xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : เล่าขานตำนาน วิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก กับบทบาทการอนุรักษ์ของชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อเดือนพฤศจิิกายน พ.ศ.2551 มีข่าวลงในหนังสือพิมพ์หลายฉบับเป็นกรอบเล็กๆ ระบุว่า สำนักงานองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้มอบรางวัลการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2551 ให้กับวัดปงสนุกเหนือ จ.ลำปาง

เหตุที่ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมจากยูเนสโก ด้วยเกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชน นักวิชาการ ในการฟื้นฟูองค์ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมโบราณและเทคนิคการตกแต่งแบบดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะ การอนุรักษ์วิหารพระเจ้าพันองค์ ซึ่งตามตำนานสันนิษฐานว่า อาจจะสร้างขึ้นในสมัยที่เจ้าอนันตยศ ราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย (ลำพูน) เสด็จมาสร้างเขลางค์นคร (ลำปาง) เมื่อพ.ศ.1223 แต่ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานยืนยันว่า วัดปงสนุกมีอายุย้อนไปถึงสมัยหริภุญไชยแต่อย่างใด

จากการลงพื้นที่จังหวัดลำปางของผู้เขียนและทีมงานรายการธรรมาภิวัตน์ เพื่อนำเสนอเรื่อง “เส้นทางศรัทธา พุทธศาสนา ในจังหวัดลำปาง” ดังที่ออกอากาศ ทางสถานีโทรทัศน์ ASTV ตอนหนึ่งได้มีการเล่าถึงประวัติศาสตร์การสร้างเมืองเขลางค์ ที่ล้อไปกับความรุ่งเรืองทางด้านพุทธศาสนา ซึ่งวัดปงสนุกแห่งนี้ก็มีส่วนเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ดังกล่าว ดังที่พระน้อย นรุตตโม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปงสนุกเหนือ ได้เล่าว่า

“วัดนี้เดิมมีชื่อว่า วัดศรีเชียงภูมิ ประมาณสมัยขุนหลวงพะงั่วของอยุธยา รบกันชนะที่วัดนี้ จึงตั้งชื่อว่า วัดศรีเชียงภูมิ และอีกเรื่องคือ ประวัติศาสตร์ลำปางในช่วงผลัดเปลี่ยน ช่วงการต่อสู้ระหว่างเจ้าฟ้าชายแก้ว กับเจ้าพ่อลิ้นก่าน ซึ่งอ้างสิทธิ์ในการครองเมืองลำปาง จึงมีการดำน้ำชิงเมืองแข่งกันที่วัดนี้ และยังมีในส่วนของประวัติการสร้างเมืองในสมัยโบราณ การสร้างเมืองจะมีการกำหนดวัดเป็นจุดศูนย์กลาง แล้วจึงสร้างส่วนอื่นๆ ตามมา วัดนี้ก็ถือเป็นจุดศูนย์กลางในการสร้างเมืองลำปางที่ 2 ที่ย้ายมาจากวัดพระแก้ว นี่คือแค่ฟื้นขึ้นมา แต่วัดอาจจะมีอยู่ก่อนแล้ว วัดมีอายุมาพันกว่าปีแล้ว ทั้งนี้ ตามหลักฐานทางโบราณคดีที่เจออีกอย่างก็คือ เศษถ้วยชามโบราณที่เจอมีอายุประมาณ 600 กว่าปี ไม่เก่าไปกว่าสมัยล้านนาและไม่ใช่หลังสมัยล้านนา คืออยู่ในยุคสมัยล้านนาพอดี นี่คือส่วนของเศษวัสดุที่ฝังอยู่ และถูกขุดค้นพบลึกลงไปจากม่อนดอยบนวิหารแห่งนี้ลึกลงไปอีกประมาณ 7 เมตร”

พระน้อยได้ตั้งข้อสังเกตถึงการสร้างวัดปงสนุกซึ่งเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การครองเมืองของเจ้าผู้ครองนครเขลางค์ ว่า สอดคล้องกับคติจักรวาลแบบไตรภูมิ ที่เชื่อว่า เขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางของจักรวาล บนยอดเขาพระสุเมรุคือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นที่ประทับของพระอินทร์ผู้ปกครองจักรวาล เหนือขึ้นไปเป็นสวรรค์ ชั้นต่างๆ เขาพระสุเมรุมีภูเขาและน้ำล้อมรอบโดยสลับกันอยู่ 7 ชั้น เรียกว่า “เขาสัตตบริภัณฑ์” และ “นทีสีทันดร” พ้นจาก เขาชั้นที่เจ็ดออกมาเป็นมหาสมุทรขนาดใหญ่ ในมหาสมุทรนี้มีทวีปที่เป็นเสมือนเกาะขนาดใหญ่ 4 แห่งแยกกันอยู่ตามทิศ ต่างๆ ของเขาพระสุเมรุ

“คนธรรมดาจะขึ้นเขาพระสุเมรุได้ต้องข้ามทะเลสีทันดร ก็เปรียบเป็นพื้นทราย ดูจากวัดพระธาตุลำปางหลวงก็มีพื้นทรายโดยไม่เททับเช่นกัน เพื่อเป็นการคงความเชื่อตรงนี้ไว้ โดยมีองค์พระธาตุเป็นแกนกลาง แล้วก่อนจะขึ้นมาเราจะเห็นนาคอยู่ด้านล่าง มีกินรีมีประตูโขง ตรงนี้เราสมมติว่า เป็นป่าหิมพานต์ ต้องผ่านสิ่งเหล่านี้ก่อน จึงจะเข้ามาถึงนี่ได้ คือเข้าถึงแกนกลางจักรวาล ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน” พระน้อย กล่าว

จากบันทึกของครูบาอโนชัยธรรมจินดามุุนี อดีตพระราชาคณะหัวเมือง ที่มีการเก็บรักษาไว้ที่วัดปงสนุก กล่าวถึง การปฏิสังขรณ์วัดปงสนุกเมื่อ พ.ศ.2429 ระบุว่า ครั้งนั้นมีการซ่อมอาคารไม้โถงทรงจตุรมุข เป็นการผสมผสานศิลปะล้านนา พม่า และจีน มีการต่อมุขทั้ง 4 ของวิหารเพิ่มขึ้น ในการซ่อมครั้งนั้น มีคณะศรัทธาจำนวนมากให้ความช่วยเหลือ มีการนำพระพิมพ์จำนวน 1,080 องค์มาติดบนแผงผนังวิหารจึงขนานนามใหม่ว่า “วิหารพระเจ้าพันองค์” ปัจจุบันเหลือของเก่าให้ชมไม่มากนัก ด้วยชำรุดหักไปตามกาลเวลา และบางส่วนก็ย้ายไปอยู่ตามกรุ ของนักสะสม

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวิหารพระเจ้าพันองค์ สร้างด้วยไม้มีลักษณะเป็น มณฑปจตุรมุข หลังคาโลหะซ้อนเหนือ หลังคากระเบื้องดินขอ 3 ชั้น บนสันหลังคา เหนือมุขทั้งสี่สร้างปราสาทไม้จำลองขนาด เล็กหุ้มด้วยสังกะสีฉลุลาย สื่อถึงทวีปทั้งสี่รอบเขาพระสุเมรุ บนชั้นระหว่างหลังคาประดับด้วยรูปแกะสลักกินนรและนกยูง ประดับช่องหน้าต่างด้วยลายฉลุรูปสัตว์ประจำทิศในพระพุทธศาสนา นรสิงห์เทิน หม้อปูรณฆฏะ ภาพชาดกเขียนสีบนพื้นไม้ใส่กรอบกระจก แสดงเรื่องการบำเพ็ญ เพียรของพระพุทธเจ้า นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มมุมระหว่างมุขทั้งสี่ด้าน ตั้งเสาประดับโคนเสารูปกลีบบัว ทำหน้าที่ประดุจฐานจักรวาลรองรับโลกและภพภูมิต่างๆ ห้องกลางวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสี่องค์หันพระพักตร์ออกสี่ทิศ ประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์ทำด้วยตะกั่ว ฐานชุกชีประดับลวดลายรูปช้าง นาค สิงห์ และนกอินทรี

รศ.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการตั้งชื่อวิหารพระเจ้าพันองค์ว่า ครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุุนีต้องการสื่อถืงคติดั้งเดิมของล้านนา ดังปรากฏบนหลักฐานพระพุทธรูปที่สร้างใน ปี พ.ศ.2023 เพื่อถวายแด่วัดพระพันตนเมืองฝาง คตินี้เกี่ยวข้องกับความคิดของศาสนาพุทธสายมหายาน เช่นที่ “Aparimita-Dharani” กล่าวถึงจำนวนพระพุทธเจ้าที่มีมากมายเท่าเมล็ดทรายริมฝั่งคงคา ในล้านนาปรากฏหลักฐานคติพระพันองค์มาก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งคติ นิยมพระเจ้าพันองค์นี้เป็นที่แพร่หลายในทิเบตและจีนในช่วงการค้าไหม ดังปรากฏรูปปั้นที่ถ้ำ “Tun-huang” ซึ่งสร้างเพื่อบูชา “Ts’ien-fo-tongs” หรือพระเจ้าพันองค์นั่นเอง

คุณค่าทางประวัติศาสตร์และความงดงามทางสุนทรียศาสตร์ชั้นสูงของการออกแบบและสร้างวิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก จากอดีตที่เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ก่อให้เกิดความร่วมมือในการสร้างกระบวนการทำงานเพื่อการอนุรักษ์ มาตั้งแต่ปลายปี 2547

อาจารย์อนุกูล ศิริพันธ์ อาจารย์ประจำ วิทยาลัยอินเตอร์เทค ลำปาง ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการอนุรักษ์ กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นมาจากความต้องการของชุมชน แรกสุดจะรื้อเฉพาะหลังคา เพราะหลังคารั่ว พระไม่สามารถเข้าไปทำพิธีกรรมในนั้นได้ แต่จากการปรึกษากับนักวิชาการก็พบว่า วิหารหลังนี้มีความหมาย มีลักษณะ ทางสถาปัตยกรรม มีงานจิตรกรรม มีความหลากหลายอยู่ในนั้น และได้มีการถ่ายทอดข้อมูลเหล่านี้สู่ชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านได้ทราบว่า วิหารหลังนี้มีความสำคัญอย่างไร ก็กลายเป็นกระบวนการอนุรักษ์ที่ทำให้ชาวบ้านตื่นตัว และเราก็หาเงินโดยที่ชาวบ้านจัดทำผ้าป่าขึ้น การศึกษาในครั้งนั้น ทำให้เรารู้ถึงเรื่องราวของชุมชน ของประวัติวัดปงสนุก และที่มาที่ไปอีกหลายๆประเด็น จนพัฒนาไปสู่การทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนท้องถิ่น ภาคเอกชน ศิลปิน และนักวิชาการ”

เมื่อถอดบทเรียนจากการอนุรักษ์วัดปงสนุก จนนำไปสู่การได้รับรางวัลระดับโลกดังกล่าว พบว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนา มีที่มาจากชุมชนเข้มแข็งที่เล็งเห็นคุณค่าของวัดที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในพื้นที่ และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จากนั้นขยายวงกว้างสู่สังคมภายนอก จนนำไปสู่การได้รับรางวัลระดับโลก

แต่เหนือสิ่งอืื่นใด รางวัลที่มีค่าของชุมชน ก็คือการที่คนทุกรุ่นทุกเหล่าได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่คนทั้งชาติร่วมภาคภูมิใจนั่นแล

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 135 มีนาคม 2555 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์)


กำลังโหลดความคิดเห็น