xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายละเอียด นสพ.มาเลย์ แฉ “ทักษิณ” ดอดคุยโจรใต้ 18 มี.ค.ก่อนเหตุระเบิดหาดใหญ่-ยะลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนังสือพิมพ์รายวันกวงหัวหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในมาเลเซีย ยืนยัน “ทักษิณ” อ้างตำแหน่งที่ปรึกษา “ยิ่งลักษณ์” บินพบหัวหน้ากลุ่มพูโลเมื่อ 18 มี.ค. ที่โรงแรมใหญ่กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์แต่คว้าน้ำเหลว ก่อนเกิดเหตุระเบิดใหญ่ที่หาดใหญ่-ยะลา 31 มี.ค.
ASTVผู้จัดการ - นสพ.มาเลย์ เผยคำให้สัมภาษณ์ที่สมาชิกปรึกษา ศอ.บต.ไทยยัน “ทักษิณ” อ้างตำแหน่งที่ปรึกษา “ยิ่งลักษณ์” บินพบหัวหน้ากลุ่มพูโล เมื่อ 18 มี.ค.ที่โรงแรมใหญ่กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ แต่คว้าน้ำเหลว ก่อนเกิดเหตุระเบิดใหญ่ที่หาดใหญ่-ยะลา 31 มี.ค.


วันที่ 3 เมษายน 2555 หนังสือพิมพ์รายวันกวงหัว (Kwong Wah) หนังสือพิมพ์ภาษาจีน ที่เผยแพร่ในประเทศมาเลเซีย โดยผู้สื่อข่าวนาม หลี่ เจิ้นเหวย ได้ตีพิมพ์รายงานพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายวางระเบิดใหญ่ในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ จ.ยะลา และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จนทำให้มีผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก

นสพ.กวงหัว อ้างคำให้สัมภาษณ์ของสมาชิกสภาที่ปรึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ระบุชัดเจนว่า ก่อนเกิดเหตุก่อการร้ายดังกล่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องคำพิพากษาจำคุก 2 ปี จากศาลฎีกาแต่หลบหนีการลงโทษ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ชายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบัน ได้เปิดการเจรจากับผู้นำองค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี (พูโล) เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ทว่าประสบความล้มเหลว

สำหรับรายละเอียดของรายงานชิ้นดังกล่าวมีดังนี้

อดีตนายกฯ ทักษิณ บินพบหัวหน้ากลุ่มพูโลที่กัวลาลัมเปอร์ เจรจาสงบศึกเหลว

“เพื่อคลี่คลายการก่อเหตุความไม่สงบจากกองกำลังแบ่งแยกดินแดนมุสลิมทางตอนใต้ของประเทศไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ได้เปิดการเจรจากับผู้นำของขบวนการพูโล เมื่อเดือนมีนาคม ทว่า เนื่องจากจุดยืนของทั้งสองฝั่งที่แตกต่างกัน และข้อจำกัดบางประการ ทำให้การเจรจาล้มเหลว

จากการเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล (สมาชิกสภาที่ปรึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สภาที่ปรึกษา ศอ.บต.) ระบุว่า การเจรจาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ณ โรงแรมแกรนด์ คอนติเนนตัล กัวลาลัมเปอร์ (Hotel Grand Continental Kuala Lumpur) โดย พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าร่วมการเจรจาในนามของ ‘กลุ่มคลังสมองที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีไทย’ ขณะที่ฝ่ายขบวนการพูโลที่ร่วมเจรจา คือ นายฮาซัน ตอยิบผู้นำกลุ่มพูโล

เขากล่าวต่อว่า ในการเจรจาดังกล่าว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ร้องขอพบผู้นำกลุ่มพูโลด้วยตัวเอง โดยหลังจากที่น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ประกาศตนเป็นหนึ่งที่สมาชิกของกลุ่มคลังสมองที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีไทย และว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ใช้สถานะในการเป็นที่ปรึกษาช่วยประคับประคองอำนาจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งการคลี่คลายสถานการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของการรักษาอำนาจดังกล่าว

‘ทว่า เนื่องจากกองกำลังอิสระของพูโลไม่ยอมรับข้อเสนอในการประนีประนอมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของกลุ่ม ในที่สุดการเจรจาจึงต้องล้มเหลวลงในลักษณะดังกล่าว’

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงรายละเอียดและเงื่อนไขของการเจรจา นายไชยยงค์ กลับไม่ยอมเปิดเผย ทว่า ระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษกับหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ความไม่สงบทางตอนใต้ของไทย เขากล่าวว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนมุสลิมทางตอนใต้ของไทยแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ ขบวนการพูโล และ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น; ผู้สื่อข่าวของ นสพ.กวงหัว ใช้ชื่อย่อว่า บีอาร์เอ็ม) ซึ่งถ้าหากรัฐบาลไทยต้องการคลี่คลายสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ก็ต้องพูดคุยกับทั้งสองกลุ่ม

เขายังกล่าวด้วยว่า สองขบวนการนี้เป็นคนละกลุ่มกัน แต่ก็มีการติดต่อและไปมาหาสู่กัน ถึงปัจจุบันกลุ่มพูโลไม่ค่อยมีบทบาทเท่าใดแล้วในประเทศไทย แต่ในระดับสากลยังมีชื่อเสียงอยู่บ้าง ขณะที่กลุ่มบีอาร์เอ็นกลับถูกชี้ว่าเป็นกลุ่มที่ก่อความรุนแรงในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศไทยอย่างไม่หยุดหย่อน เขากล่าวด้วยว่า ถ้ารัฐบาลไทยสามารถเจรจากับกลุ่มพูโลได้สำเร็จ บนเส้นทางในการสร้างความสงบในพื้นที่ภาคใต้ ไทยก็จะก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่ในวันนั้นการเจรจาของทักษิณไม่ประสบผลใดๆ

เขากล่าวว่า เหตุระเบิดที่หาดใหญ่ และ ยะลา เมื่อวันเสาร์ (31 มี.ค.) เป็นการก่อเหตุของสมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รายชื่อของผู้ที่ก่อเหตุสองคนแล้ว นายไชยยงค์ มีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย และหัวหน้าศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ภาคใต้ตอนล่าง โดยเนื่องจากเขาเป็นนักข่าวอาวุโสทางตอนใต้ของไทย และยังมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

กลุ่มบีอาร์เอ็นใช้การก่อการร้ายหวังแยกตัวเป็นอิสระ ไชยยงค์ ชี้รัฐไม่ยอมแน่

นายไชยยงค์ ชี้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา แผนการก่อความไม่สงบของ ‘กลุ่มบีอาร์เอ็น’ คือ ต้องการใช้ระยะเวลาในช่วง 10 ปี ระหว่างปี 2555-2565 เพื่อขับไล่ชาวจีนโพ้นทะเลและชาวไทยเชื้อสายจีนออกจากพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส และรวม 3 จังหวัดนี้เป็นเขตปกครองตนเองพิเศษ ก่อนก้าวไปสู่การเป็นอิสระต่อไป

เขากล่าวต่อว่า จุดยืนของรัฐบาลไทย คือ ไม่ยินยอม และไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิงในการที่ ‘กลุ่มบีอาร์เอ็น’ จะดำเนินการแยกพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศออกเป็นอิสระ ด้วยเหตุนี้ ‘กลุ่มบีอาร์เอ็น’ จึงใช้ความรุนแรงก่อความไม่สงบอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งระบุด้วยว่า คาดว่า การก่อการร้ายทางตอนใต้ของประเทศไทยจะเกิดขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนต้องอาศัยอยู่อย่างหวาดกลัว และชีวิตต้องตกอยู่ภายใต้การคุกคามตลอดเวลา

เขาพูดอย่างตรงไปตรงมา ว่า ณ เวลานี้รัฐบาลไทยก็จนปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากเป้าหมายสุดท้ายของกลุ่มกองกำลังแบ่งแยกดินแดนมุสลิมเหล่านี้ ก็คือ ต้องการเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาล และต้องการปกครองตนเอง หรือกระทั่งต้องการตั้งประเทศของตัวเองเหมือนติมอร์ตะวันออก จากนั้นกล่าวต่อว่า ถึงทุกวันนี้รัฐบาลไทยก็ยังหาหนทางในการจัดการปัญหาดังกล่าวไม่เจอ

นายไชยยงค์ ระบุด้วยว่า ระหว่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ความผิดพลาดที่สุดของเขา ก็คือ ใช้กำลังเข้าจัดการกับกองกำลังแบ่งแยกดินแดนชาวมุสลิมเหล่านี้ ซึ่งการใช้กำลังดังกล่าวในเวลาต่อมาส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับและได้ผลตรงกันข้ามกับที่ต้องการ ก่อให้เกิดการก่อการร้ายมากขึ้น และทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้รับผลกระทบ

บีอาร์เอ็นก่อตั้งมากว่า 40 ปี ฝังแนวคิดหัวรุงแรงให้สมาชิกตั้งแต่เด็ก

กองกำลังบีอาร์เอ็น ก่อตั้งขึ้นมากว่า 40 ปีแล้ว ทั้งยังมีอายุยาวนานกว่าขบวนการพูโล ทว่าขาดเป้าหมายที่แน่ชัด อีกทั้งจำนวนสมาชิกไม่ชัดเจน ใช้ประโยชน์จากความเชื่อด้านศาสนาในการชักจูงคนเข้าร่วม โดยเริ่มล้างสมองคนตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา สมาชิกถูกปลูกฝังแนวความคิดนิยมความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเมื่อพวกเขาอายุครบ 21 ปีจึงกลายเป็นกำลังพลใหม่ที่เข้ามาก่อความรุนแรงต่อไป

นายไชยยงค์ กล่าวว่า กองกำลังบีอาร์เอ็น ไม่มีระบบการจัดการอีกทั้งยังไร้ทิศทาง ซึ่งเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นเพียงแค่บีอาร์เอ็นต้องการใช้ความรุนแรงเพื่อแสดงให้สมาชิกเห็นถึงศักยภาพของกองกำลัง ขณะที่ในชีวิตประจำวันเหล่าสมาชิกบีอาร์เอ็นล้วนไม่ได้มีพฤติกรรมเลวร้าย ทุกคนมีงานทำ ภายนอกเป็นประชาชนธรรมดา ต่อเมื่อพวกเขาได้รับคำสั่งจากผู้นำจึงค่อยเปิดฉากก่อการร้ายขึ้น

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า กองกำลังบีอาร์เอ็นได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวมุสลิมนอกประเทศด้วย นอกจากนี้ ปกติกองกำลังบีอาร์เอ็นมักจะประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น ค้ายาเสพติด ลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน ค้ามนุษย์ เป็นต้น เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทุนที่มีไว้สำหรับค่าใช้จ่ายในโรงเรียนสอนศาสนาและค่าใช้จ่ายของกองกำลังเป็นหลัก

พูโลยื่นข้อแม้ให้ผู้ก่อการร้ายกลับประเทศโดยรัฐบาลไทยไม่คิดบัญชี

รัฐบาลไทยได้พยายามหาวิธีการต่างๆ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทย รวมทั้งเรียกร้องให้ชาวมุสลิมในขบวนการแบ่งแยกดินแดนออกมาเจรจา เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อประชาชนมากขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่

นายไชยยงค์ เปิดเผยว่า ‘ขบวนการพูโล’ ได้เปิดฉากการเจรจาข้อตกลงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยยื่นข้อเสนอว่า หากต้องการให้สลายขบวนการพูโล อันดับแรกต้องยอมให้ผู้ก่อการร้ายที่หลบหนีอยู่ในต่างประเทศสามารถกลับประเทศได้ ขณะเดียวกันต้องตั้งให้คนกลุ่มนี้เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย นอกจากนี้ ยังเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลใช้กฏหมายหรือบทลงโทษใดๆ มาจับกุมสมาชิกของขบวนการอีกด้วย”

‘ขบวนการพูโลยังต้องการที่จะตั้งโต๊ะเจรจากับรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการโดยมีสมาชิกของคณะมนตรีแห่งสหประชาชาติเป็นประจักษ์พยาน’

นายไชยยงค์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ขบวนการพูโลพยายามที่จะเสนอภาพเชิงลบของรัฐบาลไทยต่อนานาชาติ เมื่อกองกำลังบีอาร์เอ็นลงมือก่อความไม่สงบ ขบวนการพูโลซึ่งพยายามทำให้นานาชาติเข้าใจตลอดมาว่าทางการไทยปฏิบัติต่อชาวมุสลิมทางภาคใต้ด้วยความโหดร้ายทารุณ จึงได้ถือโอกาสนี้ ทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลไทยด้วย

นอกจากนี้ นายไชยยงค์ ระบุว่า ขบวนการพูโลยังต้องการเม็ดเงินช่วยเหลือจากรับบาลไทย รวมทั้งได้รับการปฏิบัติด้วยความเป็นธรรม ได้รับการศึกษาและความก้าวหน้าในภาคใต้ของประเทศไทย

หวั่นชาว 3 จังหวัดชายแดนใต้ถูกปลุกระดม

ปัญหาใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของประเทศไทย ก็คือ กว่าครึ่งของประชากรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สนใจการเมือง คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รัฐบาลไทยเป็นห่วงมากที่สุดเพราะเกรงว่าจะถูกชักจูงและปลุกระดมจาก กองกำลังบีอาร์เอ็น เพราะเข้าใจผิดว่าที่ผ่านมารัฐบาลกดขี่ข่มเหงประชาชน

นายไชยยงค์ ยังยกตัวอย่างว่า ชาว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ใน 100 คนจะมีคนเชื่อถือรัฐบาลไทยเพียง 20 คน อีก 30 คนเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น ส่วนที่เหลืออีก 50 คนไม่สนใจการเมือง ซึ่งใน 50 คนนี้มีความเป็นไปได้ตลอดเวลาที่จะหลงเชื่อข่าวลือ หลงเชื่อกองกำลังบีอาร์เอ็น ทำให้กองกำลังบีอาร์เอ็นบรรลุวัตถุประสงค์ที่จะแยกตัวเป็นอิสระในที่สุด "


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม :
- รายงาน อดีตนายกฯ ทักษิณ บินพบหัวหน้ากลุ่มพูโลที่กัวลาลัมเปอร์ เจรจาสงบศึกเหลว (ภาษาจีน) จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์กวงหัว
รายละเอียดรายงานพิเศษจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์กวงหัว.
นามหลี่ เจิ้นเหวย ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์กวงหัวถ่ายภาพกับนายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล (สมาชิกสภาที่ปรึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สภาที่ปรึกษา ศอ.บต.)
กำลังโหลดความคิดเห็น