xs
xsm
sm
md
lg

วาไรตี้ : ‘พระนครศรีอยุธยา’ ความงดงามและมนต์เสน่ห์ของ ‘กรุงเก่า’ หลังมหาอุทกภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


‘อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
สิงหาสน์ปรางค์รัตนบรร- เจิศหล้า
บุญเพรงพระหากสรรค์ ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง’
(กวีนิพน์บทหนึ่งจาก นิราศนรินทร์)

หลายๆ คนคงเคยได้ยินนิเรศนรินทร์กันมาบ้าง ซึ่งกวีนิพนธ์บทข้างบนนี้ได้กล่าวถึงอยุธยาที่แตกไปแล้ว แต่ความงามของปราสาทพระราชวังยังคงอยู่ และนิราศนรินทร์นี้เป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นยุคของรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่เนื้อหายังไม่เคยตกยุคจนถึงทุกวันนี้ 

ความงดงามของกรุงเก่ายังคงไม่คลายไปไหน แม้ว่าอยุธยาจะถูกตีแตกไปถึงสองครั้ง ถูกเผาบ้านเผาเมือง นำทรัพย์สินเงินทองแก้วแหวนเพชรนิลจินดาและสิ่งของมีค่าเลอยศไปหมด หรือแม้ภัยพิบัติจากมหาอุทกภัยล่าสุด ที่เมืองอยุธยากรุงเก่าถูกน้ำท่วมสูงเสียหายไปอย่างมาก แต่ความเป็นไทย ความสวยงามและมนต์เสน่ห์แห่งอยุธยาก็ยังคงดำรงอยู่

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณเกือบๆ ครึ่งปีก่อน ประเทศไทยได้ประสบภาวะน้ำท่วมอย่างหนัก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมืองกรุงเก่าที่ถูกน้ำท่วมอย่างหนักมาก สร้างความเสียหายมหาศาลต่อโบราณสถานอันล้ำค่า แต่มาถึงวันนี้ เหลือทิ้งไว้เพียงร่องรอยของคราบน้ำท่วมที่เหือดแห้งและคราบน้ำตาของคนอยุธยาที่ยังไม่เหือดหายดี

เมื่อวันที่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางบริษัทอมรินทร์ทัวร์ ได้จัด ‘Exclusive trip เมืองมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา’ เยือนกรุงเก่าเล่าอดีตอันยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา ที่ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นเมืองมรดกโลก

เมื่อไปถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาพที่ปรากฏในคลองจักษุ คือซากความเสียหายจากมหาอุทกภัย ยังคงมีร่องรอยของน้ำท่วมให้เห็นบ้างเป็นระยะๆ แต่สภาพโดยรวมแล้วนั้น เกือบเหมือนเดิม 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ผู้คนกลับมาประกอบอาชีพทำมาหากินกันเช่นเดิม โรงเรียนต่างๆ เปิดเรียนตามปกติ

สถานที่แรกที่ไปเยี่ยมเยือนกันก็คือ วัดสุวรรณดารามราชวรวิหาร หรือวัดทอง โดยวัดนี้จะมีเอกลักษณ์อยู่ที่จิตกรรมฝาผนังรูปยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ด้านบนของผนังภายในพระอุโบสถยังรายล้อมไปด้วยภาพเทพพนมนับร้อยองค์ ลอยอยู่ในวิมาน ที่มีขนาดลดหลั่นกันตามระยะใกล้-ไกล ตามลักษณะของทัศนียภาพแบบตะวันตก ในส่วนของพระอุโบสถเดิมนั้นก็โดดเด่นด้วยลักษณะทางสถาปัตยกรรม โดยตัวโบสถ์จะมีลักษณะเหมือนตกท้องช้าง ทำให้คล้ายท้องเรือสำเภา ซึ่งเป็นการเปรียบพระพุทธศาสนาดั่งนาวาธรรม เป็นเอกลักษณ์ของอะโบสถในสมัยอยุธยา

ทางด้านหน้าบันอุโบสถสลักลายเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ และเมื่ออยู่ข้างในอุโบสถนี้จะรู้สึกถึงความเย็นเยียบ เพราะการสร้างในสมัยก่อนนั้น จะสร้างกำแพงสองชั้น โดยจะเว้นช่องว่างระหว่างกันไว้ ทำให้ภายในโบสถ์มีอากาศที่เย็นกว่าภายนอกมากนัก ภาพจิตกรรมฝาผนังจะเขียนเรื่องพระเวสสันดรชาดก เตมีย์ชาดก และสุวรรณชาดก ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนภาพมารวิชัย มีพระแม่ธรณีบีบมวยผมอยู่ตรงกลาง

หลังจากที่ได้สักการะ และเยี่ยมชมความงามของวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร หรือวัดทอง กันไปแล้ว สถานที่ต่อมานั่นก็คือ วัดพระศรีสรรเพชญ์ โดยรถจอดที่ด้านหน้าของวัดมงคลบพิตร เมื่อลงจากรถจะสัมผัสได้ถึงอากาศที่ร้อนอบอ้าวตามแบบฉบับของเมืองไทย แต่ถึงจะร้อนสักเพียงใดก็ไม่ถอย สู้ต่อไปเพื่อชมความงามของกรุงเก่าที่ถูกยกย่องให้เป็นมรดกโลก ทางด้านหน้านั้นจะมองเห็นอุโบสถของวัดมงคลบพิตร ทางด้านซ้ายและขวาจะเห็นซากปรักหักพังของวัดในสมัยก่อน ซึ่งเป็นเสน่ห์ของกรุงเก่า ทางด้านขวาจะเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ เมื่อมองเข้าไปในวัด จะเห็นแต่ซากของโบราณสถานของที่แห่งนี้ แต่ซากเหล่านี้นี่แหละ ที่เล่าประวัติความเป็นมา ความเจริญรุ่งเรืองของไทยในอดีต เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์มากมาย ตั้งแต่เจริญสูงสุดจนถึงวันที่ดับสิ้นแห่งราชธานีนี้

วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดที่สำคัญ เป็นวัดหลวงในพระราชวังโบราณ อยุธยา เทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานคร หรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย เป็นที่สำหรับประกอบพิธีสำคัญต่างๆ จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา

ภายในวัดจะสังเกตเห็นพระพุทธรูปจำนวนมากถูกตัดเศียร ซากอิฐมากมายตามส่วนต่างๆ ของวัด และที่เห็นชัดที่สุดก็คือองค์สถูปเจดีย์ขนาดใหญ่ตั้งเรียงกันจำนวนสามองค์ สององค์แรกนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยองค์แรกสร้างทางทิศตะวันออก เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชบิดา และองค์ที่สอง คือองค์กลาง สร้างเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระบรมเชษฐา และสำหรับเจดีย์องค์ที่ 3 ถัดมาทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (พระหน่อพุทธางกูร) พระราชโอรสได้โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เจดีย์ทั้งสามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังกา ระหว่างเจดีย์แต่ละองค์มีมณฑปก่อคั่นไว้

กองทัพย่อมเดินด้วยท้อง หลังจากที่ได้ชมความงดงามของเมืองกรุงเก่ากันพอสมควรแล้ว ในช่วงเที่ยงๆ ของวัน ได้พักทานอาหารกลางวันกันที่ร้านเรือนไทยไม้สวย ตัวร้านมีลักษณะเป็นบ้านทรงไทยโบราณอายุกว่า 100 ปี ด้านหน้าจัดเป็นสวนหย่อม สัมผัสได้ถึงความเป็นธรรมชาติสีเขียวสบายตา มีกลิ่นหอมๆ ของดอกไม้ไทยนานาชนิด การตกแต่งภายในร้านสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านริมคลอง ในส่วนของอาหารมีอาหารไทยให้รับประทานกันอย่างอิ่มหนำสำราญ ที่สำคัญยังอร่อยถูกปากด้วย

ในส่วนของยามบ่าย ได้ไปที่ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ภายในนี้มีแผนที่เมืองอยุธยาในสมัยนั้นทั้งเมือง มีการจำลองพระบรมมหาราชวัง จำลองเรือสำเภาที่สมัยนั้นใช้ไปมาหาสู่ ซื้อขายสินค้ากันกับชาวจีน

ยามเย็น นั่งรถรางรอบเมือง สัมผัสบรรยากาศของกรุงเก่า แสงแดด สายลม แต่ผู้คนที่อยู่ ณ ที่แห่งนี้ ชมโบราณสถานต่างๆ ทั้งวัดพระราม วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ อนุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทอง พระศรีสรรเพชญ์ ระหว่างทางเห็นคราบรอยน้ำบ้างเป็นระยะ มีนักเรียนที่เลิกเรียนแล้วออกจากโรงเรียน เดินไปซื้อของกิน มีพ่อค้าแม่ค้าขายของกันมากมาย

จากที่นั่งรถรางชมรอบๆ เมืองกันไปแล้ว ก็ไปต่อกันที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ เพื่อมาลงเรือกรุงศรีปริ๊นเซส ล่องเรือรอบเกาะพระนครศรีอยุธยา พร้อมกับรับประทานอาหารเย็นในเรือไปด้วย เมื่อมองไปสองข้างทางก็สัมผัสได้ถึงชีวิตริมน้ำของผู้คนที่นี่ มีบ้านเรือนไทยบ้าง บ้านปูนบ้าง สร้างอยู่ริมน้ำ ได้ล่องเรือผ่านเจดีย์พระศรีสุริโยทัย เจดีย์ทองริมน้ำอนุสรณ์สถานของวีรสตรีไทยพระองค์แรก สมเด็จพระศรีสุริโยทัยซึ่งสิ้นพระชนม์ในการทำสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าแปร และผ่านชมวัดไชยวัฒนาราม ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของนครวัดในประเทศกัมพูชา เนื่องจากในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง อยุธยาได้แผ่อำนาจเขาปกครองเขมรอีกครั้ง จึงได้มีการนำเอารูปแบบปรางค์แบบเขมรมาใช้สร้างเป็นปรางค์ประธานของวัดและสร้างปรางค์รายรอบตามคติภูมิจักรวาล

และสุดท้ายเรือได้มาเทียบท่าที่วัดท่าการ้อง ชมบรรยากาศของวัดในยามเย็น ร้านค้าต่างๆ ได้ปิดตัวกันไปหมดแล้ว เป็นบรรยากาศที่สงบมาก หลังจากที่เดินชมจนทั่วบริเวณวัดแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องกลับไปขึ้นรถเพื่อมุ่งหน้ากลับสู่กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงปัจจุบัน

ในวันนั้นทั้งวัน ทำให้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของเมืองหลวงในอดีตที่เคยรุ่งเรืองของไทย ได้สัมผัสบรรยากาศที่ทำให้เรารู้สึกถึงความเป็นไทย เวลาที่ยืนอยู่ที่โบราณสถาน ก็จะจินตนาการไปว่า ณ ที่ตรงนี้ เวลานั้นเคยมีกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของไทยเคยเสด็จผ่าน เคยประทับอยู่ ในเวลานั้นที่ตรงนี้คงจะงดงามน่าดู แต่ที่ต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ก็เพราะคนไทยแตกความสามัคคี จึงทำให้ข้าศึกโจมตีเราได้ เผาความสวยงามทั้งหมดไป เหลือไว้เพียงแค่ซากปรักหักพังทิ้งไว้ดูต่างหน้า แต่ทุกความเสียหาย ย่อมมีสิ่งที่ดีงามซ่อนอยู่เสมอ ความเสียหายครั้งนั้น ทำให้คนไทยที่เหลืออยู่ช่วยกันฟื้นฟู กอบกู้เอกราชกลับมาจนได้ จึงทำให้มีประเทศไทยอย่างทุกวันนี้
>>>>>>>>>>>

……….
เรื่อง+ภาพ : อารยา ภู่ผึ้ง







กำลังโหลดความคิดเห็น