนั้น สำนักงานพลังงานจึงได้นำข้อมูลดังกล่าว เสนอไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการประสานงานไปยัง 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย อบจ.ฝ่ายองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และฝ่ายสำนักงานพลังงาน เพื่อให้โครงการนี้สามารถขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมได้
สำหรับแนวคิดในการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำโดยชุมชน เกิดขึ้นมาจากการที่กระทรวงพลังงานประสบปัญหาในเรื่องของงบประมาณ และได้รับงบน้อยที่สุดในบรรดา 20 กระทรวง จึงมีการปรึกษาหารือกับทั้ง 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า ควรจะดำเนินโครงการขึ้นโดยชุมชนเอง เพราะหลายแห่งก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องรองบประมาณจากกระทรวงพลังงาน จึงเป็นที่มาของการลงไปสำรวจความเป็นไปได้ในพื้นที่ต่างๆ ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด และโรงไฟฟ้าลำปลอก อำเภอปะเหลียน เพื่อหาข้อมูลว่า มีสายน้ำใดบ้างที่เหมาะสมในการนำมาผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ โดยไม่สร้างปัญหาหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการก็คงมาจากทั้ง 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงพลังงานอาจจะของบประมาณมาจากกองทุนส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับงบประมาณจาก อบจ.ตรัง และจาก อบต.พื้นที่ ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2554 สำนักงานพลังงานจังหวัดตรัง ก็จะรับเป็นเจ้าภาพในการนำเสนอโครงการนี้ไปยังหน่วยงานต่างๆ ก่อนที่จะร่วมกันทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOU อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรต่อไป ด้วยแนวคิดในการบริหารจัดการโดยชุมชนท้องถิ่น และ อบต.ท้องที่ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้ใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด ซึ่งคาดว่าโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำดังกล่าวจะใช้งบประมาณแห่งละ 10 ล้านบาท