xs
xsm
sm
md
lg

คนอุบลฯจัดเวทีเสวนาประเด็นร้อน “ทำไมไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการมูลนิธินโยบายสุขภาพ
อุบลราชธานี- นักวิชาการพลังงานทางเลือกเปิดเวที แจงผลเสียโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ระบุไทยยังมีพลังงานลม แสงอาทิตย์ และน้ำเกินความต้องการ รวมทั้งที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อุบลราชธานีไม่เหมาะสม ทั้งแหล่งน้ำและความมั่นคงของประเทศ

วันนี้ (8 เม.ย.) กลุ่มเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ.อุบลราชธานี จัดเวทีเสวนาให้ความรู้เรื่องหลังงานทางเลือกและทำไมไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเชิญนักวิชาการที่ศึกษาด้านพลังงานในประเทศไทย คือ นายศุภกิจ นันทะวรวการ ตัวแทนมูลนิธินโยบายสุขภาพวะ นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ ตัวแทนกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต

ทั้งนี้ มีตัวแทนชุมชนจากทั่วจังหวัดร่วมรับฟัง เพื่อนำความรู้ไปเผยแพร่ และกำหนดกระบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานี

นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการมูลนิธินโยบายสุขภาพวะกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกระทรวงพลังงาน ที่ยังพยายามผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ จ.อุบลราชธานี แม้รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ยุติเป็นการชั่วคราว เพราะยังเป็นนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ต้องการหาพลังงานสำรอง และต้องการงบประมาณเพิ่มเติมจากที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ได้อนุมัติงบประมาณใช้ศึกษาประชาสัมพันธ์จำนวน 1,500 ล้านบาท ขณะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และงบประมาณจำนวนนี้ได้หมดลงตั้งแต่ปี 2553

นักวิชาการผู้นี้ยังให้ความเห็นอีกว่า สำหรับที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะมาสร้างใน จ.อุบลราชธานี ไม่มีความเหมาะสม ทั้งด้านความมั่นคงและแหล่งน้ำใช้หล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ปรมาณู โดยด้านความมั่นคงตั้งอยู่ใกล้ชายแดนลาวมากเกินไป การดำเนินการใดๆต้องดูท่าทีจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนด้านแหล่งน้ำจะเกิดการแย่งน้ำในภาคเกษตรกรรมกับโรงไฟฟ้า

แม่น้ำมูลคงไม่มีน้ำเพียงพอตอบสนองความต้องการให้คนทั้งสองกลุ่มได้ จึงเป็นการสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในพื้นที่ระยะยาว

นายศุภกิจ ให้ความเห็นต่อทางเลือกในการจัดหาพลังงานของประเทศไทยว่า ประเทศไทยยังมีทางเลือกใช้พลังงานอื่นอาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 พลังงานมีเอกชนเข้าดำเนินการและสามารถป้อนไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้แล้วกว่า 1,000 เมกะวัตต์ และเอกชน ยังมีการลงทุนสร้างพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง การสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย จึงไม่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

กำลังโหลดความคิดเห็น