xs
xsm
sm
md
lg

เตือนแข่งกันสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า กระทบจำนวนปลาในแม่น้ำโขง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - แผนการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำตามสาขาต่างๆ ของแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีความยาวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อผู้คนหลายล้านคนที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาแหล่งประมงน้ำจืดแห่งใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ ทั้งนี้ตามรายงานการศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการฉบับสำคัญ และนำออกเผยแพร่ในวันจันทร์ (5) ที่ผ่านมา

เวลานี้กำลังเกิดความสนใจกันมากเกี่ยวกับแผนการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จำนวน 11 แห่ง ตามแนวแม่น้ำโขงสายหลักที่มีความยาว 4,600 กม. ผ่านจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม โดยที่ในเดือนธ.ค. ปีที่แล้ว ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของกัมพูชา ไทย เวียดนาม และลาว ได้มีมติขอให้ลาวเลื่อนการตัดสินใจก่อสร้างเขื่อนแห่งแรกในบรรดาเขื่อนเหล่านี้ อันได้แก่เขื่อนไซยะบุรี มูลค่า 3,800 ล้านดอลลาร์ ด้วยเหตุผลที่ว่าจำเป็นต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความกังวลใจของบรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

แต่ผลการศึกษาวิจัยระหว่างประเทศ ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารโพรซีดิงส์ออฟเดอะเนชันแนลอะคาเดมีออฟไซน์ (Proceedings of the National Academy of Sciences) หรือพีเอ็นเอเอส (PNAS) ของสหรัฐฯ ได้ทำการตรวจสอบผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาขาหลายสิบสายของแม่น้ำโขง และเตือนถึง “ความหายนะ” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

"เราพบว่าการสร้างเขื่อน 78 แห่ง บนแม่น้ำสาขาเหล่านี้ ซึ่งยังไม่เคยได้รับการศึกษาวิเคราะห์ในเชิงยุทธศาสตร์มาก่อนเลย จะส่งผลกระทบในระดับหายนะต่อการขยายพันธุ์ของปลาและความหลากหลายทางชีวภาพ" การศึกษาชิ้นนี้ระบุ

คณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกัมพูชา, มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด, และมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ซึ่งร่วมกันศึกษาเรื่องนี้บอกว่า ผลการวิเคราะห์พบว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนหลายแห่งอาจขัดขวางการอพยพย้ายถิ่นของปลาจำนวนมากกว่า 100 ชนิด ที่จะว่ายไปยังต้นน้ำ ส่งผลให้สูญเสียอย่างมหาศาลทั้งด้านความหลากหลายของปลาและจำนวนปลา โดยที่ประชาชนหลายสิบล้านคนในพื้นที่ชนบทและยากจนในภูมิภาคต่างต้องพึ่งพาปลาเหล่านี้เป็นแหล่งโปรตีนหลัก

"เราพบว่ากำลังจะต้องมีการแลกกันอย่างเด็ดขาดชัดเจน ระหว่างการผลิตพลังงาน กับการสร้างผลกระทบต่ออาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ" กาย ซิฟ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าว พร้อมระบุว่าการวิจัยของพวกเขามุ่งเน้นไปที่แผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาขา 27 แห่ง จากทั้งหมด 78 แห่ง เนื่องจากเขื่อนทั้ง 27 แห่งมีกำหนดก่อสร้างในช่วงระหว่างปี 2015-2030 แล้ว ขณะที่เขื่อนอื่นๆ ยังไม่มีความแน่นอน

"ผลกระทบโดยรวมจากเขื่อนเหล่านี้ใหญ่หลวงกว่าเขื่อนที่สร้างบนแม่น้ำสายหลักบางแห่งที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติอยู่ในขณะนี้เสียอีก” ซิฟ กล่าว

“ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการผลิตพลังงานคือประเทศลาว โดยที่พลังงานส่วนใหญ่ซึ่งผลิตได้จะถูกส่งออกไปไทยและเวียดนาม ขณะที่ผลกระทบจะจะตกอยู่กับกัมพูชา ตลอดจนเวียดนามเป็นบางส่วน โดยที่พวกเขากำลังสูญเสียสัดส่วนปริมาณปลาที่สามารถจับได้"

รายงานการศึกษานี้ระบุว่า เฉพาะในพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงของกัมพูชาและเวียดนามในแต่ละปีสามารถจับปลาน้ำจืดได้เป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านตัน และลุ่มแม่น้ำโขงตลอดลุ่มน้ำเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนกว่า 65 ล้านคน โดยประมาณ 2 ใน 3 ของประชากรจำนวนดังกล่าวอาศัยการจับปลาในการดำรงชีวิต

นักวิจัยเหล่านี้ยสามารถระบุสายพันธุ์ปลาที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงได้ทั้งหมด 877 สายพันธุ์ โดยที่มีปลา 103 สายพันธุ์ที่อาจถูกเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขวางการอพยพยขึ้นต้นน้ำเพื่อขยายพันธุ์

รายงานระบุเจาะจงถึงเขื่อนที่วางแผนก่อสร้างจำนวน 4 แห่ง ว่าจะก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสิ่งมีชีวิตเป็นจำนวนมากที่สุด ได้แก่ เขื่อนเซซาน 2 (ล่าง) ในกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะทำให้จำนวนปลาในแหล่งน้ำลดลง 9.3% และอีก 3 เขื่อนในลาว คือ เขื่อนเซกอง 3 ดี ซึ่งทำให้จำนวนปลาลดลง 2.3% เขื่อนเซกอง 3 ยู จะลดลง 0.9% และเขื่อนเซกอง 4 จะลดลง 0.75%

ซีฟอธิบายว่า แม้จำนวนเปอร์เซ็นต์ที่ลดลงดูน้อย แต่ปริมาณจริงๆ จะสูงมากสำหรับชุมชนที่อาศัยปลาเพื่อความอยู่รอด เพราะเพียงแค่ 1% ที่ปลาหายไปจากแหล่งน้ำ อาจเทียบเท่าได้กับการสูญเสียอาหารไปถึง 10,000 ตัน

การศึกษาระบุว่า การสร้างเขื่อนตามแม่น้ำสาขา อยู่ใต้การบังคับของกฎหมายของแต่ละประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากนานาชาติ แม้ว่าการก่อสร้างเขื่อนเหล่านี้อาจส่งผลกระทบข้ามแดนต่อปลาในน่านน้ำของประเทศอื่นๆ ก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น