เอเอฟพี - นักวิทยาศาสตร์ ระบุ วานนี้ (4 มี.ค.) ว่า แผนการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าตามแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงที่เป็นแม่น้ำที่มีความยาวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อผู้คนหลายล้านคนที่ใช้ชีวิตพึ่งพากับการทำประมงจากแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้
ความสนใจจำนวนมากมุ่งไปยังแผนการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ 11 แห่ง ตามแนวแม่น้ำโขงสายหลักที่มีความยาว 4,600 กม.ผ่านจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และ เวียดนาม และในเดือนธ.ค.2554 รัฐมนตรีจากกัมพูชา ไทย เวียดนาม และลาว ได้เลื่อนการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี มูลค่า 3,800 ล้านดอลลาร์ ที่เป็นเขื่อนแห่งแรกของความพยายามทั้งหมดด้วยเหตุผลที่ว่าจำเป็นต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความกังวลใจของบรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
แต่การศึกษาระหว่างประเทศที่ตีพิมพ์ลงในวารสารโพรซีดิงส์ออฟเดอะเนชันนัลอะคาเดมีออฟไซน์ (Proceedings of the National Academy of Sciences) หรือพีเอ็นเอเอส (PNAS) ตรวจพบผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาขาขนาดเล็กหลายสิบสาย และเตือนถึงผลเสียอย่างใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“เราพบว่า การสร้างเขื่อน 78 แห่ง บนแม่น้ำสาขาจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการขยายพันธุ์ของปลาและความหลากหลายทางชีวภาพ” การศึกษาระบุ
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกัมพูชา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ระบุว่า ผลการวิเคราะห์พบว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนหลายแห่งอาจขัดขวางการย้ายถิ่นของปลาจำนวนมากกว่า 100 ชนิด ที่จะว่ายไปยังต้นน้ำ ส่งผลให้สูญเสียความหลากหลายของปลาจำนวนปลา ซึ่งประชาชนหลายสิบล้านคนในพื้นที่ชนบทและยากจนในภูมิภาคพึ่งพาปลาเหล่านี้เป็นแหล่งโปรตีนหลัก
“เราพบว่ากำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสูงมากระหว่างการผลิตพลังงานและผลกระทบต่ออาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ” กาย ซิฟ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าว พร้อมระบุว่านักวิจัยมุ่งประเด็นไปที่แผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาขา 27 แห่ง จากทั้งหมด 78 แห่ง โดยเขื่อน 27 แห่งที่ศึกษานี้มีกำหนดก่อสร้างในช่วงระหว่างปี 2558-2573
“ผลกระทบทั้งหมดจากเขื่อนเหล่านี้ใหญ่หลวงกว่าเขื่อนที่สร้างบนแม่น้ำสายหลักที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติแล้ว และผู้ที่ได้รับประโยชน์คือประเทศลาว ที่การผลิตพลังงานส่วนใหญ่จะถูกส่งออกไปไทยและเวียดนาม ขณะที่ผลกระทบเรื่องสูญเสียสัดส่วนส่วนมากในการจับปลาจะตกไปที่กัมพูชาและบางส่วนของเวียดนาม” ซิฟ กล่าว
รายงานระบุว่า เฉพาะในพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงของกัมพูชาและเวียดนามสามารถจับปลาน้ำจืดได้เป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านตันต่อปี และทั้งลุ่มแม่น้ำโขงเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนกว่า 65 ล้านคน โดยประมาณ 2 ใน 3 ของประชากรจำนวนดังกล่าวอาศัยการจับปลาในการดำรงชีวิต
นักวิจัยสามารถระบุ สายพันธุ์ปลาที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงได้ทั้งหมด 877 สายพันธุ์ และมีปลา 103 สายพันธุ์ที่อาจถูกเขื่อนไฟฟ้าขวางการอพยพยขึ้นต้นน้ำเพื่อขยายพันธุ์
รายงานระบุว่า เฉพาะเขื่อน 4 แห่งที่วางแผนก่อสร้างพบว่าจะก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสิ่งมีชีวิตเป็นจำนวนมาก เช่น เขื่อนเซซาน 2 (ล่าง) ในกัมพูชา คาดว่าจะทำให้จำนวนปลาในแหล่งน้ำลดลง 9.3% และเขื่อนอีก 3 แห่งในลาว คือ เขื่อนเซกองทำให้จำนวนปลาลดลง 2.3% เขื่อนเซกอง 3 ลดลง 0.9% และเขื่อนเซกอง 4 ลดลง 0.75%
แม้จำนวนเปอร์เซ็นต์ที่ลดลงดูน้อย แต่ตัวเลขเหล่านี้จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในชุมชนที่อาศัยปลาเพื่อความอยู่รอด เพราะเพียงแค่ 1% ที่ปลาหายไปจากแหล่งน้ำ อาจเทียบเท่าได้กับการสูญเสียอาหารไปถึง 10,000 ตัน
อย่างไรก็ตาม การศึกษาระบุว่า เขื่อนตามแม่น้ำสาขาอยู่ภายใต้การจัดการตามกฎหมายของแต่ละประเทศและไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากนานาชาติ แม้ว่าการก่อสร้างเขื่อนเหล่านี้อาจส่งผลกระทบข้ามแดนต่อปลาในน่านน้ำของประเทศอื่นๆ ก็ตาม