นักวิชาการแดง “เกษียร” โพสต์เฟซบุ๊กโจมตีนักเขียนซีไรต์ แต่งกลอนเปรียบทหารชายแดน กับเสื้อแดง ได้เงินล้านคิดนามธรรมไม่เป็น อ้างทหารทำงานให้รัฐตามกฎหมาย เหน็บใช้ภาษาสูงคิดตื้น เจ้าตัวโต้กลับทุกคนมีสิทธิ์ตั้งคำถาม แม้คนละเรื่อง แต่มีคนเปรียบเทียบ กังขายุติธรรมดีแล้วหรือ เหตุใดรัฐชิงเรื่องนี้ ทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด ยันไม่ได้ค้านหัวชนฝา เชื่อมีสามัญสำนึก
เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2555 นายไพวรินทร์ ขาวงาม นักเขียนบทกวี เจ้าของรางวัลซีไรต์ และบรรณาธิการ โพสต์ข้อความเป็นบทกลอนวิจารณ์ความไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมในการจ่ายเงินเยียวยา ระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง กับทหารหาญที่เสียชีวิต เพราะปกป้องชาติ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ไพวรินทร์ ขาวงามฯ ความว่า...
เจ็ดล้านเจ็ด!?
เจ็ดล้านเจ็ด, เผด็จใจ, ให้เจ็บเจ็บ,
มิใช่เรื่อง, เล็บเล็บ, เจ็บถึงหัว,
ยุติธรรม, สำลัก, ทะลักตัว,
ปรองดองรั่ว, กระอัก, ทะลักใจ,
ทหารตาย, ชายแดน, แสนอนาถ,
คลุมธงชาติ, กลับบ้าน, สะท้านไหว,
รับเงินแค่, หลักแสน, แผ่นดินไทย,
มิเคยได้, หลักล้าน, ทางการเมือง,
จลาจล, วุ่นวาย, หลากหลายกลุ่ม,
ผู้ชุมนุม, เลว-ดี, กี่ร้อยเรื่อง,
สู้แล้วได้, ตายแล้วรวย, ด้วยแค้นเคือง,
ภาษีเปลือง, เวทนา, ประชาชน,
“อย่ากลับบ้านมือเปล่า”, ใครเล่าประกาศ,
ชีพเหลือเชื่อ, เพื่อชาติ, หรือฉ้อฉล,
การเรียกร้อง, ประชาธิปไตย, ไยพิกล,
เซ่นวังวน, เจ็ดล้านเจ็ด, เผด็จการ!?
๑๒ มกราคม ๒๕๕๕
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มี.ค.นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำบทกวีดังกล่าวมาไว้ที่เฟซบุ๊ก Kasian Tejapira โดยจั่วหัวเอาไว้ว่า “ปัญหาของกวี/ศิลปินรักชาติ ที่คิดนามธรรมไม่เป็น” กล่าวตอบโต้ว่า ประเด็นของนายไพวรินทร์ ไม่ต่างจาก นายวสันต์ สิทธิเขตต์ ที่เขียนสเตตัสในเฟซบุ๊กก่อนหน้านี้ กล่าวคือ มองไม่เห็น ไม่สามารถเข้าใจว่ารัฐเอาชีวิตพลเมืองของรัฐโดยมิชอบไม่ได้ ว่า อำนาจรัฐต้องถูกจำกัดโดยสิทธิเหนือร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของผู้คนพลเมือง เมื่อไหร่รัฐไปละเมิดสิทธิเหล่านั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (ฆ่า ทำร้าย โดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย คือไปละเมิดสิทธิของพลเมืองโดยมิชอบ) เมื่อนั้นรัฐใช้อำนาจเกินเลย และต้องรับผิดชอบชดใช้
“มันคนละเรื่องเลย กับทหารที่ไปรบกับข้าศึกแล้วตายที่ชายแดน ในกรณีหลังนั้น เขาทำงานให้รัฐตามกฎหมาย รัฐสั่งให้เขาไปรบไปเสี่ยงสละชีวิตตามกฎหมาย รัฐไม่ได้ละเมิดสิทธิหรือใช้อำนาจเกินเลยต่อทหารเหล่านั้นแต่อย่างไร ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมันคนละแบบ คนละเรื่อง และเพราะคนละแบบ จะเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือครอบครัวผู้อยู่หลังของทหารเหล่านั้นผู้ประกอบคุณงามความดีและเสียสละเพื่อชาติก็ย่อมทำได้ อย่าว่าแต่เจ็ดล้านเจ็ดเลย สิบล้านก็ได้ แต่ไม่ใช่เป็นค่าชดเชยที่รัฐละเมิดสิทธิของทหารเหล่านั้น เพราะรัฐไม่ได้ละเมิด กวีคิดนามธรรมไม่เป็น เป็นเรื่องน่าเศร้า คือมีอิทธิพลมาก แต่น่าเสียดายที่ใช้ความสามารถทางภาษาสูงของตัวแพร่ความคิดที่ตื้นเขินผิดๆ ออกไป”
อย่างไรก็ตาม วานนี้ (23 มี.ค.) นายไพวรินทร์ ได้โพสต์ข้อความกล่าวถึง นายเกษียร หัวข้อ “บันทึกถึง Kasian Tejapira” ระบุว่า บทกวีที่ตนโพสต์แค่แนวคิดหรือมองเห็นต่างกัน ซึ่งเฉพาะจากข้อเขียนนี้ ตนก็ไม่เห็นนายเกษียรจะแพร่ความคิดที่ถูกต้องเป็นธรรม เราต่างมีสิทธิ์ตั้งข้อคำถามในข้อกังขาเรื่องการชดใช้-เยียวยามิใช่หรือ ว่า เป็นเกมการเมือง หรือบริสุทธิ์ยุติธรรมเท่าเทียมกันทุกฝ่ายแล้ว แม้กรณีการเสียชีวิตของทหารชายแดนที่ตนเปรียบเทียบจะเป็นคนละเรื่องกัน แต่สามารถนำมาเปรียบเพื่อถามใจว่ายุติธรรมดีแล้วหรือ ซึ่งไม่ใช่ตนคนเดียว แต่มีคนถามมากมายถึงขนาดทำตารางสถิติเปรียบเทียบ ซึ่งเรามีสิทธิ์คิดและสะเทือนใจ หลายกรณีผู้ถูกรัฐละเมิด มิได้มีแค่ที่กรุงเทพฯ ในปี 2553 เท่านั้น และคดีความยังไม่สิ้นสุด เหตุใดรัฐรีบชิงทำเรื่องนี้
นอกจากนี้ ยังกังขาถึงคำพูดที่ว่า “อย่ากลับบ้านมือเปล่า” มากกว่า มิได้หมิ่นแคลนกลุ่มผู้ชุมนุม หรือผู้บาดเจ็บล้มตาย ซึ่งตนไม่คัดค้านหากมีการชดใช้เยียวยา แต่ถามถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรมในกระบวนการ และเรื่องการปรองดอง ก็มีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถามว่า นี่เป็นแค่เกมการเมือง หรือเป็นความบริสุทธิ์ยุติธรรมที่มีการพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว วันนี้คดีความก็ยังดำเนินอยู่ ความจริงก็ยังสับสน แต่เหตุใดการรีบชิงทำอะไรต่างๆ จึงปรากฏชัดอย่างผิดสังเกต อย่างไรก็ตาม ตนไม่ใช่คนฉลาดรอบรู้ ไม่ใช่อาจารย์ นักวิชาการ นักทฤษฎี นักประวัติศาสตร์ แต่ตนเชื่อว่าตัวเองมีสามัญสำนึกในการรู้สึกนึกคิด กับเหตุการณ์ที่สัมผัสรับรู้ด้วยหัวใจ
“ผมไม่ได้คิดจะแพร่ความคิดผิดๆ ใดๆ แต่ผมอาจคิดผิดจากคุณ คิดไม่เหมือนคุณ แค่ตั้งคำถามจากความข้องใจ มิได้ไปคัดค้านหัวชนฝาอะไร ถ้าจะเยียวยาก็เยียวยา ถ้าจะปรองดองก็ปรองดอง แต่ความเป็นจริง ความเป็นธรรม เราก็ต้องพิสูจน์กัน การหลับตาเยียวยา ปรองดอง โดยปิดบังซ่อนเร้นความเป็นจริง ทำลืมๆ แล้วๆ กันไป ผมก็เห็นแต่ปัญหารออยู่เบื้องหน้า หนักหนากว่า "ปัญหาของกวี/ศิลปินรักชาติ ที่คิดนามธรรมไม่เป็น" เสียอีก!” นายไพวรินทร์ กล่าว
สำหรับข้อความที่นายไพวรินทร์ตอบโต้นายเกษียร มีดังต่อไปนี้
“มันก็แค่คิดต่าง หรือมองเห็นต่างกัน มิใช่หรือครับ Kasian Tejapira ไม่เห็นจะคิดนามธรรมเป็น-ไม่เป็นตรงไหน? เป็นเรื่องน่าเศร้าตรงไหน? น่าเสียดายตรงไหน? หรือแพร่ความคิดที่ตื้นเขินผิด ๆ ออกไปตรงไหน? เพราะจะว่าไปแล้ว ผมก็ไม่เห็น Kasian Tejapira แพร่ความคิดที่ถูกต้องเป็นธรรม หรือลึกล้ำอะไรมากมาย เฉพาะจากข้อเขียนนี้
เราต่างมีสิทธิ์ตั้งข้อคำถามในข้อกังขาเรื่องการชดใช้-เยียวยามิใช่หรือครับ? ว่า เป็นเกมการเมือง หรือบริสุทธิ์ยุติธรรมเท่าเทียมกันทุกฝ่ายแล้ว? จริงอยู่ เรื่องที่ผมถามเปรียบเทียบ มันคนละเรื่องกัน แต่คนละเรื่องนั่นแหละที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันเพื่อถามใจกันดู ว่ามันยุติธรรมดีแล้วหรือ? คนเขาถามกันมากมาย มิใช่เพียงผมคนเดียว ถึงกับมีการทำตารางสถิติเปรียบเทียบให้ดูก็ไม่น้อย ใช่-มันไม่เกี่ยวกัน แต่เรามีสิทธิ์คิดและสะเทือนใจหลายกรณี ผู้ถูกรัฐละเมิด มิได้มีแค่ที่กรุงเทพฯ ในปี ๒๕๕๓ เท่านั้นหรอกครับ และเรื่องนี้คดีความก็ยังไม่สิ้นสุด ความจริงก็ยังไม่ปรากฏรอบด้าน เหตุใดรัฐรีบชิงทำเรื่องนี้?
ผมว่าผมกังขานโยบายรัฐวันนี้ หรือกังขาผู้พูดคำว่า "อย่ากลับบ้านมือเปล่า" มากกว่า มิได้หมิ่นแคลนกลุ่มผู้ชุมนุม หรือผู้บาดเจ็บล้มตาย เพราะถ้าจะต้องมีการชดใช้-เยียวยา ผมก็มิได้คัดค้านอะไรเลย แต่ถามถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรมในกระบวนการของมัน ถึงวันนี้ผมก็ยังได้ยินคนถามเรื่องนี้กันอยู่เลย ด้วยถ้อยคำแรงๆ และกล่าวหาร้ายๆ มากกว่าผมด้วยซ้ำ
อย่างเรื่องการปรองดองนี่อีก เราก็มีสิทธิ์ตั้งคำถามมิใช่หรือครับ? นี่เป็นแค่เกมการเมือง หรือเป็นความบริสุทธิ์ยุติธรรมที่มีการพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว ผมก็เห็น Kasian Tejapira ตั้งคำถามเรื่องเรื่อง “จำ” เรื่อง “ลืม” อยู่มิใช่หรือครับ? ผมว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจทีเดียว ถึงวันนี้คดีความก็ยังดำเนินอยู่ ความจริงก็ยังสับสน แต่เหตุใดการรีบชิงทำอะไรต่างๆ จึงปรากฏชัดอย่างผิดสังเกต
ผมมิใช่คนฉลาดรอบรู้สูงส่งลึกล้ำหรอกครับ มิใช่อาจารย์ มิใช่นักวิชาการ มิใช่นักทฤษฎี มิใช่นักประวัติศาสตร์ แต่ผมก็เชื่อว่าตัวเองมีสามัญสำนึกในการรู้สึกนึกคิด กับเหตุการณ์ที่สัมผัสรับรู้ด้วยหัวใจ ไม่ต้องเสียเวลาน่าเศร้าน่าเสียดายอะไรกับผมหรอกครับ ถ้าจะกรุณาก็ลองไปอ่าน “ฟ้าเดียวกัน” ที่เขานำกลอนของผมไปเทียบเคียงกับคำสำรากไร้วัฒนธรรมนั้นบ้างเถอะครับ
ขอยืนยัน ผมไม่ได้คิดจะแพร่ความคิดผิดๆ ใดๆ แต่ผมอาจคิดผิดจากคุณ คิดไม่เหมือนคุณ แค่ตั้งคำถามจากความข้องใจ มิได้ไปคัดค้านหัวชนฝาอะไร ถ้าจะเยียวยาก็เยียวยา ถ้าจะปรองดองก็ปรองดอง แต่ความเป็นจริง ความเป็นธรรม เราก็ต้องพิสูจน์กัน
การหลับตาเยียวยา ปรองดอง โดยปิดบังซ่อนเร้นความเป็นจริง ทำลืมๆ แล้วๆ กันไป ผมก็เห็นแต่ปัญหารออยู่เบื้องหน้า หนักหนากว่า "ปัญหาของกวี/ศิลปินรักชาติ ที่คิดนามธรรมไม่เป็น" เสียอีก!
ด้วยความเคารพ ที่ผมเคยเข้าไปขอสัมภาษณ์ Kasian Tejapira สมัยทำ “ปาจารยสาร”
ไพวรินทร์ ขาวงาม
ศุกร์ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๕”