xs
xsm
sm
md
lg

“ป่าแม่วงก์ ในความทรงจำ” (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจาก www.facebook.compages ชมรมนักนิยมธรรมชาติ
ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ตอนที่ 1/3

"หวือๆๆ"

เสียงดังมาจากเบื้องหลัง ด้านหน้าของผมคือนายกั๊ก - กุลพัฒน์ ศรลัมภ์ ช่างภาพนกและสัตว์ป่ามือฉมัง ผู้กำลังชี้มือทำหน้าตื่นเต้นสุดขีด "อาจ้าน! นกเงือกคอแดง!!!"

หวือๆๆ ผมหันกลับไปทันเห็นเงาดำอีกหนึ่ง ร่อนลงมาเกาะบนตอไม้ที่ขึ้นอยู่ริมผา เหนือหลังคาบ้านพักเพียงไม่กี่เมตร ท่ามกลางสายหมอกที่ปลิวมาตามกระแสลมไม่ขาดระยะ ผมยกกล้องส่องทางไกลราคาแพงหูฉี่ที่ตัดใจซื้อมาตั้งแต่สมัยไปเคนย่า แนบเบ้าตาเข้ากับกล้อง ภาพที่ปรากฏคือนกสีดำสองตัว มัวซัวไม่ชัดเพราะไอน้ำในอากาศ

แล้วหมอกก็จางหายไป ชั่วอึดใจนั้น ผมเห็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยเห็นมาก่อน...

...

นกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill) เป็น 1 ใน 12 ของนกเงือกที่พบในเมืองไทย จัดอยู่ในสกุลนกเงือกคอแดง (สกุล Aceros) คำว่า a หมายถึง "ไม่" คำว่า cera หรือ keras หมายถึง "เขาสัตว์" นกเงือกในสกุลนี้ไม่มีโหนกแข็งอยู่บนหัวเหมือนนกเงือกสกุลอื่นๆ

นกเงือกคอแดงพบในเนปาล จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ พม่า ไทย ลาว และเวียดนามตอนเหนือ เป็นนกขนาดใหญ่มาก ความยาว 117 เซนติเมตร เมื่อดูจากระยะไกลจะเห็นร่างกายเป็นสีดำ ปลายหางสีขาว ปากสีเหลือง มีขนสีแดงตามหัว คอ และลำตัวด้านล่าง (ตัวผู้) อาศัยในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา ความสูง 600-1,800 เมตร มักอยู่เป็นคู่หรือฝูงเล็ก 4-5 ตัว เกาะอยู่ในระดับสูงบนต้นไม้ใหญ่

กฎหมายจัดนกเงือกคอแดงเป็นสัตว์คุ้มครอง สถานภาพในเมืองไทยเป็นนกประจำถิ่นหายากมาก พบเฉพาะด้านตะวันตกของประเทศ ตั้งแต่เชียงใหม่ไปจนถึงจังหวัดอุทัยธานี แต่ปัจจุบันมีรายงานเพียงบางแห่ง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตฯทุ่งใหญ่นเรศวร และอุทยานฯแม่วงก์

ข้อมูลสรุปจากหนังสือ "นกในเมืองไทย" โดย รศ.โอภาส ขอบเขตต์ ขอบคุณอาจารย์ครับ แม้อาจารย์จะล่วงลับไปแล้ว แต่ปีนี้ ปีหน้า หรือปีไหนๆ ตลอดชีวิตนักเขียนของผม คงได้รบกวนอาจารย์อีกนาน

...

ต้นปี 2544 ผมหนีไปเที่ยวเมืองใต้ ตะลุยป่าฮาลาบาลาอยู่หลายวัน สวรรค์บันดาลให้ผมได้เห็นนกเงือกหัวแรด ปากย่น ชนหิน กรามช้าง กก และปากดำ หลังจากนั้นมา ผมถึงเข้าใจว่านอกจากปลาและสาว เรายังหลงรักนกเงือกแต่เกลียดเด็กทารก

การไปป่าครั้งนั้น ไม่ใช่การเห็นนกเงือกเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เด็กผมเคยเจอหลายหน แต่แทบทุกครั้งคือนกกกหรือนกเงือกพันธุ์โหลที่เชื่อว่าคุณๆ คงรู้จักดี ช่วงนั้นผมไม่ได้สนใจนกเงือก เพราะใจกำลังแตกสนใจเด็กมัธยมมากกว่า

สำหรับผม นกเงือกเป็นนกตัวใหญ่ดีสีสวยเห็นแล้วชื่นใจ...ก็เท่านั้น ต่อมาได้เห็นนกเงือกกรามช้างบินกันเป็นฝูง ชอบใจครับ แต่ยังไม่ถึงขั้นวางแผนเข้าป่าไปดูนกเงือก เพราะความสนใจเพิ่งเลื่อนระดับจากเด็กมัธยมมาเป็นน้องปีหนึ่ง แถมยังมีงานในทะเลเยอะแยะ จัดทริปไปดูปลาผีเสื้อรู้สึกสนุกกว่า อีกอย่างการเห็นของผมเป็นการเห็นแบบธรรมดา ไม่ได้ไปกับผู้เชี่ยวชาญ จึงไม่มีความรู้อะไรติดตัว ความประทับใจวูบมาแล้วก็วูบไป เหมือนความรักในม่านหมอก

มาระยะหลัง ผมเริ่มเกลียดน้ำเค็ม ดำลงไปเจอโน่น...ยี้ เจอนี่...ย้า เคยเจอมาหมดแล้ว ความตื่นเต้นเริ่มเลือนหาย แถมยังเริ่มสนิทสนมคุ้นเคยกับทีมงานตะลุยป่า แม้สังขารจะไม่ให้ (พุงเป่งเกินไป) แต่ใจรักอยากลองเที่ยวไพรพฤกษ์ดูบ้าง เอาแบบป่าที่รถยนต์เข้าถึง เดินน้อยๆ แต่พองาม

ผมตั้งใจไปเที่ยวเพื่อดูนกครั้งแรกที่อินทนนท์ สองปีมาแล้ว แม้ได้เห็นนกมากหลาย แต่ยังไม่ติดใจเพราะเกือบทั้งหมดตัวเล็กกว่ากำปั้น แถมช่วงนั้นยังบ้าถ่ายภาพ แบกกล้องตัวยาวเท่าบาซูก้า เดินไปเดินมาเหนื่อยชะมัด จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผมตั้งใจไปป่าบาลาเพื่อดูนกเงือกโดยเฉพาะ ครั้งนี้ไม่เน้นภาพ เพราะเพิ่งบรรลุว่าเราเป็นนักเขียน ไม่ใช่ช่างภาพ มัวแต่ถ่ายภาพพอดีไม่มีไอเดียอะไรมาเขียนเรื่อง ผมมีเพื่อนเป็นช่างภาพเยอะแยะ อยากได้ภาพนกตัวไหน ออเดอร์ไปแป๊บเดียวก็ได้ (อย่าว่าแต่นกเลยครับ เสือ สิงห์ กระทิง แรด อยากได้อะไรมีหมด ฮ่าๆๆ เกิดเป็นอาจารย์ธรณ์สบายจริงหนอ)

เมื่อผมไม่ต้องถ่ายภาพ หันมาดูนกอย่างเดียว ความสุขเริ่มเกิด อย่างน้อยก็ไม่เหนื่อยเดินแบกกล้อง มีโอกาสพิจารณาคุณปักษามากกว่าเดิม พอลงไปบาลาก็โป๊ะเชะ เจอนกเงือกบินกันพึ่บพั่บ ทั้งเช้าทั้งเย็นดูได้ดูดีไม่มีเบื่อ พอกลับมากรุงเทพฯ ผมฝันดีเห็นหน้านกเงือก ฝันร้ายเห็นหน้าแฟน อัดอั้นตันใจขึ้นมา ฝนฟ้ากระหน่ำ ไปดำน้ำก็ไม่สนุก ไปทีไรน้ำขุ่นทุกที จึงตัดสินใจว่า เราไปดูนกอีกดีกว่า แต่นกที่มีศักดิ์ศรีสาสมกับสายตาของเรา ต้องเป็นราชาแห่งพงไพร นกเงือกตัวใหญ่เท่านั้น

บรรดานกเงือกทั้งหลายที่ผมยังไม่เคยเจอ เจ้าตัวที่อยากเห็นสุดคือนกเงือกคอแดง เพราะโดนคุณโอภาส เพื่อนรุ่นพี่ผู้เที่ยวด้วยกันมา 30 ปีแล้ว กรอกหูอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ธรณ์...นกเงือกคอแดงนะ อู้ฮู...ตัวมันใหญ่มากเลย กางปีกบินแล้วดังหวือๆๆ คอก็แดงกล่ำเหมือนคนกระดกตอกิลล่า หางก็ข๊าวขาว ยิ่งกว่าซอกแขนของคุณหนูที่เดินอยู่ตรงหน้าเราอีกแน่ะ (ผมมีนัดกับพี่เล็กที่สยามครับ) ผมเดินดูซอกแขนคุณเธอไปพลาง คิดถึงเรื่องนกเงือกไปพลาง คิดถึงภรรยาและบุตรทางบ้านบ้างนิดหน่อย ก่อนตัดสินใจเด็ดขาด ลูกเมียช่างมัน คอแดงสำคัญกว่า

เมื่อนั่งเช็คกับบรรดาผู้รู้เรื่องนกทั้งหลาย แทบทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกัน อยากเห็นคอแดงต้องไป "ช่องเย็น" ฮะอาจารย์ (ผู้รู้อ่อนวัยกว่าผมครับ) แต่อย่าฝันสูงให้มากนะฮะ เดี๋ยวจะรักคุดเหมือนผม หวังต่ำๆ เข้าไว้ ดอกไม้ริมทางคว้ามาก่อน นกกระจิบนกกระจอกอะไรก็ดูๆ เข้าไป บางคนไปช่องเย็นสิบกว่าเที่ยวยังไม่เคยเห็นเจ้าคอแดงเลยฮะ

ช่องเย็น...ชื่อนี้เคยได้ยิน เพราะพี่เล็กพูดถึงเป็นประจำ ผมไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ความว่า ช่องเย็นเป็นชื่อช่องเขาแห่งหนึ่ง ความสูง 1,340 เมตร ถือเป็นจุดสูงสุดบนถนนสายคลองลาน-อุ้มผาง ถนนตัดผ่านป่าตะวันตกที่ปัจจุบันสิ้นสุดที่ช่องเย็น หากอยากไปต่อจากนั้นต้องเดินย่ำต๊อก สภาพถนนหายกลายเป็นป่าปกคลุม เหตุที่ถนนสายนี้ถูกปิดเพราะตัดผ่านผืนป่าตะวันตก ป่าใหญ่ผืนสุดท้ายของเมืองไทย ถ้ายังมีการใช้กันอยู่ มีหวังป่าหายป่าหดหมดแน่นอน (แล้วก่อนทำถนน ทำไมไม่คิด?)

ช่องเย็นอยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานระดับป๋ามีพื้นที่ 894 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดกำแพงเพชร ใครอยากไปต้องขับรถไปที่อุทยานฯแม่วงก์ ก่อนปุเลงๆ ขึ้นเขาอีกเกือบ 30 กิโลเมตร บนช่องเย็นไม่มีไฟฟ้า ไม่มีร้านอาหาร อยากกินอะไรเชิญทำเอง ที่นั่นมีลานกางเต็นท์ แล้วก็มีบ้านพักพออยู่ได้

ผมสำรวจข้อมูลหมดแล้วถึงเริ่มวางแผน ประการแรก...เราไปดูนก ขืนไปกับพี่เล็กสองคน นั่นเป็นความคิดที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่จะดูถูกพี่เล็ก ใครก็ทราบว่าแกเป็นป๋า แต่ชื่อนกที่พี่เล็กบอก กับชื่อนกที่อยู่ในหนังสือ รู้สึกว่ามันจะไม่เคยตรงกันเลย เอะอะก็ปรอดบ้างอีแพร่ดบ้าง พี่เล็กน่ะไปด้วยแน่ แต่เราควรหาใครที่มีความรู้เรื่องนกมากกว่านั้น

อย่างที่บอก ผมเป็นคนที่มีผู้ชายรักธรรมชาติอยู่รอบกายเยอะ แต่ละคนล้วนเป็นเซียน ตั้งแต่ฝึกหัดเซียน (ระดับ 400 ชนิด) โคตรเซียน (650 ชนิด) เซียนเหยียบเซียน (750 ชนิด - เจ้าตัวเลขเหล่านี้หมายถึงจำนวนชนิดของน้องนกที่เซียนเคยเห็นมา) ครั้งนี้ผมจึงเลือกไป 3 เซียน ได้แก่ นายตี๋นิสิตสุดที่รัก เห็นหน้ากันมานานเกือบแปดปีแล้ว เซียนรายที่สองชื่อนายกั๊ก ช่างภาพนกและสัตว์ป่า เซียนรายสุดท้ายคือนายก้อง บารมี ช่างภาพดาวรุ่งฝีมือดีน่าติดตาม

ผมสอบถามจากพี่เล็กผู้เคยไปช่องเย็นมาแล้ว 4 ครั้ง ได้ความว่าบนนั้นหนาวนะธรณ์ ผมดูจากตัวเลขความสูงแล้ว ไม่แปลกอะไรหรอกครับ 1,340 เมตร สูงกว่าภูกระดึงอีกแน่ะ ถึงจะเป็นหน้าฝนแต่อากาศคงเย็น ไม่งั้นเค้าจะตั้งชื่อว่า "ช่องเย็น" ทำไม? เสื้อผ้าที่ต้องเตรียมควรมีเสื้อหนาวติดไปสักตัว แต่อากาศหน้าฝนคงเปียกชื้น เตรียมเสื้อฝนไปด้วยก็ดี อุปกรณ์กำเนิดแสง ประเภทตะเกียง ไฟฉาย เทียนไข ไฟสุมทรวง เอาไปให้ครบถ้วน เตา ตะหลิว และกระทะ พี่เล็กเป็นคนเตรียม ผมไม่เกี่ยว ทีนี้ก็มาถึง "คุ่น"
ตัวคุ่น : ขอบคุณภาพจาก www.universal-signal.com
"คุ่น" หน้าตาเหมือนแมลงหวี่ แต่มีนิสัยเหมือนแวมไพน์ เมื่อคุ่นเจอเรา คุ่นจะบินมาเกาะ ใช้ปากเจาะผิวหนังนุ่มๆ แล้วก็จ๊วบๆๆ ดูดเลือดที่เต็มไปด้วยฮีโมโกลบินสีแดงฉ่ำของเราเข้าไปจนเต็มกระเพาะ ผมลองสังเกตคุ่นที่เกาะหน้านิสิต พบว่าเค้าใช้เวลาดูดเลือดนานกว่ายุงธรรมดาถึง 2 เท่า ที่สำคัญคือคุ่นกัดไม่เจ็บครับ เรียกว่าเราแทบไม่รู้ตัวเลย อย่างนิสิตผู้เป็นคนสาธิตให้ดู คุ่นดูดเลือดจนตัวเป่งก่อนบินจากไป เค้ายังไม่รู้ตัวเลยว่าโดนคุ่นกัด

ผมเหลือบมองขนอันดกดำของตัวเอง นั่นคือเกราะป้องกันคุ่นชั้นแรก คุ่นบินมาเจอขนเราคงส่ายหน้า บินไปหาเนื้อโล่งๆ ของชาวคณะรายอื่น หากมีคุ่นหน้าด้าน ผิวหนังอันหยาบกร้านของผม ผ่านการตากแดดตากลมตากไอเค็มมาหลายพันวัน คงป้องกันคุ่นได้ระดับหนึ่ง ถึงแม้กัดเข้าไป ร่างกายที่ทนทาน เกินมาโดนตัวอะไรกัดก็ไม่เคยแพ้ อย่างดีก็แค่เกาสองสามแกรกคงหาย ผมเลยตัดสินใจไม่เอาตะไคร้หอมติดตัวไป เพราะต้องไปซื้อใหม่ เนื่องจากที่บ้านไม่เคยมีอุปกรณ์อะไรในการป้องกันยุง
ทาก : ขอบคุณภาพจาก www.khaoyaizone.com
จากคุ่นมาถึงทาก เจ้าตัวยึกยือนี้หลายคนเกลียดมาก แต่ผมรู้สึกเฉยๆ ทากกับผมไม่เคยทำบุญทำกรรมร่วมกันมาแต่ชาติปางไหน ตั้งแต่เข้าป่ามาผมเคยถูกทากดูดเลือดแค่หนเดียว แถมครั้งนี้ยังมีพี่เล็กไปด้วย แกเป็นตัวดูดทาก ทั้งป่าต่างมุ่งหน้าหาแกหมด ผมเลยไม่เดือดร้อน ใส่กางเกงเลดูนกสบายดีออก

(โปรดติดตามตอนต่อไป) 
กำลังโหลดความคิดเห็น