xs
xsm
sm
md
lg

“ส้มโชกุน ไร่วังน้ำค้าง” ผลไม้ขึ้นชื่อของภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้จะเป็นสวนส้มโชกุน ที่เหลือไม่กี่แห่งแล้วในภาคใต้ ท่ามกลางวิกฤติรอบด้าน แต่ “ไร่วังน้ำค้าง” จ.ตรัง ก็ยังคงรักษาคุณภาพและมาตรฐาน โดยเฉพาะการทำให้ปลอดสารพิษ 100%

 
ถือเป็นสวน “ส้มโชกุน” ที่เหลือเพียงไม่กี่แห่งแล้วในภาคใต้ ที่พยายามรักษาสินค้าด้านการเกษตรเอาไว้อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางวิกฤตที่รุมล้อมโหมกระหน่ำในหลายๆ ด้าน ทั้งโรคระบาด คนงานขาดแคลน ต้นทุนสูง หรือดินฟ้าอากาศแปรผัน แต่ด้วย 3 แรงแข็งขันของพี่น้องตระกูล “คงวิทยา” แห่งบ้านปากแคลง ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง จึงยังคงสร้าง “ไร่วังน้ำค้าง” ให้มีคุณภาพและมาตรฐานมาจนถึงปัจจุบัน

นายอดิเรก คงวิทยา วัย 47 ปี เป็นผู้เริ่มต้นบุกเบิกไร่แห่งนี้ ตั้งแต่เมื่อปี 2530 ด้วยการทำเป็นสวนผสม และปลูกผลไม้นานาชนิดลงไป เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ซึ่งแรกๆ ก็ดูเหมือนว่าจะได้ผลดียิ่ง และเป็นที่รู้จักของตลาดโดยทั่วไป แต่ก็ใช่ว่าผลผลิตจากผลไม้เหล่านี้จะดีต่อเนื่องในทุกปี ดังนั้นเมื่อปี 2542 เขาเลยแบ่งพื้นที่ที่มีอยู่ทั้งหมด 150 ไร่ มาปรับเปลี่ยนเพื่อปลูก “ส้มโชกุน” ลงไป จำนวน 15 ไร่

สามศรีพี่น้อง รวมพลังผลิตส้มคุณภาพปลอดสารพิษ 100 % เพื่อสุขภาพผู้บริโภค
 
มุ่งมั่นผลิตส้มคุณภาพ ปลอดสารพิษ 100%
ครั้งนี้ได้จับมือร่วมกับพี่ชาย-พี่สาวอีก 2 คน คือ นายอุดม คงวิทยา วัย 52 ปี และ นางสุกันยา ญัติมิ วัย 50 ปี ทดลองไปซื้อพันธุ์ “ส้มโชกุน” จากแหล่งขึ้นชื่อ อ.เบตง จ.ยะลา มาปลูกลงไปไร่ละ 60 ต้น ซึ่งหลังจากนั้น ประมาณ 3 ปี ก็เริ่มให้ผลผลิต และเต็มที่ในปีที่ 5 ปรากฏว่า รสชาติของส้มที่ออกมาเป็นที่พออกพอใจของลูกค้า พวกเขาจึงตัดสินใจไปซื้อพันธุ์จากศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง มาปลูกเพิ่มลงไปจนเป็นจำนวน 35 ไร่

แต่กว่าที่สวนส้มจะเติบโตมาได้จนถึงวันนี้ ต้องต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะแนวคิดที่ต้องการให้ “ปลอดสารพิษ 100%” จริงๆ เพราะกว่าที่ดอกจะเติบใหญ่เป็นผลส่งไปขายได้นั้น ต้องใช้เวลานานถึง 8 เดือน และต้องดูแลประคบประหงมอย่างดี อีกทั้งก่อนหน้านี้ส้มยังเคยได้ชื่อว่า “ผลไม้แห่งความตาย” เนื่องจากมีการใช้สารเคมีทุกชนิดอย่างหนัก เพื่อให้ส้มที่ออกมามีลูกโต สีสวยสด ผิวแวววาว

 
ต่อสู้กับสารพัดโรค
ทั้งนี้ เพราะ “ส้มโชกุน” จะต้องเจอทั้งโรคและศัตรู ที่จ้องเล่นงานนับ 10 ชนิด เริ่มตั้งแต่ “เพลี้ยไฟ” ต่อด้วย “แมงมวนเขียว” หรือ “แมงฉ่อง” พอส้มเริ่มติดลูก ก็ต้องเจอกับ “โรคส้มยิ้ม” ทำให้ผลปริแตก นอกจากนั้น ยังมี “ผีเสื้อมวนหวาน” ที่จะมาเล่นงานในช่วงกลางคืน รวมทั้ง “แมลงวันทอง” ที่เจาะผลส้มให้เน่าเสีย ตลอดจน “โรคราขาวขั้วส้ม” ที่ทำให้ผลแก่ร่วงก่อนกำหนด ไปถึง “โรคโคนเน่ารากเน่า” ในยามฝนตกชุก

อย่างไรก็ตาม หากส้มต้นใดผ่านมรสุมจนมีความสมบูรณ์แล้ว จะสามารถให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่องไปได้นานถึง 50 ปี หรือประมาณปีละ 200 กิโลกรัมต่อต้น จนทำให้ขณะนี้พวกเขามีส้มส่งขายถึงวันละ 800 กิโลกรัม ซึ่งจากเมื่อปี 2554 มีราคาแค่กิโลกรัมละ 30-50 บาท แต่ในปีนี้กลับพุ่งขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 80-100 บาท โดยเฉพาะช่วงหน้าเทศกาลที่ตลาดมีความต้องการสูง จนไม่สามารถผลิตส้มได้เพียงพอต่อความต้องการ


 
คัดกรองอย่างดีก่อนนำส่งถึงผู้บริโภค
ตลาดหลักๆ ในวันนี้ของ “ส้มโชกุน” ไร่วังน้ำค้าง มีแค่ 2 จุด ก็คือ วางขายที่หน้าบ้านเลขที่ 14/7 ถ.รักษ์จันทร์ ในเขตเทศบาลนครตรัง และส่งไปยังห้างท็อปส์ ที่กรุงเทพฯ เพื่อกระจายไปยังซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศเท่านั้น เนื่องจากพวกเขาหวั่นเกรงว่า หากเปิดตลาดไปมากกว่านี้ จะส่งผลในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐาน เพราะส้มทุกผลที่นำไปวางขายนั้น จะต้อง"ผ่านมือ-ผ่านตา-ผ่านหู” ของทั้ง 3 พี่น้องเสียก่อน

 
นั่นจึงทำให้ไร่แห่งนี้ได้รับเครื่องหมายรับรองตัว Q จากสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง นับตั้งแต่เมื่อปี 2547 เนื่องจากเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ได้มาตรฐานเข้าสู่ตลาดส่งออก โดยมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ได้รับความนิยมและเป็นจุดเด่นที่ชัดเจน รวมทั้งการปราศจากสารพิษ ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลกับการรับประทานส้ม พร้อมทั้งยังมีการคิดค้นวิธีกำจัดโรคและศัตรูพืชตามธรรมชาติด้วย

 
นายอดิเรก บอกว่า พวกเขาโชคดีที่ได้พื้นที่เพาะปลูกดี เพราะอยู่ติดกับเทือกเขาบรรทัด อากาศที่เย็นสบาย และมีฝนตกชุก จึงมีส้มออกตลอดปีละถึง 7 รุ่น ถึงแม้จากผลผลิตที่ได้ปีละ 80,000 กิโลกรัม จะต้องเน่าเสียไปถึงปีละ 20,000 กิโลกรัม เพราะโรคและศัตรูพืช แต่พวกเขาก็พอใจกับการปลูกผลไม้แบบวิธีธรรมชาติเช่นนี้ เพราะนั่นได้ทำให้ “ไร่วังน้ำค้าง” มีชื่อเสียงมายาวนานกว่า 13 ปีแล้ว ผู้ใดสนใจติดต่อได้ที่ (075) 203-228 หรือ (087) 271-5052

ภาพ/เรื่อง - เมธี เมืองแก้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น