วธ.ประกาศชื่อ 9 ศิลปินแห่งชาติ “เฉลิมชัย” คว้าสาขาจิตรกรรม “เศรษฐา” ได้นั่งสาขา ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง
วันนี้ (26 ม.ค.) ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) เพื่อพิจารณาคัดเลือกศิลปินแห่งชาติปี 2554 โดยภายหลังการประชุมร่วม 3 ชั่วโมง นางสุกุมล แถลงผลการคัดเลือกเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปิน ผู้มีความสามารถ และอุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจนโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2554 ใน 3 สาขา จำนวน 9 คน ดังนี้
สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ (จิตรกรรม) นายเมธา บุนนาค (สถาปัตยกรรม) นายทองร่วง เอมโอษฐ (ประณีตศิลป์-ศิลปะ ปูนปั้น)
สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นายประภัสสร เสวิกุล(นวนิยายและกวีนิพนธ์) นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี (เรื่องสั้นและกวีนิพนธ์)
สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ นางรัจนา พวงประยงค์ (นาฏศิลป์ไทย-ละคร) นายนคร ถนอมทรัพย์ (ดนตรีสากล-ประพันธ์และขับร้อง) นายเศรษฐา ศิระฉายา (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) และ รศ.สดใส พันธุมโกมล (ละครเวทีและละครโทรทัศน์)
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ความเป็นศิลปินแห่งชาติถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดในชีวิต คนที่ทำงานคณะกรรมการจะเห็นคุณค่า ตนก็เป็นคนทำงานคนหนึ่ง จึงเชื่อมั่นว่า ณ วันหนึ่งคณะกรรมการจะเห็นคุณค่า แต่ไม่คิดว่าจะได้รับการยกย่องรวดเร็วในช่วงอายุเพียง 57 ปี สำหรับการทำงานศิลปะถือเป็นงานยิ่งใหญ่ ประเทศไทยไม่สามารถจะสร้างความยิ่งใหญ่ทางวัตถุเหมือนต่างชาติได้ แต่สามารถสร้างศิลปะให้ยิ่งใหญ่ได้ ดังนั้น ทุกคนจึงถืองานศิลปะเป็นครู ตนก็เป็นเพียงคนๆหนึ่งที่สืบทอดงานจากครูเพื่อฝากไว้ให้กับประเทศชาติ
นายประภัสสร กล่าวว่า รู้สึกดีใจและขอบคุณที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ที่ผ่านมา ทำงานในวงการวรรณกรรมตามหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยไม่ได้มุ่งหวังสิ่งตอบแทนใดๆ โดยหลักคิดหลักทำสร้างวงการวรรณกรรมให้มีความเข้มแข็งและก้าวไปข้างหน้า ผลักดันให้นักเขียนไทยเป็นที่ยอมรับในสังคมทั้งในและต่างประเทศ ตนมีส่วนสำคัญใช้วรรณกรรมส่งเสริมความเข้าใจระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน เนื่องจากเห็นว่าความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องการค้า ธุรกิจ แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนเรียนรู้ผ่านวรรณกรรม จึงมีความเชื่อมั่นว่า ปี 2558 ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน พลังวรรณกรรมจะเป็นส่วนสำคัญสร้างความสามัคคีระหว่างประเทศ
นายทอง ร่วง กล่าวว่า รู้สึกขอบใจหน่วยงานราชการที่เห็นความสำคัญงานปูนปั้นพื้นบ้าน เพราะงานสาขานี้ไม่เคยได้รับการยกย่องมาก่อน ตนเป็นแค่เพียงช่างปั้นปูนบ้านนอก ทำงานปูนปั้นตามวัดไปเรื่อยๆ วันนี้ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ถือเป็นเกียรติสูงสุด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ช่างปูนปั้นเมืองเพชร ถือว่ากำลังได้รับความนิยม ยิ่งมีกระแสคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญ ยิ่งเป็นการต่ออายุสืบทอดงานปูนปั้นเมืองเพชรให้มีความมั่นคงต่อไป
นายนคร กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลนี้ แต่น่าจะได้รับตอนที่อายุยังน้อย จะได้ทำงานให้สังคมมากกว่านี้ ตนทำงานด้านเพลงมาตลอดชีวิต ไม่เคยคิดทำอย่างอื่น เริ่มต้นเป็นศิลปินตั้งแต่อายุ 12 ปี ทำมาตั้งแต่เขียนป้ายโรงหนัง พากย์หนัง แต่งเพลง ร้องเพลง อยู่กับงานนี้มาอย่างต่อเนื่อง งานดนตรีเป็นงานที่ทำให้คนมีความสุข เป็นปัจจัยหนึ่งในชีวิตให้การรักษาบำบัด ปลุกปลอบ แม้กระทั้งงานศพยังมีดนตรีเลย คนที่ทำหน้าที่นี้ควรทำหน้าที่ให้ดีที่สุด จะได้เป็นตัวอย่างของสังคม
นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาตินี้ ประกอบด้วย 3 หลักเกณฑ์ ดังนี้ 1.เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะและเป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนา ศิลปะ รวมถึงเป็นต้นแบบศิลปะแขนงนั้น 2.คุณค่ามาตรฐานผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ เช่น ผลงานต้องสื่อให้เห็นถึงคุณค่าในความดี ความงาม คุณค่าทางอารมณ์ สะท้อนความเป็นธรรมชาติ หรือสถานภาพทางสังคม และวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย เอกลักษณ์ของท้องถิ่นและเอกลักษณ์ของชาติไม่ลอกเลียนแบบจากผู้อื่น และ 3.มีการจัดแสดงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐานอ้างอิง โดยเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด พัฒนาการทางงานศิลปะอย่างเด่นชัด ผลงานได้รับรางวัล หรือเกียรติคุณ ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ
นางปริศนา กล่าวต่อไปว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติมาเมื่อปี 2527 และประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในปีแรกเมื่อปี 2528 จนปี 2553 มีศิลปินสาขาต่างๆ ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติแล้วรวม 212 คน เสียชีวิตไปแล้ว 92 คน มีชีวิตอยู่ 120 คน ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติจะได้รับเงินตอบแทน เดือนละ 20,000 บาท และสามารถเบิกเงินสวัสดิการเพื่อการรักษาพยาบาลได้ตามระเบียบราชการ รวมทั้งมีค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย และหากเสียชีวิต จะมีค่าช่วยเหลืองานศพ 15,000 บาท ค่าจัดทำหนังสือที่ระลึก 120,000 บาท อย่างไรก็ตาม ศิลปินแห่งชาติทั้งหมดจะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันศิลปินแห่งชาติ และในวันดังกล่าวจะมีงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ศิลปินแห่งชาติ พร้อมกิจกรรมการแสดงและนิทรรศการศิลปินแห่งชาติ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย