xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มวังขนายร่วมวังช้าง ปลูกอ้อยเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงช้างอย่างถาวร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระนครศรีอยุธยา - กลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ วังขนาย ร่วมกับวังช้างอยุธยาแลเพนียด พระนครศรีอยุธยา ปลูกอ้อยเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงช้างอย่างถาวร ในโครงการ “วังขนาย อนุรักษ์ช้างไทย”

วันนี้ (26 มี.ค.) น.ส.ธัญรักษ์ ณ วังขนาย ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มวังขนาย ผู้ผลิตน้ำตาลเพื่อสุขภาพรายใหญ่ของประเทศ กล่าวว่า วังขนายได้จัดโครงการ วังขนาย อนุรักษ์ช้างไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างอาหารของช้างไทยให้มีความยั่งยืน และถาวร โดยไม่ต้องรอเงินบริจาค หรือขอความช่วยเหลือจากภารัฐ และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมการแสดงความสามารถของช้างแต่ฝ่ายเดียว โดยกลุ่มวังขนายจะมาช่วยในการมาทำแปลงปลูกอ้อยปลอดสารเคมีจำนวน 8 ไร่

พร้อมทั้งจะได้สอนให้พนักงานของวังช้างอยุธยาแลเพนียด ได้รู้จักวิธีเพาะปลูกและดูแลอ้อยจนมีขนาดใหญ่ สามารถนำไปเป็นอาหาร ซึ่งจะทำให้ช้างได้มีอาหารกินตลอดทั้งปี นอกจากนี้ เรายังมีกิจกรรมทำความสะอาดโรงเลี้ยงช้างให้สะอาด ร่วมอาบน้ำให้กับช้าง นำอ้อยปลอดสารพิษที่กลุ่มวังขนายได้เพาะปลูกมาให้ช้างได้กินจำนวน 3 ตัน มอบอุปกรณ์ที่ใช้ดูแลทำความสะอาดช้าง พร้อมบริจาคเงินช่วยเหลืออีก 200,000 บาท

ช้างนับเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่โบราณดั้งเดิม เมื่อตอนน้ำท่วมหนักปี 2554 ช้างต้องอพยพหนีน้ำท่วม และขาดแคลนอาหาร เพราะผู้ที่จะมาบริจาค หรือให้การช่วยเหลือต่างก็ถูกน้ำท่วมเช่นกัน การเดินทางก็ไม่สะดวก ถ้าเรามีแหล่งอาหารสำหรับเลี้ยงช้างเอง เราก็สามารถนำอาหารที่ปลูกขึ้นเอง นำมาเลี้ยงช้างได้ตลอดทั้งปีอย่างยั่งยืนแล้วนั้น ปัญหาการขาดแคลนอาหารช้างนั้น ก็ลดน้อยลงแม้ยามวิกฤต น้ำท่วมหนักอย่างปี 54 ก็ตาม

นายลายทองเหรียญ มีพันธ์ เจ้าของวังช้างอยุธยาแลเพนียด กล่าวว่า รูสึกดีใจที่ยังมีหน่วยงานหรือกลุ่มคนที่เห็นคุณค่าของช้างไทย ซึ่งในอดีตถือว่าเป็นสัตว์ชั้นสูง เคยผ่านการรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับอดีตบูรพกษัตริย์ไทยมาแล้ว หลายยุคหลายสมัย เคยช่วยปกป้องประเทศไทยไม่ให้ตกเป็นเมืองขึ้น

แต่ในปัจจุบันสภาพความเป็นอยู่ของช้างไทยกับลดศักดิ์ศรีลงไปมาก โดยในแต่ละปีมีช้างไทยที่ต้องล้มตาย เนื่องจากปัญหาสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บจำนวนมาก อีกทั้งอาหารและงบประมาณที่ต้องมาเลี้ยงช้างนั้น ก็ต้องรอรับการบริจาคของประชาชนและนักท่องเที่ยว

“โดยปัจจุบันที่วังช้างอยุธยาแลเพนียด มีช้างในความดูแลกว่า 100 เชือก ที่ต้องใช้งบประมาณในการดูแลในแต่ละเดือนสูงมาก หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ และภาคเอกชนอย่างเต็มที่แล้ว คาดว่า ในอนาคตช้างไทยจะต้องมีจำนวนลดน้อยลง หรืออาจจะถึงขั้นสูญพันธุ์ เหลือแต่เพียงตำนานหรือรูปไว้ให้ลูกหลานคนรุ่นหลังได้เห็นเท่านั้น”






กำลังโหลดความคิดเห็น