ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “หาดใหญ่โพล” สำรวจความเห็นชาวสงขลาต่อความเชื่อมั่น และผลกระทบหลังคาร์บอมบ์กลางเมืองหาดใหญ่ เผยคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” เกือบ 3 ใน 4 ยินดีกับการจัด “มิดไนท์สงกรานต์” ในปีนี้ และพร้อมรับการตรวจเข้ม แต่มีเพียง 1 ใน 4 ที่จะไปร่วม อีกทั้งเกินกว่าครึ่งก็ยังไม่มั่นใจมาตรการ รปภ.
หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดสงขลาเกี่ยวกับ “ความเชื่อมั่นและผลกระทบหลังเหตุการณ์คาร์บอมบ์หาดใหญ่” โดยเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชน 1,003 ตัวอย่าง และใช้แบบสำรวจเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 5-10 เม.ย.2555 สรุปผลการสำรวจได้ดังนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 57.9 อายุระหว่าง 21-30 ปี ร้อยละ 44.0 รองลงมามีอายุระหว่าง 31-40 ปี ร้อยละ 23.3 และอายุ 18-20 ปี ร้อยละ 19.4 ตามลำดับ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 29.3 รองลงมาเป็นพนักงานบริษัท/ลูกจ้าง, ประกอบกิจการส่วนตัว/ค้าขาย, ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และรับจ้างทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 22.7, 19.2, 12.5 และ 9.6 ตามลำดับ
รศ.ทัศนีย์ ประธาน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพลครั้งนี้ว่า ประชาชนในจังหวัดสงขลาส่วนใหญ่ร้อยละ 74.1 เห็นด้วยที่มีการจัดงานมิดไนท์สงกรานต์ 2555 มีเพียงร้อยละ 25.9 ที่ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 77.2 รับได้หากในช่วงสงกรานต์มีการตรวจเข้มงวดในตัวเมืองหาดใหญ่ แต่ร้อยละ 54.8 ไม่มั่นใจต่อมาตรการรักษาความปลอดภัยรอบเมืองหาดใหญ่ มีเพียงร้อยละ 45.2 ที่มั่นใจ
ประชาชนร้อยละ 54.5 ไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในอำเภอหาดใหญ่ มีเพียงร้อยละ 45.5 ที่เห็นด้วย
ประชาชนร้อยละ 51.7 เห็นว่าเหตุการณ์คาร์บอมบ์หาดใหญ่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในระดับมาก และร้อยละ 31.1 เห็นว่าได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง มีเพียงร้อยละ 17.2 ที่เห็นว่าไม่ได้รับผลกระทบเลย และได้รับผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในระดับน้อย
เมื่อสอบถามคนที่เคยร่วมงานมิดไนท์สงกรานต์ พบว่า ประชาชนร้อยละ 47.7 ยังไม่แน่ใจว่าจะไปร่วมงานในครั้งนี้หรือไม่ และร้อยละ 29.1 จะไม่เดินทางไปร่วมเล่นน้ำสงกรานต์ 2555 มีเพียงร้อยละ 23.2 ที่จะไปงานมิดไนท์สงกรานต์แน่นอน
ประชาชนมีความพึงพอใจต่อผลงานการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับปานกลาง โดยมีค่าเฉลี่ย 4.06 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้ม พบว่า ร้อยละ 53.3 คาดว่าแนวโน้มของเหตุการณ์ และปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนเดิม และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น และลดลง คิดเป็นร้อยละ 42.9 และ 3.8 ตามลำดับ