xs
xsm
sm
md
lg

วงการค้าข้าวไทยเตือนรัฐบาล ให้เร่งหาทางรับมือข้าวล้นประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - นายกกิตติมศักดิ์โรงสีข้าวไทยออกเตือนรัฐบาล ขอให้เร่งเตรียมหาแนวทางรับมือการจำนำข้าวจากชาวนาอีกระลอกใหญ่ เชื่อ หลังน้ำท่วมชาวนาเร่งผลิตพร้อมกันทำข้าวล้นประเทศ ระบุในอีก 3-5 เดือนข้างหน้าข้าวจะทะลักออกมาเกินกว่าที่จะรับมือ เหตุจากผลผลิตนาปรังจะออกมาชนกันหลังน้ำท่วม เผย จากนโยบายหาการเสียง “ข้าวเกวียนละ 1.5 หมื่นของรัฐ” ทำข้าวไทยราคาพุ่งสูงกว่าใครเพื่อนเป็นเหตุขายไม่ออก แข่งกับใครไม่ได้

วันนี้( 20 ม.ค.) นายวัฒนา รัตนวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคม โรงสีข้าวไทย และอดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย 2 สมัย กล่าวถึงสถานการณ์การค้าข้าวในต่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยในขณะนี้ ว่า ปัจจุบันราคาข้าวของไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ จากทั่วโลกเกือบ 100 เหรียญ โดยอินเดียที่เพิ่งนำข้าวออกมาขายหลังจากหยุดการส่งออกไปเป็นเวลา 2 ปี (เก็บสำรองบริโภคในประเทศ) ขายในราคาต่ำกว่าข้าวของไทยถึง 100 เหรียญ

ราคาข้าวไทย ความชื้น 5 เปอร์เซ็นต์ขาย ในราคา 500 เหรียญต่อตัน ขณะที่อินเดียนำออกมาขายเพียง 420 เหรียญ ส่วนเวียดนาม ขายอยู่ที่ 450 เหรียญ ทำให้ประเทศต่างๆ หันไปซื้อข้าวจากอินเดีย และเวียดนาม ขณะที่ข้าวของไทยนั้นมีต้นสูงมากถึงกว่า 500 เหรียญขึ้นไป จากเหตุการรับจำนำตามโครงการของรัฐบาลที่ตั้งราคาไว้สูง จึงทำให้ขายข้าวออกไม่ได้ ส่งผลให้ข้าวทั้งหมดถูกอัดติดอยู่ในมือของรัฐบาล

นอกจากนี้ ข้าวทั้งหมดก็จะต้องถูกส่งเข้าไปยังคลังของรัฐ และมีค่าใช้จ่ายติดตามมาอีกมากมาย ทั้งค่าคลังจัดเก็บ ค่าเซอร์เวเยอร์ ค่าใช้จ่ายในการรักษาคุณภาพข้าว และยังไม่รู้ว่าจะต้องเก็บไปอีกนานเท่าใด และหากเก็บไว้นานเกินไปก็จะมีข้าวที่เสื่อมคุณภาพเสียหายตามมาอีก

ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลชุดนี้ลงมาดู เพื่อให้เข้าถึงปัญหาได้อย่างแท้จริง คือ ขอให้ลงมาหาข้อเท็จจริงจากชาวนาเลยว่า การผลิตข้าวในหนึ่งเกวียนหรือ 1 ไร่ มีค่าใช้จ่ายเท่าใด ซึ่งปัจจุบันนี้ชาวนาบอกว่าหากขายข้าวได้ในราคา 1.2 หมื่นบาทต่อเกวียน ก็สามารถอยู่ได้อย่างสบายแล้ว

“ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลไม่เคยลงมาถามจากปากชาวนาเลยว่า ราคาข้าว ควรเป็นเท่าใดนั้นจึงจะอยู่ได้”

นายวัฒนา กล่าวอีกว่า การรับจำนำข้าวในราคา 14,800-15,000 บาท (ตามแต่เปอร์เซ็นต์ของความชื้น) อยู่ในขณะนี้ เกินกว่าราคาที่แท้จริงในตลาดโลกไปอย่างมาก ถึงเกวียนละ 4-5 พันบาท

ทั้งนี้ หากชาวนาบอกว่าหากขาย 1.2 หมื่นบาทต่อเกวียนนั้นอยู่ได้ และรัฐบาลลงมารับจำนำที่ราคา 1.2 หมื่นบาท ชาวนาก็พึงพอใจในราคาที่ได้นั้นแล้ว ส่วนรัฐเองก็ไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายตรงจุดนี้มาก ที่ส่วนต่างสูงถึงเกวียนละ 3-4 พันบาท ขณะที่ราคาในตลาดโลกนั้นราคาปัจจุบันอยู่ที่เกวียนละไม่เกิน 10,000 บาท และสูงสุดที่ 11,000 บาท ข้าวของเราก็ยังพอที่จะขายสู้กับข้าวจากประเทศอื่นๆ ได้ ในราคาที่แพงกว่ากันไม่มาก

ส่วนข้าวหอมมะลิไทยนั้น ถึงเราจะมีลูกค้าประจำ คือ ประเทศจีน และคนจีนโพ้นทะเลที่อยู่ตามประเทศในยุโรปที่นิยมบริโภคอยู่นั้น ขณะนี้เวียดนามก็ได้มีความพยายามที่จะผลิต และพัฒนาข้าวหอมออกมาแข่งขันกับเรา และยังขายถูกกว่าเรามาก ซึ่งหากเขาพัฒนาคุณภาพได้ทัดเทียมเหมือนกับเราหรือใกล้เคียงเมื่อใด เราก็อันตรายที่จะเสียตลาดตรงส่วนนี้ไปอีก เพราะผู้ซื้อไม่ว่าประเทศไหนก็ชอบซื้อของถูก โดยข้าวหอมไทยนั้นขณะนี้เรายังขายอยู่ที่ 900 เหรียญต่อตัน ส่วนข้าวหอมเวียดนามเขาก็ขายถูกกว่าเราอยู่ที่ 800 เหรียญ

ปัญหาเรื่องข้าวเก่าที่มีการเปิดรับจำนำไว้เมื่อก่อนหน้านี้ ยังอยู่ในสต๊อกของรัฐบาลประมาณ 4.5 ล้านตัน ที่ยังขายไม่ออก กำลังจะเป็นปัญหาทับถมติดตามมาอีก คือ ผลผลิตข้าวจากชาวนาจะออกมาล้นประเทศอีกระลอกใหญ่ หลังจากชาวนาในเขตภาคกลางที่เคยถูกน้ำท่วมพื้นที่จนไม่สามารถทำนาปรังได้ในช่วงที่เกิดภาวะน้ำท่วมนั้น ได้พากันแห่ทำนาในช่วงปลายเดือน ธ.ค.54 จนถึงช่วงต้น ม.ค.55 ที่ผ่านมา

จึงจะทำให้มีผลผลิตออกมาประดังกันกับข้าวนาปรังในพื้นที่อื่นๆ ที่เคยทำนาปรังอยู่เป็นประจำในช่วงนี้ของทุกปีอยู่แล้ว ก็จะยิ่งทำให้ข้าวทั้งหมดออกมาสู่ตลาดพร้อมกัน จนล้นทั่วทั้งประเทศ แบบชนกันทั้งหมดในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.และ พ.ค. ปีนี้

ฉะนั้น รัฐบาลจะต้องเตรียมการ และเร่งหาทางแก้ไขรับมือตรงนี้ไว้ก่อนล่วงหน้าด้วย ว่า จะทำอย่างไรกับข้าวที่จะออกมาในปริมาณมหาศาลจำนวนมากถึงขนาดนี้ ทั้งที่ในปัจจุบันขณะที่ยังไม่มีข้าวออกมาพร้อมกันจนล้นตลาด ราคาก็ยังตกลงมาอยู่แล้ว และหากผลผลิตออกมาชนกันอีกอะไรจะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจุบันชาวนายังประสบปัญหาที่ไม่สามารถนำข้าวออกมาจำนำได้ตามราคารับจำนำของรัฐบาล เนื่องจากราคารับจำนำที่ผ่านมานั้นเป็นของโครงการนาปรังปลายปี ขณะที่การรับจำนำตามโครงการรับจำนำข้าวนาปีนั้นก็ใกล้จะหมดห้วงเวลาในวันที่ 29 ก.พ.นี้แล้ว ผลผลิตของชาวนาในเขตพื้นที่น้ำท่วมที่จะออกมาก็จะจำนำไม่ได้ ขณะเดียวกัน ชาวนาที่ไปรับเงินเยียวยาน้ำท่วมนา ในราคา 1.6 พันบาทต่อไร่มาแล้ว ก็จะนำผลผลิตที่เหลืออยู่ออกมาจำนำไม่ได้อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น