คอลัมน์ : ด้ามขวานผ่าซาก
โดย...ปิยะโชติ อินทรนิวาส
2 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน และสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมได้อย่างครึกโครม แม้ไม่ได้เป็นแบบพายุคลั่งนำคลื่นเข้าสู่ฝั่งเหมือนที่เกิดขึ้นในสภา แต่ก็เป็นไปแบบลมเห่ระลอกคลื่นลูกแล้วลูกเล่า ซึ่งในเวลานี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วเบากลับสู่ความสงบง่ายๆ
ปรากฏการณ์แรก คือ แกนนำ นปช.ป่วนบ้านเผาเมืองที่เวลานี้ได้ดิบได้ดีไปแล้ว 2 คน คือ ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ว่าที่รัฐมนตรีในการปรับเปลี่ยนรัฐบาลครั้งหน้า กับ เจ๋ง ดอกจิก หรือ ยศวริศ ชูกล่อม หรือ ประมวล ชูกล่อม เลขานุการ รมว.มหาดไทย ทั้งคู่ขึ้นเวทีเสื้อแดงคนละทิศที่ใต้-เหนือ แต่สามารถประสานเสียงด่า “คนใต้โง่” ได้แบบออกรสชาติเหมือนกัน
อีกปรากฏการณ์ คือ วิวาทะระหว่าง เกษียร เตชะพีระ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการนามอุโฆษที่มีคำนำหน้าชื่อทั้งคำว่า “ศาสตราจารย์” และ “ดอกเตอร์” การันตี กับ ไพวรินทร์ ขาวงาม กวี นักเขียนและคอลัมนิสต์ที่มีเพียงรางวัลซีไรต์ประจำปี 2538 จากหนังสือรวมบทกวีม้าก้านกล้วยรองรับ โดยคนหลังถูกคนแรกกล่าวหาว่าเป็น “กวีคิดนามธรรมไม่เป็น”
ทั้ง 2 ปรากฏการณ์จะว่าเป็นคนละเรื่องเดียวกันก็ใช่ครับ แต่ที่ผมสนใจและอดไม่ได้ที่จะต้องนำมากล่าวในที่นี้ เพราะเห็นประเด็นร่วมอันมีนัยสำคัญ ซึ่งก็นำไปสู่ชื่อเรื่องเชิงสมการของตรรกะที่นำมาเปรียบเทียบกันนั่นเอง
ประเด็นที่หนึ่ง ตู่กับเจ๋งมองว่าคนใต้เป็นฝ่ายตรงข้ามที่ต้องกำจัดไปให้พ้นทาง เพราะหากปล่อยไว้มีแต่จะสร้างอิทธิพล และชี้นำผู้คนลุกขึ้นต้านจนทำให้เป้าหมายของตนเองสะดุดได้ ซึ่งถ้าห้ำหั่นให้แหลกลาญไม่ได้ ก็จะใช้การดิสเครดิตแบบไม่ให้หลงเหลือความชอบธรรม แม้จะเป็นเรื่องขัดแย้งกับความเป็นจริง แต่พวกเขาก็จะสามารถหาเหตุผลหรือตรรกะมาใช้อธิบายความบิดเบี้ยวจนดูดีได้
คำผรุสวาทจึงหลั่งไหลออกมาจากปากของทั้งคู่ ซึ่งนำไปสู่การออกมาตอบโต้ของคนใต้ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองด้วยกัน หรือกระทั่งชาวบ้านร้านตลาด แม้เวลานี้กระแสคลื่นการโต้ตอบก็ยังมีอยู่ ที่น่าสนใจประกอบด้วย...
“ถ้าอยากดูคนโง่ ให้ไปดูที่ภาคใต้”
“ปัจจุบันคนภาคเหนือมีความสนใจเรื่องการเมือง เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองมาโดยตลอด แต่คนทางภาคใต้กลับไม่สนใจ เพราะมัวแต่นั่งดูละครโทรทัศน์ปัญญาอ่อน”
“ขอให้ไทยเป็นคนเสื้อแดงทั้งประเทศ เหลือไว้เพียงภาคใต้ เพื่อให้เป็นมรดกของคนโง่”
“ไม่ได้สร้างความขัดแย้งในสังคมเหมือนอย่างที่คนของพรรคประชาธิปัตย์ว่าไว้ คนพวกนี้ชอบว่าแต่คนอื่น ให้ทำก็ไม่ทำ พอคนอื่นทำสำเร็จก็มาเยาะเย้ยเสียดสี คนพวกนี้โง่แล้วยังอวดฉลาด”
“ไปภาคเหนือ ภาคอีสาน แล้วกลับมาใต้ เห็นแล้วตกใจว่ายังไม่ได้รับการพัฒนาที่ดี ไม่ใช่เพราะคนใต้ไม่มี ส.ส.พรรคเพื่อไทย แต่เป็นเพราะคนใต้โง่ เลือกประชาธิปัตย์เข้าไปบริหารงาน”
เช่นเดียวกันเมื่อกวีนิพนธ์ของไพวรินทร์ในชื่อ “เจ็ดล้านเจ็ด!?” ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ เกษียรก็กระโดดเข้าฟาดฟันห้ำหั่นด้วยการป้ายว่าเป็น “กวีคิดนามธรรมไม่เป็น” สำทับด้วยการสำแดงมาดนักวิชาการที่เหนือชั้นกว่า หยิบยกนักปรัชญาและทฤษฎีตะวันตกมาอธิบายแบบยกตนข่มท่าน ไม่เพียงเท่านั้นยังฟาดหางไปยัง วสันต์ สิทธิเขตต์ กวีและศิลปินที่ต่อต้านกลุ่มคนเสื้อแดงมาตลอด รวมถึงเผื่อแผ่ไปยังเพื่อนนักวิชาการสถาบันเดียวกันอย่าง ดร.สุวินัย ภรณวลัย
ผมคงไม่ต้องลงในรายละเอียดอะไรนะครับ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ทราบดีว่าเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงแค่ไหนที่กล่าวหาว่า “คนใต้โง่” เช่นเดียวกับการตราหน้าว่า “กวีคิดนามธรรมไม่เป็น” อันหลังนี้ผมว่าเป็นอะไรที่ตลกร้ายอย่างมากด้วย
ประเด็นที่สอง ผมมองว่าการออกมาเคลื่อนไหวของเกษียรครั้งนี้ เป็นการเล่นในบทบาทที่ไม่แตกต่างไปจากที่ตู่กับเจ๋งรับบทจากระบอบทักษิณไปปฏิบัติการในลักษณะขององครักษ์พิทักษ์นักโทษหนีคุก ทักษิณ ชินวัตร มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
แน่นอนครับ ไม่มีใครไปกล่าวหาเกษียรว่ารับเงินรับทองใครมา และก็ยอมรับกันถ้วนหน้าว่าไม่มีหลักฐานอะไรที่จะบ่งบอกว่าได้รับประโยชน์จากระบอบทักษิณ แต่บทบาทที่เกษียรออกมาเล่นในนามนักวิชาการลักษณะนี้ มันก็ปรากฏฉายซ้ำๆ ให้คิดกันได้อย่างนั้นมาตลอดมิใช่หรือ
ประเด็นที่สาม สังคมไทยและโลกตะวันออกที่เราอยู่เป็นบ่อเกิดของความหลากหลายศาสนา มีวิถีและวัฒนธรรมเป็นอัตลักษณ์ของตน ผู้คนจึงให้ความสำคัญอย่างเทิดทูนยิ่งต่อธรรมะ ถือระบบคุณธรรม ให้คุณค่ากับความเป็นธรรม สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำหรือให้การสนับสนุน ส่วนอะไรที่ชั่วก็ไม่ควรทำหรือแม้แต่จะไปข้องแวะ
การบอกว่าคนใต้โง่ของตู่และเจ๋ง จึงไม่ต่างอะไรกับการก่นด่าตัวเอง พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติโกโหติกา รวมถึงบรรพบุรุษ เพราะทั้งคู่ต่างก็มีพื้นเพเป็นคน จ.สุราษฎร์ธานี คนไทยถือเรื่องนี้มากและไม่มีทางสั่งสอนลูกหลานให้ทำเยี่ยงนั้น แต่ที่เกิดขึ้นก็อย่าได้แปลกใจ เพราะหากย้อนไปมองอดีตของทั้งคู่ก็จะเห็นการปู้ยี้ปู้ยำบ้านเมืองไว้มากโข ซึ่งก็จะเข้าใจได้ว่าเกิดอะไรขึ้น
ในส่วนของเกษียรแม้ไม่ได้เล่นหน้าเสื่อ แต่ก็เป็นที่รับรู้ว่าใช้ความเป็นนักวิชาการหัวทันสมัยให้การสนับสนุน หลายต่อหลายครั้งคนรับรู้สึกได้ถึงการใช้ทฤษฎีและอ้างขี้ปากตะวักตกมาลบเลือนคุณธรรมและคุณค่าความเป็นไทย ซึ่งผมก็ไม่แปลกใจอีกแหละที่เขาวิวาทะแบบไม่พยายามเงี่ยฟังคำอธิบายของไพวรินทร์ กวีผู้หยั่งรากลึกยึดโยงกับสังคมและวัฒนธรรมไทยมาทั้งชีวิต
ส่วนประเด็นสุดท้าย ผมขอฝากให้ร่วมกันคิดต่อนะครับ ตอนหนึ่งเกษียรเขียนข้อความโต้ตอบไพวรินทร์ไว้ว่า...
“...ส่วนเรื่องผมเป็นนักวิชาการแดงหรือไม่นั้น? ปล่อยให้เป็นเรื่องที่เอเอสทีวี/ผู้จัดการเขาเนื้อเต้น พร่ำเพ้อไปเถิดนะครับ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เราเห็นต่างกันอยู่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับสี แต่เกี่ยวกับวิธีมองโลก เข้าใจโลก ทางสังคมการเมือง ในฐานะเพื่อนพลเมืองเจ้าของรัฐด้วยกัน…”