xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ปี 58 แนวโน้มผู้เลี้ยงหมูรายย่อยพังหมด วอนรัฐดึงเข้าร่วม "โชว์ห่วยช่วยชาติ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พัทลุง - ตาสีตาสาผู้เลี้ยงหมูรายย่อยใน จ.พัทลุง วอนรัฐบาลบรรจุเกษตรกรรายย่อยเข้าร่วมโครงการ "โชว์ห่วยช่วยชาติ" ชี้ปี 58 แนวโน้มผู้เลี้ยงหมูรายย่อยพังหมด ขณะเดียวกันบริษัททุนใหญ่รุกหนัก ประกาศขยายคอนเทคฟาร์มแย่งพื้นที่การตลาด

นายสมยศ เพชรชรา ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์จังหวัดพัทลุง จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาสุกรได้ขยับขึ้นแล้ว ภายหลังจากที่ลดลงมาเหลือกิโลกรัมละ 40 บาท โดยปัจจุบันราคาสุกรใน จ.พัทลุง อยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท แต่ก็ยังขาดทุนอยู่ประมาณ 10 บาท เนื่องจากต้นสูงการผลิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาทเศษ

"ราคาได้ขยับขึ้นเร็วภายหลังจากการประชุมสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา แต่กลุ่มผู้เลี้ยงรายใหญ่ไม่ได้มาประชุมด้วย โดยก่อนนั้นได้เข้าร่วมและยังบอกว่าราคาสุกรจะตกต่ำลงมาประมาณ 1 ปีครึ่ง จนบรรดาผู้เลี้ยงต่างแย่งชิงกันเทขายออกจนราคาตกต่ำลงอย่างหนักส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงรายย่อยในพื้นที่ จ.พัทลุง ซึ่งเลี้ยงมากเป็นอันดับต้นในภาคใต้ จนต้องล้มเลิกไปแล้วจำนวนหนึ่ง" นายสมยศ ยังกล่าว

นายสมยศ ยังกล่าวอีกว่า เป็นที่น่าสงสัยและตั้งข้อสังเกตว่ามีกระบวนการทุนใหญ่ปล่อยข่าวให้เกิดภาวะหวั่นวิตก แล้วก็มีชี้นำทำราคาให้ตกต่ำลงในขณะนั้น ส่งผลต่อผู้เลี้ยงรายย่อยให้ยุติกิจการไปในที่สุด แสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มที่พยายามทำลายรายย่อย เพื่อเข้ายึดพื้นที่แทน ซึ่งมีมูลค่าถึง 13,000 ล้านบาท/ปี สำหรับพื้นที่ จ. พัทลุง

นายสมยศ ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์จังหวัดพัทลุง ยังกล่าวอีกว่า การเลี้ยงสุกรใน จ.พัทลุง ไม่มีใครทราบว่ามีปริมาณการเลี้ยงเท่าใด จึงง่ายต่อการปล่อยข่าวชี้นำทำราคา ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการตั้งคณะกรรมการสุกรประจำจังหวัด หรือ PIG บอร์ด โดยมีภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรร่วม ในการเป็นเจ้าภาพ มีการจัดการบริหารข้อมูลสุกร จำนวนประชากรสุกร ทุกวันนี้ตัวเลขที่เลี้ยงสุกรที่แท้จริง ยังไม่มีรายใดทราบได้ จึงมีข้อเท็จจริงเรื่องตัวเลขปะปนกันอยู่ ง่ายต่อการชี้นำทำราคา

“เราต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลบรรจุเกษตรกรรายย่อยเข้าร่วมโครงการโชว์ห่วยช่วยชาติ หรือร้านสุขใจ ที่เกิดขึ้นจำนวน 10,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้สหกรณ์ได้เข้าไปขายเนื้อสุกร เนื้อไก่ และเป็นแนวทางหนึ่งที่แก้ไขให้เกษตรกรรายย่อยอยู่ได้ด้วย”

ชี้ "หมู" เจ๋ง 5 ครั้งถูกแชร์ตลาดไป 40 เปอร์เซ็นต์ ระบุ ปี 58 แนวโน้ม รายย่อยพังหมด

ขณะเดียวกัน นายวิชัย มงคล เจ้าของมงคลฟาร์ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดพัทลุง และอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยว่า ผู้เลี้ยงสุกรได้ประสบกับภาวะวิกฤติอย่างหนักและต้องล้มเลิกอาชีพไปในที่สุด ประมาณ 5 ครั้ง เช่น วิกฤติราคา เมื่อปี 2535, ปี 2540, ปี 2544, ปี 2550 และปี 2555 นี้

จากเกิดภาวะวิกฤติดังกล่าว ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยต้องล้มเลิกอาชีพนี้ไปประมาณ 30 - 40 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละครั้ง แต่อีกระยะหนึ่งก็มาประกอบการใหม่อีกประมาณ 15 -20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่หายไป 10 - 15 เปอร์เซ็นต์ บรรดาบริษัทขนาดใหญ่ จะเข้ามาถือครองตลาดแทน และในขณะนี้ทาง บริษัท เบทาโกร ในพื้นที่ จ.พัทลุง มีการขึ้นป้ายรับสมัครลูกเล้าสุกร หรือทำคอนเทคฟาร์มแล้ว

"อนาคต ผมเชื่อว่ามีแนวโน้มว่าคอนเทคฟาร์มจะขยายตัวเติบโตขึ้น เพราะผู้เลี้ยงรายย่อยจะล้มเลิกกันตามลำดับ ฟาร์มผมเองก็ไม่แน่ หากเข้าคอนเทคฟาร์ม เพราะไม่ต้องรับผิดชอบค่าต้นทุน มีแต่รายได้รับเลี้ยงประมาณ 4 บาท/กก."

นายวิชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เรื่องที่น่าหวั่นตกซ้ำเติมเข้าไปอีกสำหรับผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย คือในปี 2558 มีนโยบายเศรษฐกิจ AEC จะทำให้สุกรจากประเทศเวียดนาม จีน พม่า และฟิลิปปินส์ นำเข้ามาสู่ตลาดประเทศไทย จะทำให้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูง ในขณะที่ต้นทุนการผลิตสุกรในประเทศดังกล่าวต่ำกว่ามาก โดยเฉพาะค่าแรงงานก็แตกต่างกันมาก เป็นต้น

"ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ ไม่มีปัญหา เพราะพวกเขาได้เตรียมการรองรับไว้แล้ว โดยได้เข้าไปลงทุนการเลี้ยงสุกรอย่างครบวงจรในประเทศพม่า จีน เวียดนาม ไว้แล้วแล้วค่อยป้อนเข้าสู่ประเทศไทย"
กำลังโหลดความคิดเห็น