xs
xsm
sm
md
lg

‘วันแห่งความซื่อตรง’ สร้างชาติโปร่งใส สร้างไทยซื่อตรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใครๆ ก็คงรู้ ว่าวันที่ 1 มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์เป็นวันวาเลนไทน์ วันที่ 13 เมษายนเป็นวันสงกรานต์ ฯลฯ นั่นเป็นเพราะวันสำคัญเหล่านี้ ปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้งอยู่บนปฏิทินไทย และอาจกล่าวได้ว่าวันสำคัญเหล่านี้จัดเป็นวันสำคัญเกรดเอที่เป็นวันสำคัญทางราชการเป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้าง
 
แต่เอาเข้าจริงวันสำคัญอื่นๆ ในประเทศไทยยังมีอีกมาก แต่ทว่า มันไม่ค่อยได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักของคนในสังคมเท่าใดนัก ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 3 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันทหารผ่านศึก, 13 มีนาคม วันช้างไทย หรือวันที่ 24 เมษายนซึ่งรัฐประกาศให้เป็นวันเทศบาล และยังมีวันสำคัญอื่นๆ ที่หลายๆ คนไม่เคยแม้กระทั่งจะได้ยินชื่อเสียงเรียงนาม

สาเหตุที่วันสำคัญเหล่านั้นไม่เป็นที่รู้จัก ก็คงเป็นเพราะ เป็นวันสำคัญเกิดใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์ให้ประชาชนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นนั้นๆ

และเมื่อไม่นานมานี้ ‘สมัชชาคุณธรรม’ ซึ่งเป็นการประชุมของเครือข่ายที่ทำงานด้านคุณธรรมในสังคม ก็กำลังจะผลักดันให้ วันที่ 22 กรกฎาคมของทุกปี เป็น 'วันแห่งความซื่อตรง' โดยมีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์ให้เกิดจิตสำนึกด้านความซื่อสัตย์สุจริต เพราะในปัจจุบันคนในสังคมมีท่าทีน้อมรับการคอร์รัปชันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และถ้าการผลักดันสัมฤทธิ์ผล 'วันแห่งความซื่อตรง' ก็จะกลายเป็นวันสำคัญน้องใหม่ของประเทศไทย

ปฐมเหตุ ‘วันแห่งความซื่อตรง’

ในด้านของวัตถุประสงค์ในการตั้งวันนี้ขึ้นมานั้น นพ.พลเดช ปิ่นประทีป อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะประธานกรรมการจัดงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 5 อธิบายถึงไอเดียนี้ว่า โดยปกติแล้วสมัชชาจะมีการจัดประชุมใหญ่ของเครือข่ายที่ทำงานด้านคุณธรรมต่างๆ อยู่แล้ว

โดยจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ สรุปบทเรียนและจังหวะก้าวในการทำงาน รวมทั้งพูดคุยในหัวข้อที่น่าจะเป็นประเด็นของบ้านเมืองในขณะนั้นว่าเป็นเช่นไร เมื่อได้ข้อสรุปก็จะมีการทำพันธสัญญาหรือปฏิญญาระหว่างกัน รวมไปถึงแนวนโยบายที่จะนำเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งในปีนี้หัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือ ‘ความซื่อตรง’ หรือปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เพราะต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้ผลสำรวจจากโพลหลายสำนักสะท้อนตรงกันว่า ประชาชนเริ่มเคยชินกับการทุจริตมากขึ้นเรื่อยๆ

"จริงๆ แล้วความซื่อตรงกับปัญหาเรื่องทุจริตนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ความซื่อตรงนั้นเป็นด้านบวก ขณะที่การทุจริตคอร์รัปชันนั้นเป็นด้านลบ เรามองว่าสถานการณ์บ้านเมืองที่มีเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันนั้นเป็นปัญหาใหญ่ และน่าเป็นห่วงมากๆ เพราะว่าทัศนคติจากการสำรวจของโพล ชี้ให้เห็นเลยว่า เยาวชนเริ่มยอมจำนนต่อเรื่องพวกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าตัวเองได้ประโยชน์ด้วย จากเดิมที่มีประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้กลายเป็น 60-70 เปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งตรงนี้มันแสดงว่าสังคมมันไปไม่ไหวแล้ว เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงเห็นตรงกันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และเราจึงเลือกเรื่องนี้เป็นธีม (สาระสำคัญ) ของงานที่เราจัดขึ้นว่า 'สร้างชาติโปร่งใส สร้างไทยซื่อตรง’

"พอกำหนดรูปแบบได้แล้ว เราก็เล็งเห็นว่า โอกาสที่จะพวกเรา 2,000 กว่าคนจะมาพบกันได้นั้นค่อนข้างยาก ก็เลยมานั่งคิดว่า น่าจะมีข้อเสนออะไร ในที่สุดเราก็ตกลงกันว่า สิ่งที่เราจะทำกันนั้นก็คือ เราอยากให้มี 'วันแห่งความซื่อตรง' เป็นวันประจำปีเพื่อทำการรณรงค์และนัดหมายของเครือข่ายว่าจะทำเรื่องนี้ในเรื่องเดียวกันทั่วประเทศ"

ซึ่งในทางปฏิบัติ นพ.พลเดช กล่าวว่า นอกจากเรื่องวันรณรงค์แล้ว ทางสมัชชาคุณธรรม ยังให้ความสนใจกับการจัดทำแผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 ซึ่งเกิดจากการระดมความคิดของเครือข่ายทั้งหมด โดยเนื้อหาจะเน้นเกี่ยวกับเรื่องการรณรงค์จิตสำนึกของสังคมเป็นหลักเพื่อไม่ให้ยอมจำนนต่อการคอร์รัปชัน ผ่านการนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น หากเป็นเรื่องสื่อ ก็จะมีออกมาในรูปของสปอตโฆษณา สารคดีสั้น หรือละครที่มุ่งเน้นเสนอแนวคิดนี้ การจัดประกวดร้องเพลง วาดภาพ เขียนเรียงความ ทำหนังสั้น หรือการยกย่องและมอบรางวัลให้แก่คนที่มีความซื่อตรงในวงการต่างๆ รวมไปถึงการบอยคอต ไม่คบค้าสมาคมกับบุคคลหรือนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชัน

ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้จะต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปี เพื่อผลตอบรับในระยะยาว

‘ความซื่อตรง’ เป็นสิ่งที่ขาดแคลนในระบบทุนนิยมสามานย์
 
จากเหตุผลที่ นพ.พลเดช ยกมาชี้แจง แสดงให้เห็นว่า สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมองว่า 'ความซื่อตรง' ซึ่งน่าจะเป็นคุณสมบัติที่มนุษย์ที่ดีพึงมี ได้เลือนหายไปจากคนในสังคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และต้องผลักดันเรื่องนี้ให้ขึ้นเป็น ‘วาระแห่งชาติ’

“ตอนนี้สังคมไทยมันถูกครอบงำไปด้วยลัทธิวัตถุนิยมบริโภคนิยม เห็นว่าการแสวงหาความมั่งคั่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิต สิ่งเหล่านี้มันค่อยๆ บั่นทอนสั่งคมไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่การปรากฏตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ ‘ทุนนิยมสามานย์’ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มันยิ่งทำลายคุณธรรมไปเยอะ เรียกได้ว่าเงินมันซื้อได้เกือบทุกอย่าง ระบบการศึกษาไทยก็ล้มเหลว เป็นการศึกษาที่เราไม่ยึดติดกับรากเหง้าของเรา ครูก็ไม่มีความเป็นครู ถูกกระแสเงินตราครอบงำหมด”

รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายถึงความเสื่อมโทรมของสังคมที่ถูกระบบทุนนิยมครอบงำและกัดกินคุณธรรมในจิตใจคน จนความซื่อตรงกลายเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีอยู่ตามธรรมชาติอีกต่อไป

และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นดินแดนมีพระพุทธศาสนาซึ่งให้ความสำคัญกับความซื่อตรงอยู่ก็ตาม แต่ทุกวันนี้มีความเป็นปัจเจกของบุคคลมากขึ้น ไม่ค่อยได้นำเอาศาสนาเข้ามาใช้ในชีวิต ซึ่งมันส่งผลต่อความซื่อตรงในใจคน รศ.ดร.สุวินัย กล่าวว่า คนเรามุ่งแสวงหาแต่เงินและห่างวัดมากขึ้น อีกทั้งมีชีวิตอยู่เพื่อสนองความพอใจส่วนตัว จิตสำนึกเรื่องสาธารณะก็ลดน้อยลง เหมือนงูที่กินหางตัวเอง ไม่มีวันพบความสุขที่แท้จริงได้

นอกจากทัศนะของนักวิชาการแล้ว ในทัศนะของดารานักแสดงผู้เป็นเจ้าของรางวัลบุคคลต้นแบบประจำปี 2554 ผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่กับงานเผยแผ่คุณธรรม จริยธรรม อยู่เป็นประจำอย่าง 'กิ๊ก' มยุริญ ผ่องผุดพันธุ์ ก็แสดงมุมมองของเธอต่อปรากฏการณ์ที่ผู้คนเริ่มยอมรับการคอร์รัปชันและให้ความสำคัญกับความซื่อตรงน้อยลง

“สมัยนี้ มักพูดว่าโกงไม่เห็นเป็นไรเลย โกงแต่เขาทำงาน พอได้ยินประโยคนี้ขึ้นมาแล้วก็ตกใจ จริงๆ แล้ว การโกงคือสิ่งที่ไม่ดี แต่สังคมวัตถุนิยมทุกวันนี้กลับมองว่าไม่ใช่สิ่งผิด ซึ่งมันเป็นสัญญาณที่น่ากลัวมาก”

ทั้งนี้ เธอมองว่าการที่จะมีวันซื่อตรงแห่งชาตินั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี และเธอเองก็เห็นด้วย เพราะเป็นการช่วยให้ระลึกว่าวันนี้เรามีความซื่อสัตย์หรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีการสานต่อโครงการเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริง อย่างเป็นรูปธรรม

“มันอาจจะช่วยได้บ้าง คือเหมือนวันแห่งความรัก หรือวันอะไรสักอย่างที่มีใน1 ปี ให้เราได้ระลึกว่า วันนี้เราได้มีความซื่อสัตย์ กิ๊บว่ามันก็เป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ต้องแก้คือ ผู้ที่เป็นตัวอย่างให้กับประชาชน ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ทุกคนต้องย้อนกลับมาดูว่า สิ่งต่างๆ หรือนโยบายต่างๆ เรามุ่งมั่นที่จะทำตรงนี้จริงรึเปล่า ไม่ใช่สักแต่พูด”

วาระของสังคม แต่คนในสังคมอาจมองว่าไม่ใช่วาระ

คงเป็นอย่างที่มยุริญว่าเอาไว้ เพราะถึงแม้จะมีการกำหนดวันแห่งความซื่อตรงขึ้นมา แต่ถ้าไม่มีการสานต่ออย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่มีใครให้ความสำคัญ วันแห่งความซื่อตรงก็จะเป็นวันสำคัญที่มีแต่ชื่อ
ในประเด็นนี้ ชลเทพ ปั้นบุญชู นักวิชาการอิสระด้านสังคมศาสตร์และวัฒนธรรมให้ความเห็นว่า การที่วันสำคัญวันใดวันหนึ่งจะถูกสถาปนาขึ้นมาได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่ามันมีเรื่องราวอยู่เบื้องหลังเพียงใด และคนในสังคมจะเห็นความสำคัญของเรื่องราวนั้นหรือไม่

“ยกตัวอย่างวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่คณะราษฎร์ประสบความสำเร็จในการได้ประชาธิปไตยมา มันก็มีความสำคัญในระดับหนึ่งเลยนะ แต่คนไทยไม่ค่อยรู้จักกันว่ามันเป็นวันอะไร ส่วนวันแห่งความซื่อตรงที่จะตั้งขึ้นนั้น มันไม่ได้มีเรื่องราวในตัวเองเท่าไหร่ อาจจะถูกตั้งขึ้นแต่สุดท้ายก็อาจจะหายไปได้เช่นเดียวกัน"

“ประเด็นต่อมา วันแบบนี้มันถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อกลไกใดกลไกหนึ่ง มันมีความหมายและมีฟังก์ชันของมันเฉพาะตัว คือวันอย่างนี้มันมักจะเกิดจากโครงสร้างปัญหาหรือวิกฤตสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาก็เลยพยายามสร้างจิตสำนึกโดยการตั้งวันขึ้นมา แล้วก็ให้ประชาชนส่วนใหญ่รู้ว่ามีวันในลักษณะนี้แล้ว สร้างความรู้สึกร่วมกันว่าวันนี้เราต้องให้เป็นวันแห่งความซื่อตรงที่เราจะต้องสำนึกว่าเรามีความซื่อสัตย์”

ชลเทพกล่าวต่อไปว่า วันสำคัญส่วนใหญ่นั้น รัฐเป็นผู้กำหนด แล้วมันก็เปลี่ยนแปลงกันไปเรื่อยๆ อย่างสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม กับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีการกำหนดวันสำคัญที่ไม่ตรงกัน

“ดังนั้น ผมว่าวันสำคัญมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แล้วที่สำคัญวันบางวันถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้กำหนดโดยรัฐ มันก็อาจจะมีความสำคัญมากกว่าวันที่กำหนดโดยรัฐก็ได้ อย่างวันภาษาไทยแห่งชาติอาจจะสำคัญน้อยกว่าวันวาเลนไทน์ คือเรากำหนดวันภาษาไทยแห่งชาติขึ้นมาเพื่อให้คนไทยรู้สึกสำนึกถึงความสำคัญของภาษาไทย แต่เด็กส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าวันวาเลนไทน์มีความหมายมากกว่า"

“คือเรื่องบางเรื่อง ถึงแม้มันจะเป็นวาระของสังคมก็จริง แต่ถ้าคนในสังคมมองว่าไม่ใช่วาระของตนเอง ทุกอย่างก็จบ”

……….

ดังนั้น โอกาสที่วันแห่งความซื่อตรงจะกลายเป็นวันสำคัญของไทยที่มีความหมาย ก็คงจะมีมากพอๆ กับการที่วันนี้กลายเป็นวันที่มีแต่ชื่อและไม่มีใครสนใจ ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนในสังคมจะเห็นความสำคัญของความซื่อตรงแค่ไหน
จริงอยู่ ถ้าสังคมมองเรื่องของความซื่อตรงว่าเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย และไม่ยี่หระต่อความคดโกง สังคมนี้ก็คงเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่ แต่เท่าที่ผ่านมา ก็เห็นได้ชัดแล้วว่าประเทศไทยได้เคลื่อนตัวไปสู่จุดนั้นแล้วจริงๆ และวันแห่งความซื่อตรงก็เป็นเพียงแค่ความพยายามหนึ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง
 

>>>>>>>>>>

ปฏิทินวันสำคัญ (ที่ไม่สำคัญ??)

แม้ ‘วันแห่งความซื่อตรง’ จะยังฟังดูประหลาดหูและไม่คุ้นชิน ถ้าลองไปย้อนสำรวจดู เมืองไทยมีวันสำคัญแปลกๆ ประดับอยู่บนปฏิทินไม่ใช่น้อย ลองมาดูกันดีกว่า ว่าวันสำคัญที่ไม่ใช่วันสำคัญของชาติที่เป็นวันหยุดราชการ ซึ่งคนทั่วไปไม่รู้จัก มีวันอะไรบ้าง
- 14 มกราคม วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ
- 2 กุมภาพันธ์ วันเกษตรแห่งชาติ
- 3 กุมภาพันธ์ วันทหารผ่านศึก
- 10 กุมภาพันธ์ วันอาสารักษาดินแดน
- 22 กุมภาพันธ์ วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก
- 24 กุมภาพันธ์ วันศิลปินแห่งชาติ / วันปลอดควันพิษจากไฟป่า
- 26 กุมภาพันธ์ วันสหกรณ์แห่งชาติ
- 13 มีนาคม วันช้างไทย
- 21 มีนาคม วันกวีนิพนธ์สากล / วันดาวน์ซินโดรมโลก
- 22 มีนาคม วันน้ำของโลก
- 1 เมษายน วันออมสิน
- 2 เมษายน วันรักการอ่าน วันอนุรักษ์มรดกไทย
- 13 เมษายน วันการประมง
- 22 เมษายน วันคุ้มครองโลก
- 24 เมษายน วันเทศบาล
- 5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลก
- 29 กรกฎาคม วันภาษาไทยแห่งชาติ
- 18 สิงหาคม วันวิทยาศาสตร์
- 10 กันยายน วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก
- 19 ตุลาคม วันเทคโนโลยีของไทย
- 25 พฤศจิกายน วันประถมศึกษาแห่งชาติ
- 1 ธันวาคม วันเอดส์โลก
- 4 ธันวาคม วันสิ่งแวดล้อมไทย
- 16 ธันวาคม วันกีฬาแห่งชาติ
 

...........

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK
กำลังโหลดความคิดเห็น