เอเอฟพี - แม้จะผ่านไปนานเกือบ 1 ปี หลังจากชุมชนชายฝั่งซึ่งเคยเต็มไปด้วยผู้คนถูกคลื่นสึนามิซัดทำลายจนราบคาบ แต่ข่าวลือเรื่อง “ผี” หรือวิญญาณคนตายยังคงแพร่สะพัดในเมืองอิชิโนะมากิ ซึ่งกำลังเร่งพลิกฟื้นจากโศกนาฏกรรมดังกล่าว
โครงการก่อสร้างแห่งหนึ่งในเมืองนี้ต้องหยุดชะงักลงกลางคัน เพราะเกรงกันว่า วิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สึนามิเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว จะนำพาโชคร้ายมาให้
“ผมได้ยินมาว่า คนงานที่มาซ่อมห้างนั้นล้มป่วย เพราะถูกวิญญาณรบกวน” ซาโตชิ อาเบะ วัย 64 ปี กล่าว พร้อมกับชี้ไปที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งซึ่งยังซ่อมแซมไม่เสร็จ
“ทุกที่ล้วนแต่มีคนตาย ตอนนี้ทั้งเมืองมีแต่เรื่องผี” เขากล่าว
สัญญาณของชีวิตใหม่เริ่มปรากฏขึ้นในเมืองชายทะเลแห่งนี้ บ้านเรือนถูกปลูกใหม่ ร้านรวงต่างๆ เริ่มเปิดกิจการ ส่วนเด็กๆ ก็ไปโรงเรียนกันตามปกติ
แต่การที่ อิชิโนะมากิ ต้องกลายเป็นจุดจบของผู้คนราว 1 ใน 5 จากทั้งหมด 19,000 คนที่เสียชีวิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ทำให้น้อยคนนักจะเชื่อว่า ทุกอย่างจะกลับเป็นเหมือนเดิมได้
ชินิจิ ซาซากิ เผยว่า ความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 ไม่เคยจางหายไป และสิ่งนี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่อง “ผี” ขึ้นมา
“หากคุณมีคนรู้จักที่ตายไป และตายอย่างกะทันหัน คุณอาจจะรู้สึกไปว่าคนๆ นั้น ยังวนเวียนอยู่ ผมก็ไม่เชื่อเรื่องผีหรอก แต่เข้าใจได้ว่าทำไมทั้งเมืองจึงเต็มไปด้วยข่าวลือเช่นนี้”
คนขับแท็กซี่ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ บอกว่า ไม่อยากขับรถเข้าไปในย่านที่ถูกสึนามิทำลาย เพราะกลัวว่าผู้โดยสารที่รับมา... จะไม่ใช่คน
หญิงชาวเมืองอีกคนหนึ่งเล่าว่า มีผู้พบเห็นวิญญาณคนตายจำนวนมากวิ่งขึ้นไปบนเขาเพื่อหนีคลื่นสึนามิ ซึ่งเป็นการฉายภาพซ้ำๆ ของความพยายามครั้งสุดท้าย ก่อนที่ชีวิตพวกเขาจะถูกปลิดปลง
นักวิชาการและผู้ให้ปรึกษา ต่างมองว่า ความเชื่อเรื่องผีเป็นของธรรมดาหลังจากเกิดโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟื้นฟูสังคม
ทาเคโอะ ฟูนะบิกิ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม ระบุว่า เรื่องราวเหนือธรรมชาติที่ถูกบอกเล่าปากต่อปากหลังเกิดภัยพิบัติเช่นนี้ อันที่จริงก็เป็นเรื่อง “ธรรมชาติ”
“มนุษย์เรามักไม่ค่อยยอมรับความตาย ไม่ว่าจะเป็นคนที่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์ หรือเชื่อในวิทยาศาสตร์มากๆก็ตาม” ฟูนะบะกิ กล่าว
“การเสียชีวิตอย่างกระทันหัน หรือไม่ปกติ ซึ่งไม่ใช่การนอนตายบนเตียงเพราะโรคชรา ยิ่งเป็นสิ่งที่คนเข้าใจได้ยากกว่า และเมื่อคนเราพบเจอสิ่งที่ยากจะยอมรับ พวกเขาก็จะแสดงออกในรูปแบบต่างๆ เช่น สร้างข่าวลือ หรือจัดพิธีทำบุญให้คนตาย เป็นต้น”
“ประเด็นสำคัญ ก็คือ มันจะต้องเป็นสิ่งที่คุณสามารถแบ่งปันร่วมกับคนอื่นๆในสังคมได้ด้วย”
สำหรับผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป ประเพณีเกี่ยวกับความตายถือเป็นที่พึ่งทางใจได้เป็นอย่างดี
นักบวชในศาสนาชินโตถูกเชิญมาสวดมนต์ให้วิญญาณคนตายเพื่อนำทางไปสู่โลกหน้า ก่อนจะปัดเป่าโชคร้ายให้หมดไปจากสถานที่ที่พบศพ
เมื่อถึงเทศกาลโอบงในฤดูร้อน ชาวญี่ปุ่นจะตั้งแท่นบูชาดวงวิญญาณญาติมิตร ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า จะกลับมาเยี่ยมเยียนคนที่ยังมีชีวิตอยู่
โคจิ อิเคดะ นักบำบัดโรคและอาจารย์ประจำสถาบันที่ปรึกษาแห่งญี่ปุ่น กล่าวว่า “ผู้ที่รอดชีวิตมักเกิดความรู้สึกหลายอย่างปะปนกัน เช่น หวาดกลัว, วิตก, เศร้า หรือปรารถนาจะให้คนที่ตนรักกลับมามีชีวิตเหมือนเดิม”
“เป็นไปได้ว่า เมื่อคนเราไม่สามารถจัดการความรู้สึกเหล่านี้ได้ จึงสร้างจินตนาการเกี่ยวกับ “วิญญาณ” ขึ้นมา”
“อารมณ์ที่ถูกเก็บกดจำเป็นต้องได้รับการปลดปล่อยออกมา เพื่อให้คนเราสามารถปรับตัวเข้ากับความจริง และเดินต่อไปข้างหน้าได้”
แม้จะมีเพียงไม่กี่คนที่กล้าพูดเต็มปากว่าเจอผีมาแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่า วิญญาณคนตายอาจมาเดินวนเวียนอยู่ตามถนนสายเปลี่ยว
ยูโกะ ซางิโมโตะ บอกว่า เธอไม่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์มากนัก และไม่เคยเจอผีมาก่อน แต่ก็เชื่อว่าในความมืดมิดอาจมีพวกเขาแฝงตัวอยู่ก็เป็นได้
“คนมากมายที่ใช้ชีวิตกันตามปกติต้องมาตายอย่างกะทันหัน... ฉันมั่นใจว่าพวกเขาคงรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้” เธอกล่าว
“ถ้าคุณไม่ได้ยินอะไรเกี่ยวกับพวกเขาเลย ก็เป็นเรื่องแปลกแล้วล่ะ”