อุบลราชธานี-เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เมืองดอกบัว บุกโรงแรมจี้ “วรรณรัตน์ ชาญนุกูล” รมว.พลังงานล้มโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ด้าน รมว.พลังงานรับเป็นเพียงการศึกษาความเป็นไปได้ ยังไม่มีโครงการสร้างแต่อย่างใด ระบุขณะนี้ ไทยมีทางเลือกใช้พลังงานด้านอื่นอีกมาก โดยเฉพาะพลังงานสะอาดที่มีผู้สนใจลงทุนเกินเป้าที่รัฐตั้งไว้
วานนี้ (21 มี.ค.) ที่โรงแรมลายทอง จ.อุบลราชธานี นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.กระทรวงพลังงาน บรรยายพิเศษเรื่องบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ประจำเขต 5 ที่ให้บริการประชาชนในการออกใบอนุญาต การให้คำปรึกษาปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการด้านพลังงานไฟฟ้า ในพื้นที่ 8 จังหวัดอีสานใต้ ประกอบด้วย ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และอุบลราชธานี โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและผู้ประกอบการด้านกิจการพลังในเขต 8 จังหวัดร่วมรับฟังหลายร้อยคน
ขณะเดียวกันที่บริเวณหน้าโรงแรมกลุ่มเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประมาณ 100 คน นำโดย น.ส.สดใส สร่างโศก จับกลุ่มถือป้ายประท้วงไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กระทรวงพลังงานมีเป้าหมายจะมาสร้างในพื้นที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าสำรอง หรือพีดีพี 2010 ของกระทรวงพลังงานในอีก 5-6 ปีข้างหน้า
ต่อมา นพ.วรรณรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ลงมารับหนังสือคัดค้านจากกลุ่มผู้ประท้วง พร้อมระบุว่าขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มีแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ที่ผ่านมาเป็นเพียงแผนการศึกษาความเป็นไปได้ แต่เมื่อเกิดเหตุร้ายกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น ทำให้แผนการจัดหาพลังงานด้านนี้ ต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด เพราะการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ยังต้องมีการศึกษาด้านความปลอดภัยอีกมาก
นพ.วรรณรัตน์ระบุต่อไปว่า สำหรับแผนการพัฒนากำลังไฟฟ้าสำรองในประเทศไทยขณะนี้ มีทางเลือกหลายทาง โดยเฉพาะพลังงานทดแทนด้านชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจลงทุนเกินเป้าหมายไปมาก โดยพลังงานแสงอาทิตย์ได้ตั้งเป้าไว้ราว 500 เมกะวัตต์ภายใน 15 ปี แต่ขณะนี้มีผู้เสนอมา 2,900 เมกะวัตต์ ส่วนพลังงานลมตั้งเป้าไว้ 800 เมกะวัตต์ แต่เสนอมาแล้ว 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งพลังงานทางเลือกนี้เป็นพลังงานสะอาด และสามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้ประเทศได้อย่างดี
อย่างไรก็ตาม รมว.พลังงานยังเรียกร้องให้คนไทยเรียนรู้ในการใช้พลังงานอย่างประหยัด และคุ้มค่าที่สุด เพื่อไม่เป็นปัญหากับประเทศในการจัดหากำลังไฟฟ้าสำรองไว้ใช้ต่อไปในอนาคต
ด้าน น.ส.สดใส กล่าวว่า แม้รัฐบาลชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในระยะนี้ไปก่อน แต่แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังคงอยู่ในแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าสำรองในอนาคตต่อไป กลุ่มก็ยังเดินหน้าให้ความรู้เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกด้านหนึ่ง ที่หน่วยงานยังไม่เปิดเผยความจริงให้ประชาชนทราบต่อไปด้วย