xs
xsm
sm
md
lg

นศ.ชายแดนใต้กว่า 300 คน ออกแถลงการณ์ประณามทหารละเมิดทางเพศหญิงมุสลิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - นักศึกษา เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กว่า 300 คน ถือป้ายชุมนุมประท้วง และออกแถลงการณ์พร้อมประณามทหารกระทำการชู้สาวต่อหญิงชาวมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ (8 มี.ค.) เวลา 13.00 น.ที่บริเวณประตูทางเข้า-ออก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา วิทยาลัยเทคนิคยะลา วิทยาลัยพลศึกษา และองค์กรภาคี ชาย-หญิง จำนวนกว่า 300 คน ได้รวมตัวกันถือป้ายชุมนุมประท้วงเขียนข้อความโจมตีทหาร และออกแถลงการณ์ประณามเจ้าหน้าที่ทหารกระทำการชู้สาวต่อสตรีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แจกจ่ายไปทั่วมหาวิทยาลัยและบริเวณรอบนอกของมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ สาเหตุความไม่พอใจของกลุ่มดังกล่าว สืบเนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา โดยรัฐบาลและกองทัพยังไม่สามารถแก้ไขเยียวยาสถานการณ์ได้

ซึ่งที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ละเมิด-คุกคาม-ทำลายสิทธิมนุษยชน และปัญหาความไม่เป็นธรรม ลุกลามกลายเป็นปัญหาสังคม กระทบวิถีชีวิต และการปฏิบัติตัวตามหลักศาสนา โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่ทหารก่อปัญหาเชิงชู้สาวกับหญิงสาวชาวมุสลิม

โดยล่าสุด มีทหารเกณฑ์จากกองทัพภาคที่ 2 จำนวน 2 นาย ที่มาประจำฐานปฏิบัติการ ร้อย ร.1333/1 บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลระแว้ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ได้ละเมิดทางเพศหญิงสาวชาวมุสลิมในพื้นที่ที่มีอายุเพียง 16 ปี จากนั้นเพื่อนทหารเกณฑ์ยังได้ถ่ายทำเป็นวิดีโอคลิป และเผยแพร่ทางโทรศัพท์ ทำให้หญิงสาวชาวมุสลิมได้รับความเสียหาย และสร้างความอับอายแก่ผู้ถูกละเมิดและครอบครัว ซึ่งประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนไม่พอใจกับการกระทำของทหารดังกล่าวอย่างยิ่ง

โดยในแถลงการณ์ มีข้อเรียกร้องต่อรัฐ 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

1.ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ดำเนินการตรวจสอบและสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อนำผู้กระทำความผิดในครั้งนี้มาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมให้ได้ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้าย และอาจจะเป็นชนวนนำไปสู่สถานการณ์ที่ยากจะควบคุมในอนาคต เนื่องจากประชาชนขาดความไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐ

ทั้งนี้ ยังมีหลายเหตุการณ์ในอดีตที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคู่กรณีความขัดแย้งในการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือคุกคามเสียเอง และหลายกรณีที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลายความเคลือบแคลงใจ รวมทั้งผู้กระทำผิดก็ยังไม่ได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม จึงขอให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เยียวยาผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในพื้นที่ ดังเช่นกรณีตากใบ ซ้อมทรมานอิหม่ามยะผา กรณีกราดยิงชาวบ้าน 4 ศพที่ปูโละปูโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นต้น

2.ภาครัฐต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นในการแสดงความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวีธี และมีความต่อเนื่อง ผ่านการถอนกองกำลังทหารออกจากพื้นที่ และประชาชนสามารถตรวจสอบและติดตามได้

3.รัฐต้องตอบสนองประชาชนด้วยการเยียวยาทางความรู้สึก ซึ่งคนในพื้นที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม และผู้ที่สมควรจะต้องรับผิดในหลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมายังลอยนวล โดยให้เร่งนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมทันทีโดยไม่เลือกปฏิบัติ

4.ขอเสนอต่อรัฐบาลให้ยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ถ้ายังตระหนักถึงความมั่นคงในสิทธิเสรีภาพของประชาชน

นายสุไฮมี ดูละสะ นายกองค์การบริหารนักศึกษา ภาคปกติ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า หลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากเจ้าหน้าที่เป็นคู่กรณี เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการในการตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว ทุกอย่างก็จบหายไปกับสายลม เช่น กรณีเหตุการณ์ 4 ศพ ที่ปูโละปูโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ตกลงแล้วชาวบ้านเป็นโจรจริงหรือเปล่า และจะมีมาตรการในการลงโทษเจ้าหน้าที่อย่างไร

หรือทางรัฐจะใช้มาตรา 17 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ระบุว่า ไม่สามารถเรียกร้องความผิดกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำการในพื้นที่ได้ ถ้าหากเจ้าหน้าที่ใช้แบบนั้น ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวบ้านเป็นอย่างสูง ซึ่งเมื่อชาวบ้านตาย เจ้าหน้าที่แค่ย้ายออกนอกพื้นที่ และก็ไม่ได้รับโทษใดๆ ตามกฎหมาย ตามกระบวนการยุติธรรม หรือ ป.วิอาญา ตามปกติ

“ตนเองในฐานะที่เป็นนักศึกษา ถือว่าเป็นชุดขาว มีความบริสุทธิ์ มีความคิดเห็นอย่างไร อยากจะเรียกร้องยังไงก็สามารถเสนอได้ แต่ผู้ที่จะนำไปปฏิบัติหรือใช้ได้จริงนั้นคือเจ้าหน้าที่ ถ้าหากเจ้าหน้าที่รับฟังเสียงของพวกตนและเพื่อนนักศึกษา เหตุการณ์ต่างๆ ก็อาจจะดีขึ้น แต่เมื่อขอไปแล้วทางเจ้าหน้าที่ไม่รับฟัง ตนเอง และเพื่อนนักศึกษาก็จะเรียกร้องต่อไป เพราะว่าเป็นความรับผิดชอบของนักศึกษา” นายสุไฮมี กล่าว

สำหรับเครือข่ายประชาสังคม คัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน และองค์กรภาคี ประกอบด้วย เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC) ศูนย์ประสานงานองค์กรนักศึกษาและเยาวชนชายแดนใต้ (BOMAS) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) องค์การบริหาร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี องค์การบริหารนักศึกษาภาคปกติมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา

สภานักศึกษา องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP) มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ (YAKIS) ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (CCPD) ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา (PUKIS) สมาคมเยาวชนเพื่อการพัฒนา (YDA) สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (DEEPPEACE) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท.) เครือข่ายผู้ช่วยทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม(SPAN) เครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (INSOUTH) และกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้มหาวิทยาลัยรามคำแหง (PNYS)





กำลังโหลดความคิดเห็น