xs
xsm
sm
md
lg

ชาวลุ่มน้ำปากพนังนับพันคน ผนึกกำลังประกาศต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - ชาวลุ่มน้ำปากพนังนับพันคน ผนึกกำลังประกาศต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ถึงที่สุด แนะรัฐส่งเสริมเศรษฐกิจ 3 ขา พัฒนาพื้นที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน

วันนี้ (8 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ความพยายามในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังคงเป็นชนวนให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังจำนวนมาก รวมตัวกันต่อต้าน เนื่องจากหวั่นเกรงผลกระทบที่ตามมาอย่างต่อเนื่อง และขยายวงกว้างมากขึ้น

ล่าสุด เมื่อช่วงเย็นไปจนถึงกลางดึกของวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มประชาชนชาวอำเภอหัวไทร และใกล้เคียงจำนวนนับพันคน ได้รวมตัวกันที่บริเวณสนามริมถนนในตัวเมืองหัวไทร ต.หน้าสตน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ในนาม “เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนัง” เพื่อประกาศเจตนารมณ์ และออกแถลงการณ์ร่วมกันในการปฏิเสธการเคลื่อนไหวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ที่เข้ามาดำเนินการเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในพื้นที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายพื้นที่ ที่ดำเนินการพร้อมกันตามแผนพัฒนาพลังงาน 2010 หรือ PDP.2010

บรรยากาศของการรวมตัวของประชาชนจำนวนมากต่างสวมเสื้อสีดำ มีข้อความ “ไม่เอาถ่านหิน ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” และแผ่นป้ายข้อความต่างๆ ในทำนองเดียวกัน พร้อมกับเวทีขนาดใหญ่ที่มีศิลปินชื่อดังของภาคใต้หลายคนเข้าร่วมสร้างสีสันความบันเทิงบนเวที ขณะที่ประชาชนจำนวนมากต่างทยอยเข้ามาร่วมอย่างต่อเนื่อง และยังมีการแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในท้องทะเลอ่าว ด้าน อ.หัวไทร ด้วยการนำเอาปลาชนิดต่างๆ ปู ปลาหมึก พร้อมทั้งอุปกรณ์การจับมาแสดง รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ หลังจากนั้น ได้มีการตั้งขบวนเดินไปตามถนนกลางเมืองหัวไทร เพื่อรณรงค์ถึงการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมทั้งการแสดงเชิงสัญลักษณ์ของนักเรียนในพื้นที่อย่างคึกคัก

จากนั้นในช่วงดึก นายครองศักดิ์ แก้วสกุล ในฐานะประธานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนัง พร้อมด้วยแกนนำอีกหลายคน ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ร่วม เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนัง ความว่า กว่า 2 ปี ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 โรงในพื้นที่นครศรีธรรมราช ขนาด 800 เมกะวัตถ์ เพื่อเป็นพลังงานป้อนเข้าสู่โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ การทำงานของ กฟผ.มุ่งเน้นการใช้เงินในการจัดตั้งมวลชน การประชาสัมพันธ์ฝ่ายเดียว การจ้างสื่อในพื้นที่ การสนับสนุนงบประมาณให้นักการเมืองท้องถิ่น ไม่ยอมรับความเห็นต่างถึงความเป็นเหตุเป็นผล

การพยายามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 11 โรงชายฝั่งทะเลนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากขาดการยอมรับของคนในพื้นที่ แผนการอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใดๆ แต่ทั้งนี้ เนื่องจากการสัมปทานถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียนั้นมีการดำเนินการแล้วจึงต้องสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศไทยเพื่อทำการรองรับ

“การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะสร้างผลกระทบในวงกว้างที่ไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากมีการสร้างท่าเรือ สะพานลำเลียงถ่านหิน การใช้น้ำระบบหล่อเย็น แนวสายส่ง มลพิษจากปล่องควัน เถ้าจากถ่านหินที่ยังไม่มีคำตอบว่าจะดำเนินการอย่างไร ในขณะที่ กฟผ.มุ่งเอาแต่ได้ สร้างความแตกแยกใช้เงินเดินหน้าในการทำงาน และยืนยันว่าจะร่วมกันคัดค้านให้ถึงที่สุด” ประธานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนังกล่าว

นายครองศักดิ์ แก้วสกุล ประธานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนังกล่าวต่อว่า ชาวลุ่มน้ำปากพนัง ขอเสนอให้รัฐทำการส่งเสริมเศรษฐกิจแบบ 3 ขาในพื้นที่นครศรีธรรมราช นั่นคือ ภาคเกษตร ภาคการประมง และภาคการท่องเที่ยว ล้วนแต่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสร้างรายได้ให้แก่พื้นที่นครศรีธรรมราช เป็นทิศทางหลักในการพัฒนา เพราะถือว่าเป็นการพัฒนาจากฐานเดิมที่เป็นวิถีชีวิต สอดคล้องกับเศรษฐกิจ ชุมชนสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ใช้พลังงานน้อยกว่า เกิดการจ้างงานมากกว่า กระจายรายได้มากกว่า สร้างความเป็นธรรมอย่างแท้จริง เป็นทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ในรูปธรรมที่ชัดเจน พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นแหล่งปลูกผัก นาข้าว ขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของพื้นที่ภาคใต้ เป็นพื้นที่ส่งเสริมการเลี้ยงกุ้ง และเป็นพื้นที่ของประเทศไทยที่มีความโดดเด่นในเรื่องคอนโดนกอีแอ่นกินรัง หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะทำลายเศรษฐกิจหมื่นล้านที่เป็นของพื้นที่โดยแท้ในชั่วเวลาไม่นานนัก และขอย้ำว่า ชาวลุ่มน้ำปากพนังไม่ได้ปฏิเสธแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ แต่เราเลือกที่จะสนับสนุน และพัฒนาอุตสาหกรรมที่มาจากฐานทรัพยากรในจังหวัด เกิดการต่อยอดมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์การประมง การเกษตร ด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตอาหาร เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนังจึงขอเสนอให้หยุดการดำเนินการใดๆ เรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ทันที โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่เช่นนั้น ประชาชนจะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นตามลำดับ” แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ






กำลังโหลดความคิดเห็น