xs
xsm
sm
md
lg

คิดใหม่เถอะ...เรื่องเขื่อน!

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ก่อนอื่นขอทบทวนความทรงจำกันสักนิดว่า ตอนต้นฤดูฝนปีนี้หลังจากชาวบ้านจังหวัดแพร่และสุโขทัยต้องประสบกับภาวะน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก จนนำไปสู่การเรียกร้องจากนักการเมืองใหญ่หน้าเดิมๆ ให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ด้วยเหตุผลว่าเพื่อบรรเทาอุทกภัยให้กับชาวบ้าน ซึ่งจากการศึกษาของกรมชลประทานอ้างว่าสามารถลดความรุนแรงของน้ำท่วมได้ 9.6% (ข้อมูลของ วันชัย ตัน)

มาวันนี้เวลาเพิ่งผ่านไปยังไม่ทันข้ามฤดูกาล พบว่าเขื่อนแทบทุกเขื่อนที่มีอยู่แล้วในเขตพื้นที่น้ำท่วมในภาคเหนือ ภาคกลาง ต่างก็ปล่อยน้ำออกมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมมากกว่าและฉับพลันกว่าเดิม

บทความนี้ไม่ต้องการที่จะทำลายกำลังใจในความพยายามแก้ปัญหาของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าไม่พูดถึงในตอนที่กำลังมีปัญหากันอยู่ เดี๋ยวสังคมก็จะลืมกันหมดอีก แล้วพอถึงปีหน้าก็จะมีนักฉวยโอกาสรื้อฟื้นเรื่องเดิมๆ ขึ้นมาให้สังคมปวดหัวเล่นกันอีก

ประเด็นที่ผมอยากจะเสนอในที่นี้ก็คือ การจัดการบริหารน้ำในเขื่อนเมื่อ 40-50 ปีก่อนนั้นง่ายกว่าในปัจจุบันที่สภาพภูมิอากาศของโลกมีลักษณะวิปริตสุดขั้วมากขึ้น กล่าวคือ ในอดีตฝนมักจะตกถูกต้องตามฤดูกาล ดังนั้นการเก็บกักน้ำในเขื่อนเพื่อไว้ใช้ตามวัตถุประสงค์จึงสอดคล้องหรือใกล้เคียงกับความเป็นจริง

แต่ปัจจุบันนี้ เนื่องจาก “ปัญหาโลกร้อน” ทำให้อากาศแปรปรวน เดี๋ยวก็มีพายุ เดี๋ยวก็เกิดแผ่นดินไหว ทั้งรุนแรงและบ่อยขึ้นมากกว่าเดิม เมื่อพายุมากขึ้น รุนแรงขึ้น ปริมาณน้ำฝนก็มากขึ้น แถมยังกระจุกตัวอยู่ในช่วงสั้นๆ ความเสียหายจึงมากกว่าการกระจายตัวอย่างในอดีต

นักวิทยาศาสตร์ทำนายว่า ทุกๆ 1 องศาเซลเซียสที่อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลสูงขึ้น โอกาสที่จะเกิดพายุระดับรุนแรงสูงสุด จะเพิ่มขึ้นปีละ 31% โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนก็มาจากการใช้พลังงานฟอสซิลและปุ๋ยเคมีของมนุษย์นั่นเอง

ในช่วง 43 ปีที่ผ่าน อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้สูงขึ้นแล้ว 0.6 องศาเซลเซียส องค์กรระดับโลกที่มีชื่อย่อว่า IPCC คาดว่าอุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นถึง 1.1 ถึง 6.4 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ แม้ว่าบทความนี้ไม่ได้นำเสนอเรื่องอุณหภูมิของผิวน้ำทะเล แต่เราก็คงจะพอคาดการณ์ได้ว่ามันต้องสูงขึ้นตามโลก
ข้อมูลดังกล่าวได้รับการตอกย้ำจากบริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ (บริษัท CGNU) ที่ได้พยากรณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2608 (อีก 54 ปี) ความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติจะมากกว่ารายได้ประจำปีของคนทั้งโลก

เรื่องแผ่นดินไหวก็เถอะ ในช่วง 12 ปีสุดท้ายมานี้ จำนวนครั้งที่แผ่นดินไหวที่มีระดับเกิน 8 ริกเตอร์ขึ้นไป มากกว่าเมื่อ 30 ปีย้อนไปในอดีตถึง 6 เท่าตัว ผมยกข้อมูลนี้มาก็เพื่อเป็นเหตุผลว่า การบริหารจัดการเรื่องเขื่อนในประเทศไทยเรานั้น ได้ประสบปัญหามากขึ้นทุกปี ทั้งเรื่องการคาดหมายปริมาณน้ำฝนไม่ได้ รวมทั้งการเกิดแผ่นดินไหวก็มีผลต่อการจัดการเขื่อนด้วย

ในอดีตตอนที่เราเริ่มสร้างเขื่อนกันมาก แม้คำว่า “สิ่งแวดล้อม” คนในวงวิชาการและสังคมไทยก็ยังไม่รู้จักเลย จึงไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องมาตำหนิกันเองถึงการสร้างเขื่อนในอดีต แต่ในอนาคตซิ คงยอมกันไม่ได้แล้ว

ขอย้ำอีกครั้งครับว่า ที่กล่าวมาแล้วเป็นเหตุผลเชิงหลักการหรือทฤษฎีว่า การใช้ประโยชน์จากเขื่อนในสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วนั้นยากกว่าในอดีตมาก สิ่งที่เราเคยหวังว่า “เขื่อนช่วยบรรเทาอุกทกภัย” นั้น มาบัดนี้เมื่อสภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนไปอย่างสุดขั้ว กลายเป็นว่า “เขื่อนทำให้น้ำท่วมมากขึ้น” แต่ว่าจะท่วมมากขึ้นกว่าเดิมแค่ไหนก็น่าจะต้องมีการศึกษาอย่างเป็นระบบเช่นเดียวกับที่กรมชลประทานเคยศึกษากับเขื่อนแก่งเสือเต้น ในเมื่อศึกษาว่าบรรเทาได้เท่าใด แล้วทำไมจะศึกษาว่าท่วมเพิ่มขึ้นเท่าใดไม่ได้

ปัญหาอยู่ที่ว่า ผลการศึกษามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่มนุษย์มีประสบการณ์และวิธีคิดในอดีตอาจจะไม่สอดคล้องกับสภาพที่เปลี่ยนไป เพราะว่าเราอยู่ใน “โลกที่ซับซ้อน” จนยากที่จะคาดการณ์ได้ ผมขอนำข้อมูลของเขื่อนขนาดใหญ่เพียง 3 เขื่อนเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2554 มาสรุปลงในตารางข้างล่างนี้

ข้อมูลในตารางนี้บอกอะไรเราบ้าง? บอกว่า หนึ่ง อีกประมาณ 3 วัน น้ำจะล้นเขื่อนภูมิพล (ถ้าสถานการณ์เหมือนเดิม) สอง เขื่อนช่วยบรรเทาอุทกภัยไม่ได้ สาม เขื่อนทำให้น้ำท่วมมากขึ้นกว่าเดิมแต่จะมากแค่ไหน กี่เปอร์เซ็นต์ต้องศึกษาให้ละเอียด ไม่ใช่ลืมกันหมด

ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่ผมคิดว่ามีส่วนทำให้สังคมเข้าใจผิด คือข้อมูลที่ว่า “ปีนี้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตถึง 48%”

ข้อมูลดังกล่าวเป็นค่าเฉลี่ยทั้งปี การพิจารณาปัญหาน้ำท่วมต้องใช้ข้อมูลที่มีความละเอียดมากกว่านี้ ทั้งต้องจำแนกตามลุ่มน้ำและการกระจายตัวรายวันของฝนด้วย การบอกแต่ค่าเฉลี่ยทั้งปีนอกจากจะเป็นการโยนความรับผิดชอบออกจากตัวเองแล้วยังใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้

จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ชื่อว่า “ปริมาณฝนและสภาวะอากาศฤดูฝน 2554” พบว่า ในช่วงวันที่ 1-31 สิงหาคม 2554 (ข้อมูลล่าสุดที่เขาสรุป-น่าจะทำให้ทันสมัยกว่านี้!) ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี อยู่ 26% และ 18% ตามลำดับ เท่านั้น ไม่ได้มากถึง 48% แบบเหมารวมทั้งปี ฝนที่ตกในช่วงก่อนหน้านี้แล้วนานๆ ไม่น่าจะมีผลต่อการทำให้เกิดน้ำท่วมในเดือนกันยายนหรือตุลาคมหรอก

นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปริมาณฝนมีมากกว่าค่าเฉลี่ยถึงกว่า 300% ดังนั้นผมเข้าใจว่าปริมาณฝนในช่วงนี้ไม่น่าจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตมากนัก แต่ทำไมน้ำจึงได้ท่วมมากกว่าเดิมจัง

จึงขอเสนอว่าน่าจะต้องมีการทบทวนเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเขื่อนในอนาคตให้ละเอียดและเป็นระบบ คิดใหม่เถอะครับ!
กำลังโหลดความคิดเห็น