xs
xsm
sm
md
lg

“มองน้ำเป็นครู” ไปกับ ท่าน ว. วชิรเมธี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แทนที่จะหายห่วง คลายกังวลไปได้อย่างหมดจดหลังจากสถานการณ์น้ำเริ่มดีขึ้นบ้าง แต่กลับกลายเป็นว่าซากปรักหักพังและคราบความเสียหายที่ฝากทิ้งไว้ ยิ่งบั่นทอนจิตใจที่เหี่ยวเฉาจากน้ำท่วมขังมานานของผู้ประสบภัย ให้ยิ่งแห้งเหี่ยวลงกว่าที่เป็นอยู่อีกหลายเท่า เมื่อมองไปทางไหนก็เห็นแต่ความมืดมน หนี้สินเพิ่มพูน ความรู้สึกเกลียดชังเข้ามาแทรกแซง จึงขอให้วางใจหนักๆ มาพักที่ตรงนี้ ที่ที่ “พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี” หรือ “ท่านว.” ได้ชี้ทางสว่างเอาไว้ให้แล้ว



ตอนนี้หลายที่น้ำลดแล้ว แต่มีบางส่วนยังต้องอยู่กับน้ำ อยากให้ท่าน ว. ช่วยให้กำลังใจพวกเขาหน่อย?
อาตมาอยากจะแนะนำว่า ต้องมองน้ำเป็นครู ถ้าเรามองน้ำว่าเป็นเคราะห์กรรม เราก็จะมองว่าเรามีเคราะห์ แล้วมันทำให้จิตตกนะโยมนะ น้ำท่วมไม่ใช่เรื่องเวรเรื่องกรรมอะไรหรอก แต่เป็นเรื่องภัยธรรมชาติบวกภัยมนุษย์รวมกัน ดังนั้นถ้าเราโกรธ ถ้าเราเกลียด เราชิงชัง แล้วเราคิดว่ามันเป็นเวรเป็นกรรมของฉัน การแก้ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น
น้ำท่วมคราวนี้เราต้องเรียนรู้ว่ามันเกิดขึ้นมาจากอะไร เราผิดพลาดตรงไหน และในขณะที่เรากำลังจมน้ำอยู่ เราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างไร ถ้ามองน้ำให้เป็นครูได้อย่างนี้ เราก็จะเติบโตขึ้นมาจากความทุกข์ แต่ถ้าเรามองน้ำว่าเป็นศัตรู เราก็จะทุกข์หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นไปอีก ไม่เพียงแต่น้ำจะท่วมกายเท่านั้น ความโกรธเกลียดชิงชังยังจะท่วมใจของเราด้วย

แล้วคนที่หมดหวัง มองเห็นแต่น้ำ ไม่เห็นอนาคตของตัวเองล่ะ?
อาตมาอยากจะบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเกิดขึ้น วันหนึ่งมันก็ต้องดับลงนะ ต่างแต่ว่ามันจะดับลงเร็วหรือดับลงช้าเท่านั้นเอง ขอให้เราบอกตัวเองเอาไว้อย่างนี้ว่า ฝนคงไม่ตกตลอดปี พายุก็คงไม่พัดอยู่ตลอดเดือน สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นล้วนย่อมมีวันที่จะดับลงอย่างแน่นอน แต่ในระหว่างที่มันยังไม่ดับลง เราก็ต้องระวังรักษาใจ รักษาชีวิตของเรา อย่าให้ใจดับลงก่อนที่ภัยธรรมชาตินั้นจะดับ
เพราะถ้าเราปล่อยจิตปล่อยใจให้หมดสิ้นซึ่งความหวัง ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะพังลงทันที แต่ถ้าเรารักษาใจเอาไว้ ไม่ยอมให้ใจเปียกน้ำ ถึงบ้านสูญ รถสูญ ธุรกิจสูญ แต่ถ้าใจยังอยู่ พอน้ำลง เราก็ลุกขึ้นสู้ใหม่ได้ ฉะนั้นรักษาใจให้ดี อย่าให้สูญเสียกำลังใจ ถ้าสูญเสียกำลังใจก็เหมือนสูญเสียทุกอย่าง แต่หากสูญเสียทุกอย่าง ทว่ากำลังใจยังอยู่ ก็เหมือนกับเรายังคงมีทุกอย่าง

เราจะมองอย่างไรให้ยังคงเห็นกำลังใจดี เพราะมองไปทางไหนตอนนี้ก็เห็นแต่ความเสียหาย?
ขอให้มองว่าเราไม่ได้ทุกข์อยู่คนเดียว ถ้าเราคิดว่าเราทุกข์อยู่คนเดียว เราก็จะกระหน่ำซ้ำเติมตัวเองใช่ไหม ขอให้มองออกไปกว้างๆ ว่าน้ำท่วมคราวนี้ ประชาชนก็ท่วม พระราชวังก็ท่วม บ้านนักการเมืองก็ท่วม กรุงเทพฯ ก็ท่วม ต่างจังหวัดก็ท่วม ท่วมกันถ้วนหน้า ไม่ได้ท่วมเฉพาะเราเพียงคนเดียวเท่านั้น คนอื่นเขาผ่านไปได้ แล้วทำไมเราจะผ่านมันไปไม่ได้ล่ะ หากมองออกไปให้กว้างอย่างนี้ ก็จะเห็นว่าเราไม่ได้ทุกข์อยู่คนเดียว มีคนอื่นร่วมแชร์ทุกข์กับเรามากมาย กำลังใจก็จะเพิ่มขึ้น

แต่ผู้ประสบภัยบางคนรู้สึกว่าน้ำท่วมครั้งนี้ยังท่วมไม่เท่าเทียม ทำให้พวกเขารู้สึกไม่พอใจจนต้องออกมาต่อต้านอยู่เลย
อยากจะให้ทุกคนรักษาใจของเราให้ดี อย่าตกเป็นทาสของความจงเกลียดจงชัง พยายามอย่าปล่อยให้ความรู้สึกเกลียดชังครอบงำจิตใจของเรา แต่พยายามทำความเข้าใจด้วยความรู้เท่าทันว่า ทำไมเขาจึงพยายามปกป้องเมืองหลวง ทำไมเขาจึงยอมให้ต่างจังหวัดท่วมได้ แต่เมืองหลวงท่วมไม่ได้ ถ้าเราพยายามทำความเข้าใจ เราก็จะเกิดความเข้าใจ พอเรามีความเข้าใจ เราก็จะรู้ว่าการแก้ปัญหาที่แท้จริงนั้นจะต้องเริ่มต้นกันยังไง สำคัญที่สุดคืออย่าใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา แต่ถ้าใช้ปัญญาในการทำความเข้าใจ เราก็จะเข้าใจถึงที่มาที่ไปของสิ่งต่างๆ แล้วจิตใจของเราก็จะสงบลง
แต่ถ้าเราอยากจะเรียกร้อง อยากจะฟ้องรัฐ เราก็ควรจะลุกขึ้นมาทำอย่างเป็นงานเป็นการ นั่นคือการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เพราะลำพังการโกรธเกลียดชิงชัง ลุกขึ้นมาด่าทอ ไม่ได้ช่วยอะไร ให้หาโอกาสฟ้องรัฐ ฟ้องเจ้าหน้าที่อย่างเป็นทางการเสีย ซึ่งกฎหมายก็เปิดช่องอยู่แล้ว ด้วยวิธีนั้น อาตมาคิดว่าจะทำให้เราสามารถสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการรับมือกับภัยน้ำท่วมได้ดีกว่าการใช้ความเกลียดชัง

ตอนนี้น้ำลดแล้ว แต่กลับเห็นความเสียหายมากยิ่งขึ้นอีกจนหลายคนไม่มีแรงจะลุกขึ้นสู้แล้ว จะทำอย่างไรดี?
อยากจะบอกว่าน้ำท่วมนั้นมันเป็นมหันตภัยที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจะปฏิเสธมันได้ ฉะนั้นเราต้องยอมรับความจริง เพราะมันเป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว หน้าที่ของเราไม่ใช่การตีโพยตีพาย การตีโพยตีพายจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ดีที่สุดต้องมานั่งถามตัวเองว่ามีอะไรบ้างที่เสียหาย และเราจะแก้ไขกันได้อย่างไร
ปัญหาจะแก้ได้ด้วยการลงมือแก้ไข ถ้าลุกขึ้นมาตีโพยตีพาย ทุกอย่างก็จะแย่ลงไปยิ่งกว่าเดิม ฉะนั้นเมื่อเห็นปัญหา อย่าเผลอไปรวมเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่ต้องหาวิธีลุกขึ้นมาแก้ปัญหาจะดีกว่า ถึงแม้มันจะแก้ยาก แต่ถ้าเราแก้ทุกวัน เดี๋ยวปัญหามันก็หมดไปเอง

ยิ่งซ่อมแซม ยิ่งเห็น ยิ่งทำ ก็จะยิ่งเครียด เราจะมีวิธีจัดการกับความเครียดของตัวเองอย่างไรได้บ้าง?
ก็อยากให้มองโลกในแง่ดีจะดีกว่า มองว่าน้ำท่วมบ้านครั้งนี้มีปัญหามากมายให้เราได้เรียนรู้ ให้เราได้แก้ไข เรายังได้เรียนรู้ต่อไปด้วยว่าถ้าน้ำไม่มา เราก็ไม่รู้ว่าในชีวิตของเรามีอะไรบ้างที่เป็นสิ่งสำคัญ เรายังได้รู้ต่อไปด้วยว่า เรามีภูมิปัญญาในการรับมือกับวิกฤตแค่ไหน เราก็ได้เห็นจิตเห็นใจของตัวเองด้วยว่าอ่อนแอหรือว่าเข้มแข็ง ถ้ามองวิกฤตเป็นโอกาสในการฝึกหัดพัฒนาตัวเอง มองวิกฤติเป็นครูที่จะมาอุ้มชูจิตใจของเราให้สูงขึ้น มองวิกฤติเป็นอาจารย์ที่จะทำให้เราได้ผลิบานขึ้นมาจากความทุกข์ ด้วยท่าทีเช่นนี้เท่านั้น เราถึงจะอยู่ท่ามกลางวิกฤตได้อย่างมีความสุข เหมือนที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ผู้ที่มีปัญญาต้องรู้จักแสวงหาความสุข แม้ในสถานการณ์ที่กำลังเป็นทุกข์”

สำหรับคนที่ต้องสูญเสียกิจการระดับพันล้านคงทำใจไม่ได้ง่ายๆ คนเหล่านี้ควรจะเริ่มจากจุดไหน?
อาตมาก็อยากจะบอกว่าถ้าชีวิตยังอยู่ เราเริ่มต้นใหม่ได้ ตอนที่เราเกิดมา เราตัวเปล่าเล่าเปลือยกันทั้งนั้น เราก็ยังสร้างกิจการต่างๆ มากมายขึ้นมาได้ แล้ววันหนึ่งเมื่อน้ำพัดพาทุกสิ่งไปจากเรา ถึงแม้น้ำจะพัดพาเอาทรัพย์สินของเราไป แต่ความเชี่ยวชาญของเรา ประสบการณ์ของเรา สติปัญญาของเรา ยังคงอยู่อย่างครบถ้วน ซึ่งเมื่อเทียบกับตอนที่เราเกิดมาใหม่ ตอนที่ตัวเปล่าเล่าเปลือย เรายังไม่มีอะไร เรายังสร้างได้ ตอนนี้เรามีทั้งประสบการณ์ มีทั้งภูมิปัญญา มีทั้งเครือข่าย มีทั้งลูกน้อง เรามีอะไรมากมายเหลือเกินที่จะฟื้นธุรกิจของเราได้ ถ้ามองอย่างนี้ ก็ไม่มีอะไรให้ต้องน่าเป็นห่วง
สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล เคยถูกไล่ออกจากบริษัทที่ตัวเองเป็นผู้ก่อตั้ง ถ้าเป็นคนอื่นก็คงล้มแล้วลุกไม่ได้ แต่สตีฟ จ็อบส์บอกตัวเองว่า “เขาแค่ไล่ผมออกจากตึก แต่ไม่ได้ไล่ความสามารถออกจากหัวผมซะหน่อย” ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ เขาจึงได้ตั้งบริษัทใหม่ จนประสบความสำเร็จอย่างที่เห็นทุกวันนี้

หลายคนเริ่มลุกขึ้นมาสู้แล้ว แต่มีปัญหาเรื่องเงินทุน ต้องหันมากู้หนี้ยืมสิน ทำให้มีทุกข์เพิ่มขึ้นไปอีก
ทางธรรมบอกว่า “อิณา ทานัง ทุกขัง โลเก การเป็นหนี้ เป็นทุกข์ในโลก” อาตมาจึงอยากจะบอกว่าเราจะกู้หนี้ยืนสินก็ได้นะ แต่ให้ประเมินตัวเองว่าเราสามารถแบกภาระหนี้สินได้เท่าไหร่ อย่าทำอะไรเกินตัว อย่าจ่ายเกินหน้าตัก ให้ใช้สติให้มาก ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท แล้วเราก็จะสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาใหม่ได้
แล้วถ้าเราอยากจะปลดหนี้ให้ได้เร็ว เราก็ต้องวางแผนจัดการด้านการเงินของเราอย่างเป็นมืออาชีพ ไม่สร้างหนี้ที่ไม่จำเป็น ไม่ลงทุนในสิ่งที่มองไม่เห็นทางว่าจะได้กำไร เลิกใช้ชีวิตเหลวไหล หันมาใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท เห็นคุณค่าของเงินทุกบาททุกสตางค์ รัดเข็มขัดตัวเอง สร้างมาตรการในการบริหารจัดการที่ดีขึ้นมาให้ ถ้าทำได้อย่างนี้ทั้งๆ ที่เป็นหนี้ เราก็อาจจะมีความสุขก็ได้
ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้แยกว่า “หนี้ก็ส่วนหนี้ ใจก็ส่วนใจ” หมายความว่าใจของเราไม่ได้เป็นหนี้ใคร เรารักษาใจของเราให้สู้อยู่เสมอ ส่วนหนี้นั้นเราก็ทำงานไปแล้วก็ใช้หนี้ไป ตามสมมติบัญญัติที่ชาวโลกเรียกว่าไปกู้เขามา ก็ต้องใช้หนี้ไป ก็ให้แยกใจออกมากองหนึ่ง แล้วภารกิจที่ต้องใช้หนี้ให้แยกออกไปอีกกองหนึ่ง ดูแลใจของเราไป ทำงานใช้หนี้ไปโดยการถือหลักว่าหนี้ส่วนหนี้ ใจส่วนใจ ทำได้อย่างนี้ ก็จะยังคงมีความสุขไปท่ามกลางกองหนี้ได้

คนที่เป็นเจ้าหนี้ สงสารก็สงสาร แต่ก็ต้องทวงเงินตามหน้าที่ แล้วจะจัดการกับความสับสนในใจอย่างไร?
อาตมาคิดว่าพบกันครึ่งทางดีที่สุด คนทวงหนี้ก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป แล้วขณะเดียวกัน ก็ใช้ความเห็นอกเห็นใจเข้ามาประกอบด้วย เพราะนี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกตินะ ฉะนั้นเราทวงหนี้ เราก็ทำหน้าที่ของเจ้าหนี้ แต่ในขณะเดียวกันถ้าเขาไม่มี เราก็ต้องใช้เมตตากรุณา นึกดูว่านี่เป็นสถานการณ์ที่เขาตกทุกข์ได้ยาก ก็ไม่ควรจะหน้าเลือดมากเกินไป ใช้เมตตาหันหน้าเข้าหากัน ค่อยพูดค่อยจา ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน สุดท้ายเราก็จะพบกันได้
คนที่ให้กู้ยืมที่อยู่ได้ก็เพราะมีคนมากู้ยืม สองฝ่ายต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ฉะนั้นยามนี้ต้องประคับประคองกัน อย่าขูดรีดกันและกันนะ

มีหลายคนที่ตกงานจากวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ ยิ่งมีห่วงทางครอบครัวด้วย ยิ่งเครียดมาก ท่านว. มีคำแนะนำไหม?
หนึ่ง คงต้องจัดการกับการใช้เงินทุกบาททุกสตางค์อย่างประหยัดและระมัดระวังที่สุด สอง ต้องหางานขึ้นมาทำ อย่านั่งรอ อย่านอนรอ เหมือนคนสิ้นไร้ไม้ตอก งานไม่มีก็ต้องสร้างงานขึ้นมาทำ และสาม บอกตัวเองว่า ไม่ว่าจะทุกข์สาหัสหนักหนาแค่ไหนก็ตาม เราก็ต้องสู้ อย่าท้อ เพราะว่าถ้าเราท้อ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะแย่ลงกว่าเดิม ตราบใดก็ตามที่เรายังคงมีความหวังอยู่ นั่นก็หมายความว่าอนาคตยังคงมีอยู่เสมอ แต่ถ้าเราไม่มีแม้แต่ความหวัง อนาคตมันก็จบสิ้นลงแล้ว ฉะนั้นรักษาความหวังและกำลังใจเอาไว้ให้ดี

บางคนสับสนมาก หางานไม่ได้อาจกลายเป็นโจรจำเป็นก็ได้
อันนี้ไม่ขอแนะนำนะ เพราะมันเป็นการนำชีวิตตัวเองเข้าไปเสี่ยงภัย เป็นการทำอันตรายแก่ผู้อื่น แล้วก็เป็นการสร้างเวรสร้างกรรมใหม่ มันไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่มันเป็นการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาให้ตัวเอง ฉะนั้นใครที่คิดเช่นนั้นก็ขอบิณฑบาตว่าอย่าดีกว่า ถ้าจะหาเงิน หาเงินเย็นดีกว่า อย่าหาเงินร้อน เงินร้อน... มีกินมีใช้ไปก็ไม่มีความสุข เงินเย็น... ถึงแม้ไม่ได้ทำให้เราร่ำรวย แต่เราก็นอนหลับสนิททุกคืน

ระหว่าง “โจรจำเป็น” กับ “โจรโดยตั้งใจ” อะไรผิดบาปกว่ากัน?
ถ้าตั้งใจเป็นโจรก็บาปมากกว่า โจรจำเป็นก็บาปน้อยกว่า เพราะวัดกันที่เจตนา เจตนาแรงกล้าก็บาปมาก เจตนาน้อยก็บาปน้อย เหมือนกับที่ท่านบอกว่ากรรมวัดกันที่เจตนา แต่อย่างไรเสียไม่ว่าจะตั้งใจเป็นโจรหรือโจรจำเป็น พฤติกรรมทั้งคู่ก็ถือว่าเป็นอกุศลธรรม เป็นบาปทั้งคู่

วิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ เห็นคนหลายประเภท โดยเฉพาะประเภทเห็นแก่ตัว ท่าน ว. คิดเห็นอย่างไรบ้าง?
มองให้เป็นเรื่องกำไรของชีวิตดีกว่านะ น้ำท่วมทีหนึ่งก็ได้เห็นอะไรมากมาย ได้เห็นคนไทยออกไปช่วยกัน ได้เห็นดาราไปช่วยน้ำท่วม ได้เห็นทหารอุทิศตนรับใช้พี่น้องประชาชน แล้วก็ได้เห็นคนที่เห็นแก่ตัว ได้เห็นนักการเมืองที่ฉ้อฉล น้ำท่วมคราวนี้เราได้เห็นไส้ทุกขดของสังคมไทย เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามาก ถ้ามองอย่างนี้แล้ว น้ำท่วมคราวนี้ก็มีสิ่งดีๆ เยอะแยะมากมาย อย่าไปคิดว่าน้ำท่วมนำแต่สิ่งเลวร้ายมาให้เรา
หากเปลี่ยนวิธีที่เรามอง เราจะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีด้านที่งดงาม มีด้านที่มีคุณค่าอยู่ ถ้ามองอย่างนี้ น้ำท่วมคราวนี้ก็ถือเป็นเป็นกำไรมหาศาล เป็นบทเรียนที่ล้ำค่าสำหรับเราชาวไทยเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว

แล้วถ้ามีน้ำท่วมครั้งต่อไป เราจะจัดการกับความเห็นแก่ตัวของตัวเองยังไงดี ไม่ให้ไปทำร้ายคนอื่น?
ก็ต้องเตือนตัวเองเอาไว้แล้วล่ะนะว่า ถ้าน้ำมาใหม่ เราต้องฉลาดขึ้นกว่าเดิม ถ้าเรายังคงรับมือน้ำท่วมด้วยวิธีการแบบเดิม ก็แสดงว่าเราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ฉะนั้นต้องบอกตัวเองเสมอว่าเมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้นมา เราต้องมีความฉลาดเพิ่มขึ้น หรือเตือนตัวเองว่า “ความทุกข์มาปลุกให้เราตื่น” ใครก็ตามที่เผชิญทุกข์ครั้งนี้ แล้วทุกข์ครั้งหน้ายังโง่เท่าเดิม ก็แสดงว่าเป็นคนที่ขาดทุนอย่างยิ่ง

ถึงน้ำจะท่วม แต่ยังมีการแบ่งแยก แบ่งของแจกแก่ผู้ประสบภัยตามความชอบพอ พระอาจารย์คิดเห็นอย่างไรบ้าง?
อันนี้ก็สะท้อนคุณภาพคนของประเทศไทยให้เห็นเป็นอย่างดี ซึ่งสะท้อนออกมาอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน เราจะได้รู้ว่าบ้านนี้เมืองนี้มีปัญหาอยู่ตรงไหน เป็นปัญหาของประชาชน เป็นปัญหาของนักการเมือง หรือเป็นนิสัยของคนไทย พอเราเห็นเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อมสลายอย่างนี้ เราก็จะได้รู้กันทีหนึ่งว่านอกจากต้องวางโรดแมปในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนแล้ว เรายังต้องวางโรดแมปในการบริหารจัดการประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคุณภาพของคนไทยอย่างยั่งยืนด้วย
นี่คือข้อดีที่คนไทยได้แสดงกิเลสออกมาให้ได้เห็น เราจะได้ถือโอกาสยกเครื่องประเทศไทยเสียทีเดียว ทั้งคน ทั้งกฎหมาย ทั้งนิสัยใจคอ ทั้งมโนธรรมสำนึกของคนไทย น้ำท่วมใหญ่คราวนี้ถือโอกาสยกเครื่องประเทศไทยโดยองค์รวมพิธีหนึ่งก็นับว่าคุ้ม

เราพอจะมีทางแก้ปัญหาการแบ่งแยกในยามวิกฤติแบบนี้บ้างไหม?
ก็ขอให้ทุกคนขยายขนาดหัวใจให้ใหญ่กว่าเดิม จะโกรธ เกลียด ชิงชัง กันยังไงในยามปกติก็ทำไป แต่ในยามที่อุบัติภัยมาเยือนอย่างนี้ ขอให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไว้ก่อนเป็นดีที่สุด เพราะถึงแม้ว่าเราจะโกรธเกลียดชิงชังกันอย่างไร แท้ที่จริงเราทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ถึงเราจะต่างสีเสื้อ ต่างอุดมการณ์ แต่ในแง่ของความเป็นมนุษย์ เราเหมือนกันทุกๆ คน ฉะนั้นมองกันที่ความเป็นมนุษย์แล้วเราก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

คนที่ห่วงสมบัติ ไม่ยอมอพยพออกมาจากบ้าน ถ้าวิกฤติแบบเดิมเกิดขึ้นซ้ำอีก เขาควรทำอย่างไร?
อันนี้เป็นเรื่องเข้าใจได้นะ เป็นธรรมดาของมนุษย์ อยู่ตรงไหนก็เหมือนต้นไม้ อยู่ตรงไหนนานๆ ก็หยั่งรากลึก คนอยู่ตรงไหนนานๆ รากของเราก็ผูกพันอยู่กับตัวบ้าน บ้านก็คือเรา เราก็คือบ้าน พออยู่ตรงนั้นไปนานๆ เราก็ไม่อยากย้าย ทีนี้ถ้าไม่อยากย้ายก็ขอให้คำแนะนำว่า ระหว่างบ้าน ระหว่างทรัพย์สินกับชีวิต อะไรมีคุณค่ามากกว่ากัน เราต้องเรียนรู้ที่จะสละสิ่งที่มีค่าน้อยเพื่อรักษาสิ่งที่มีค่ามากเอาไว้ เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “จงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ จงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต จงสละทรัพย์ อวัยวะ ชีวิต สิ้นทุกอย่าง เพื่อรักษาธรรม” เมื่อน้ำท่วมบ้านเราต้องมานั่งถามตัวเองว่าอะไรมีคุณค่ามากกว่ากัน แล้วรักษาสิ่งนั้นเอาไว้ให้ดีที่สุด

น้ำลดแล้ว แทนที่จะหายกังวลกัน แต่กลับกลัวว่าจะท่วมซ้ำอีกในอนาคต แล้วอย่างนี้จะมีความสุขได้อย่างไร?
อาตมาว่าอย่ากังวลอนาคต อย่าโศกสลดกับความหลัง เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในปัจจุบันขณะ ซึ่งเป็นเรื่องของวันนี้ให้ดีที่สุดจะดีกว่า เพราะว่าการกังวลเช่นนั้นไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น

ภัยภิบัติที่เกิดขึ้น เขาว่ากันว่าเป็นไปตามคำทำนาย เป็นเคราะห์กรรม จริงหรือเปล่า?
อาตมาไม่เชื่อเรื่องนี้เลยนะ อาตมาว่าเรามองเห็นเหตุปัจจัยอยู่ ง่ายๆ เลยนะ คือหนึ่ง เราเจอพายุเข้า สอง ระบบการจัดการน้ำเราไม่ดี สาม การเมืองแตกแยก และสี่ ประเทศไทยเป็นประเทศลุ่มน้ำ สี่เหตุปัจจัยนี้มันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ใช่เรื่องเคราะห์กรรม น้ำท่วมเป็นเรื่องภัยธรรมชาติบวกภัยมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องเวรเรื่องกรรมอะไร แต่เป็นเรื่องการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องของสภาวะอากาศโลก แค่นั้นเองจริงๆ
ถ้าเราโทษว่าเป็นเคราะห์กรรมของประเทศไทย คำถามก็คือแล้วเมื่อไหร่เคราะห์กรรมของประเทศนี้จึงจะหมด แต่ถ้าเรามองว่าเกิดจากเหตุปัจจัย เราก็จะแก้ไขได้ด้วยสติปัญญาของมนุษย์ธรรมดาๆ อย่างเรานี่เอง

มีอะไรจะบอกผู้ประสบภัยจิตใจห่อเหี่ยวในตอนนี้บ้าง?
ก็ขอให้นึกถึงปลาที่รู้จักว่ายทวนน้ำจึงจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ปลาตัวไหนก็ตามที่ปล่อยให้ตัวเองลอยตามน้ำ นั่นคือปลาตาย ปลาตัวไหนที่ว่ายทวนน้ำ นั่นคือปลาเป็น ขอให้ท่านทั้งหลายเลือกเอาเองว่า เราจะเป็นปลาเป็นที่ว่ายทวนน้ำ หรือจะเป็นปลาตายที่ลอยไปตามน้ำ ขอเจริญพร







---ล้อมกรอบ---
ท่วมแค่ในพิพิธภัณฑ์!
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติหนักหนาอย่างที่เห็นทุกวันนี้คือ “การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด” เมื่อถามถึงเรื่องนี้ ท่าน ว.วชิรเมธี จึงขอแสดงความคิดเห็นสักหน่อย
 

การแก้ไขน้ำท่วมในทัศนะของอาตมานะ ควรทำ 3 ระดับ คือหนึ่ง การทำสังคมสงเคราะห์เฉพาะหน้า คือช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยจิตสำนึกสาธารณะ อย่างที่เราคนไทยเอาข้าวปลาอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคไปช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างนี้แหละ นี่เป็นสิ่งที่ควรทำทันที รอไม่ได้ สองคือ เยียวยาหลังน้ำลด หลังจากนี้รัฐบาลจะต้องระดมทุนลงไปเยียวยานักธุรกิจ ประชาชน คนธรรมดา ให้สามารถตั้งตัวได้ ทั้งในทางเศรษฐกิจ ทั้งในทางจิตวิญญาณ ทั้งในทางสังคม และสาม ต้องหาวิธีวางระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมประเทศไทยอีกต่อไปเป็นอันขาด”
“เราต้องช่วยกันวางระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ถึงขนาดที่ว่าใน 10 ปี 20 ปีข้างหน้า ใครอยากรู้ว่าน้ำท่วมเป็นอย่างไร ต้องพากันไปดูในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น เพราะในความเป็นจริง ไม่มีน้ำท่วมประเทศไทยเหลืออยู่อีกแล้ว”

ส่วนคนที่ไม่ไว้วางใจว่าผู้บริหารประเทศจะทำให้ทัศนะดังกล่าวเป็นจริงได้อย่างทันท่วงที แนะนำให้ลองเสิร์ชหาบทกวีนิพนธ์ของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ที่ชื่อ “มองน้ำเป็นครู” มาอ่านกันดูเสียหน่อย เพื่อเป็นการเตรียมตัวเตรียมใจไว้ เผื่อน้ำท่วมครั้งต่อไป จะได้ไม่ทุกข์มากอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์






แม้ทุกข์จะหนักแค่ไหน ขอให้ยิ้มสู้
แม้จะเสียหายหลายพันล้าน จงอย่าสิ้นหวัง
ความเสียหายอาจทำให้ท้อใจ แต่จำไว้ว่าเรายังแก้ไขได้


แก้ไขไปทีละจุด แล้วจะผ่านพ้นไปได้ในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น