xs
xsm
sm
md
lg

72 ปี “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” กับอีกหลายความฝันที่เพิ่มพูนใน "หัวใจกวี"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลมหายใจของกวีกับความเป็นไปของประเทศนั้น ดูเหมือนจะขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง แต่จริงๆแล้วมันเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไปในสังคมเลยทีเดียว

บ่ายวันหนึ่ง...วันที่อุณหภูมิของเมืองหลวงสูงพอๆ กับราคาน้ำมัน เรามีนัดกับเจ้าของรางวัลซีไรต์ จากกวีนิพนธ์รวมเล่มเรื่อง "เพียงความเคลื่อนไหว" และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2536 “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” หรือ “พี่เนาว์ " ที่พวกเรารู้จักและคุ้นเคยกันดี ...แทบไม่น่าเชื่อว่าผู้ชายผมสีดอกเลา ท่าทางใจดีที่นั่งอยู่ข้างหน้าของเรานั้น จะมีอายุครบ 6 รอบแล้ว...

"ผมถือคำของท่านพุทธทาสว่ายกเลิกอายุคือไม่สนใจมานานแล้วว่าตัวเองอายุเท่าไหร่ ผมอยู่กับลมหายใจปัจจุบันแล้วทำวันนี้ให้ดีที่สุด"


เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  
เป็นคน จ.กาญจนบุรี ปัจจุบันก็ยังพักอาศัยที่จังหวัดบ้านเกิด เขาเกิดมาในครอบครัวของคนที่รักและสนใจในเรื่องของวรรณคดีไทย มีพ่อสนใจดนตรีไทยและกาพย์กลอน จึงส่งผลให้ชีวิตของเนาวรัตน์ซึมซับความไพเราะของบทกวีมาตั้งแต่เล็กๆ ชาวบ้านที่อำเภอพนมทวน ยกย่องให้พ่อของเนาวรัตน์เป็นกวีคนหนึ่งของอำเภอพนมทวนเลยทีเดียว


“คนบ้านนี้เป่าขลุ่ยเก่ง” 
เพื่อนบ้านเคยเล่าถึงครอบครัวของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ไว้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าได้รับการปลูกฝัง ในเรื่องของการเขียนบทกวีและดนตรีมาตั้งแต่เด็ก จึงทำให้สองสิ่งนี้เป็นเหมือนดั่งเลือดและเนื้อ ที่ไหลเวียนอยู่ภายในตัวจนกระทั่งปัจจุบัน เพราะว่าหลังจากที่จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว แทบจะกล่าวได้ว่า ไม่ได้ทำงานนี่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียนมาแม้แต่น้อย


เนาวรัตน์ ทำงานหนังสือ เคยเป็นอาจารย์ ม.สงขลานครินทร์ และผู้อำนวยการศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ เราจึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ความสามารถในการรจนาบทกวี และเสียงขลุ่ยยามที่ผ่านจากลมหายใจของเขานั้น ช่างเป็นที่ไพเราะเพราะพริ้งเสียเหลือเกิน


จากบทกวีชิ้นแรกในชีวิตของเขาชื่อ “นกขมิ้น” จนมาปัจจุบันเนาวรัตน์ มีผลงานเขียนทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง รวมแล้วหลายสิบเล่ม ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ซีไรท์ (จากหนังสือรวมบทกวีเรื่อง “เพียงความเคลื่อนไหว”), รางวัลศรีบูรพา และศิลปินแห่งชาติ ในสาขาวรรณศิลป์ สาขาย่อยกวีนิพนธ์ในปีพ.ศ.2536

ในวัย 72 ปี ยังคงทำงานศิลปะสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯอยู่สมํ่าเสมอ เนื่องด้วยต้องทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านศิลปะและวัฒนธรรมให้กับธนาคารกรุงเทพ และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสมัชชาปฎิรูประเทศไทย ชุดที่มีอาจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน มีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูปประเทศไทยในทุกๆด้าน


คณะกรรมการสมัชชาปฎิรูประเทศไทยตั้งขึ้นโดยระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี มีกฏหมายรองรับชัดเจน ทำให้แน่ใจว่าในกรอบระยะเวลาการทำงานตลอด 3 ปีของคณะกรรมการสมัชชาฯนี้จะมีผลงานอย่างมีรูปธรรมได้อย่างชัดเจน โดย เนาวรัตน์ ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานทางด้านการปฏิรูปศิลปวัฒนธรรมของชาติ


ประเทศไทยมีศิลปวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่งดงาม หากแต่เทคโนโลยีใหม่ๆที่เข้ามาบวกกับเ ด็กไทยสมัยใหม่หันไปให้ค่านิยมผลงานต่างชาติมากกว่า ของไทยก็นับวันจะค่อยๆเลือนหายไป

“ปัญหาที่พบตอนนี้คือเหล่าศิลปินทั้งหลายในบ้านเรามีพื้นที่ในการทำงานน้อยมาก ไร้ซึ่งผู้สนับสนุนและอยู่กันตามยถากรรม ทั้งๆที่ศิลปและวัฒนธรรมของชาตินั้นเป็นเหมือนรากเหง้าของแผ่นดิน แต่ตอนนี้ไร้เงาของผู้ที่จะเข้ามาดูแลและสานต่ออย่างชัดเจน ดังนั้นทางคณะกรรมการสมัชชาฯจึงได้จัดให้มีโครงการนำร่องศิลปะภาคประชาชนสัญจรทั่วประเทศ เพื่อปลุกชีพจรของงานศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่น ให้เป็นลมหายใจของประเทศต่อไป” เนาวรัตน์กล่าว


กวีผมสีดอกเลายังบอกเล่าความฝันงานด้านกวีของเขาว่า อยาก “เขียนแผ่นดินภาคอุษาคเนย์” โดยก่อนหน้านี้เมื่อประมาณปี 2533-2536 เดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อเขียนบทกวีบันทึกเรื่องราวทุกจังหวัดไว้ในผลงานชุด “เขียนแผ่นดิน” ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมราชินีนาถในวโรกาสเฉลิมพระชนมมายุครบ 60 พรรษา


เนาวรัตน์บอกว่า “เขียนแผ่นดินภาคอุษาคเนย์” ครั้งนี้ เพราะมองว่าอีกไม่กี่ปีประชาคมอาเซียนก็จะเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว ไทยเราควรจะต้องเรียนรู้เพื่อนบ้าน ผ่านงานศิลปะและวัฒนธรรม โดยมีแนวคิดอยากเชิญศิลปินเพื่อนบ้านในอาเซียนมาพบปะพูดคุยใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน แล้วสร้างงานออกมาผ่านมุมมองของแต่ละคน


“จะว่าไปแล้วมันก็เหมือนกับงานอิมเพรสชั่นน่ะครับ งานศิลปะที่กลั่นกรองจากความรู้สึกและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นของศิลปิน ผมว่ามันน่าสนใจมาก เป็นการรู้เขารู้เรา ถ้าเราไม่เรียนรู้และเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเราเองนั่นแหละจะถูกกลืนจนหายไปในที่สุด บ้านเราขาดการจัดการองค์ความรู้ที่ดีมานานแล้วครับ เยาวชนของเราตกเป็นเหยื่อของความทันสมัย ตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยี จนกลายเป็นมนุษย์วัตถุนิยมไปหมดแล้วตอนนี้ วันๆ เอาแต่ก้มหน้าจิ้มๆเครื่องสี่เหลี่ยมในมือ จนละเลยและมองข้ามสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบๆตัวเราไปหมด ซึ่งน่ากลัวมากนะ” เนาวรัตน์กล่าวอย่างเป็นห่วง


เมื่อเราถามถึงมุมมองที่มีต่อเยาวชนของเราในตอนนี้ เขาถอนหายใจและนิ่งไปพักใหญ่ ก่อนจะบอกกับเราว่า "ผมว่าเยาวชนบ้านเรานั้นสนใจแต่เรื่องเฉพาะหน้านะครับ อะไรที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเองเอาไว้ก่อน ไม่สนใจส่วนรวมไม่มองบริบทของเมือง โครงสร้างของสังคมบ้านเรามันถึงได้บิดได้เบี้ยวมาจนถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญคือเราทุกคนตกเป็นเหยื่อของทุนไปกันหมดแล้ว"

เนาวรัตน์ยังกล่าวเสริมอีกว่า “ทุนมันมีสองประเภทนะครับ คือทุนสามานย์กับทุนสัมมา วัตถุประสงค์หลักของทุนนั้นคือการรับใช้สังคม แต่ทุนสามานต์กลับเอาสังคมมารับใช้ทุน จนตอนนี้ทุนสัมมาหรือทุนที่รับใช้สังคมมันเหลือน้อยลงทุกทีแล้ว”


"กิเลสมันเข้ามาครอบงำตัวเรา ครอบงำสังคม จนกลายเป็นว่าการโกงเป็นเรื่องปกติไปแล้วไงครับ และการที่จะรู้ทันกิเลสได้ดีที่สุดคือ เราต้องมีสัมมาทิฐิ หมายถึงคิดดีคิดชอบ หากเราทุกคนมีความคิดที่ดีแล้ว ย่อมนำพาทุกคนไปสู่ความละอายในการทำความชั่วในที่สุด"


ก่อนจากกันเนาวรัตน์ยังฝากอีกหนึ่งความหวังว่า สิ่งที่เขาอยากเห็นมากที่สุดในตอนนี้และอนาคตข้างหน้า คือ การปลูกฝังความคิดที่ดีให้กับสังคม เพื่อเป็นทางรอดที่ดีให้กับบ้านเมือง ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกัน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งเท่านั้น


คนบางคนคิดว่า ...เมื่ออายุเริ่มเข้าสู่เลขเจ็ดนี่เป็นดั่งไม้ใกล้ฝั่งแล้ว แต่สำหรับเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์นั้นกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ 72 ปีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ยังคงเฉียบและคมอยู่เสมอ ดั่งเสี้ยวหนึ่งของกลอนบทหนึ่งที่ว่า ...เทียบทุกคำที่เขียนคือเทียนไข ผู้เผาไหม้ตัวเองเพื่อเปล่งแสง.... เพราะทุกๆตัวอักษรและคมความคิดของเขานั้น ได้เปล่งประกายให้ทางแก่สังคมไทยอยู่ไม่เคยเลือน ...สมกับเป็นกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์จริงๆ
**ชุมนุมเสวนา 72 ปี เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์**

วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม,ม พ.ศ. 2555 ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร

วัน 24 มีนาคม พ.ศ. 2555
08.30 น. ลงทะเบียนผู้เข้าร่วมกิจกรรม
09.00 น. ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กล่าวต้อนรับ นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
กล่าวแสดงความยินดี*
09.30 น. ตัวแทนองค์กรร่วมจัด-แขกผู้มีเกียรติ มอบช่อดอกไม้แสดงมุทิตาจิตแก่
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
10.00 น. ปาฐกถานำโดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส*
11.00 น. เสวนา“ประวัติศาสตร์อาจมีในหลายด้าน:วรรณกรรมและสังคมไทย”
รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มธ.
สมปอง ดวงไสว นักเขียนอิสระ
ผศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ
ดำเนินรายการโดย ทีวีไทย*
12.30 น. พักกลางวัน/รับประทานอาหารตามอัธยาศัย
13.00 น. โหมโรงบทกวีโดย กวีซีไรต์
จิระนันท์ พิตรปรีชา,ศักดิ์สิริ มีสมสืบ,ไพวรินทร์ ขาวงาม,
โชคชัย บัณฑิต’,เรวัตร พันธ์พิพัฒน์,มนตรี ศรียงค์
13.30 น. ประชันกลอนสดจตุรมิตร
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : มหาวิทยาลัยศิลปากร
อำนวยการประชันโดย สุพจน์ ชีรานนท์ชมรมเพื่อนขวัญวรรณศิลป์
ปี่พาทย์โดยวงศิษย์เรืองนนท์ควบคุมโดยครูปู-บุญสร้าง เรืองนนท์
14.30 น. เสวนา“เพียงความเคลื่อนไหว:ชักม้ามองผ่านวรรณกรรมไทย”
ทองแถม นาถจำนง นายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย
เจน สงสมพันธ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ผศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ
ดำเนินรายการโดย วรรณศิริ ศรีวราธนบูรณ์ นิตยสารไฮคลาส*
16.00 น. รับประทานอาหารว่าง
16.30 น. เสวนา ทัศนาอุษาคเนย์:มองเพื่อนบ้านสุวรรณภูมิ
ประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
ทรงยศ แววหงส์ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์*
ดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ.*
ดำเนินรายการ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผอ.สถาบันไทยคดีศึกษา มธ.
18.00 น. มินิคอนเสิร์ต วงคันนายาว พร้อมด้วย
ศิลปินรับเชิญ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี*,ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ และ มงคล สุระสัจจะ
20.00 น. จบรายการ

พิธีกรประจำวัน สุพจน์ ชีรานนท์ : ปวีณา ขจัดโรคา
(หมายเหตุ * วิทยากรอยู่ในระหว่างการติดต่อประสานงาน รายนามอาจมีการเปลี่ยนแปลง)

**ร่วมจัดกิจกรรมโดย**
สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม*
สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม*
สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
สโมสรมิตรภาพวัฒนธรรมสากล
ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
สำนักกิจกรรมสังคม บริษัท ซี พี ออลล์ จำกัด (มหาชน)*
มูลนิธิซีเมนต์ไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น