xs
xsm
sm
md
lg

“พูนสุข พูนสุขเจริญ” มูลนิธิผสานวัฒนธรรม “ทำไมไทยต้องออกกฎหมายต้านทรมาน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พูนสุข พูนสุขเจริญ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

สัมภาษณ์ นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับองค์กรภาคประชาชน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและต่อต้านการทรมาน อธิบายทำไมไทยต้องออกกฎหมายต้านทรมานตามอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติ

ก่อนสิ้นปี 2554 มีความเคลื่อนไหวสำคัญอีกอย่างหนึ่งในกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือการร่างร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและต่อต้านการทรมาน พ.ศ.... โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เป็นเจ้าภาพหลัก

เป็นการเคลื่อนไหวควบคู่ไปพร้อมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการร่างแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการซ้อมทรมานด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายอยู่ที่ปัญหาการซ้อมทรมานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมามีการร้องเรียนจากคนในพื้นที่ว่า ถูกเจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพระหว่างถูกควบคุมตัวมาตลอดในช่วงก่อนหน้านี้

นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม คือ หนึ่งในทีมงานที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ อธิบายว่า ทำไมประเทศไทยต้องมีกฎหมายต่อต้านการทรมาน ดังนี้

“ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือเรียกสั้นๆ ว่า อนุสัญญา CAT แห่งสหประชาชาติ ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2551 ทำให้ประเทศมีพันธกรณีจำเป็นต้องออกกฎหมายตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าว แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทรมานผู้ต้องขังเพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูล”

ขณะเดียวกัน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กำลังร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการซ้อมทรมานในส่วนของภาครัฐ โดยมีแนวโน้มว่าจะมีการร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา และร่างแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยการเพิ่มบางมาตราเข้าไป เช่น นิยามการซ้อมทรมานและเพิ่มฐานความผิดในเรื่องของการทรมาน ฉะนั้นภาครัฐจะยังใช้กลไกเดิมอยู่

ทว่า เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เตรียมที่จะเสนอกลไกใหม่ออกมา เพราะเห็นว่า กลไกเดิมไม่เอื้อต่อการลดการทรมานได้ โดยเสนอให้มีคณะกรรมการเฉพาะ 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน และคณะกรรมการเยียวยา เพื่อให้การทำงานประเด็นการซ้อมทรมาน สามารถหาผู้กระทำผิดได้ ซึ่งต่างจากกลไกเดิมที่ผู้ถูกซ้อมทรมาน ต้องหาหลักฐานมายืนยันว่าถูกซ้อมจริง แทนที่ควรจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่จะพิสูจน์ว่า ไม่ได้ซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น