xs
xsm
sm
md
lg

คดี “อิหม่ามยะผา” ศาลแพ่งไกล่เกลี่ยยอมความ กลาโหม-ทัพบก-สตช.จ่าย 5.2 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัตตานี - ศาลแพ่งไกล่เกลี่ยยอมความคดี “อิหม่าม ยะผา กาเซ็ง” ที่ถูกทหารทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิต “กลาโหม กองทัพบก ตำรวจแห่งชาติ” จ่ายเยียวยา 5.2 ล้านบาท จำเลยทั้ง 3 เผยเสียใจและยืนยันว่า “ยะผา กาเซ็ง” ผู้ตายและครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ว่า ศาลแพ่งได้รายงานกระบวนพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ 1084/2552 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 มีความว่า นางนิม๊ะ กาเซ็ง และพวกรวม 4 คน โจทก์ และกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติรวม 3 หน่วยงาน จำเลยนัดพร้อมไกล่เกลี่ย โดยศาลได้ไกล่เกลี่ยคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วคดีสามารถตกลงกันได้

โดยจำเลยทั้งสามแถลงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้ที่ทำให้นายยะผา กาเซ็ง เสียชีวิต เป็นการปฏิบัติการร่วมกันของจำเลยทั้งสามภายใต้กรอบของกฎหมายตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะเกิดเหตุ เมื่อมีการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดจนข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว พบว่านายยะผา กาเซ็ง ผู้ตาย และครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

จำเลยทั้งสามรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับที่จะเยียวยาความเสียหายให้กับฝ่ายโจทก์ตามที่ศาลได้มีการไกล่เกลี่ยและเป็นที่ยอมรับของฝ่ายโจทก์ เป็นค่าเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียงของนายยะผา กาเซ็ง ผู้ตาย เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท ค่าปลงศพเป็นจำนวนเงิน 87,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นจำนวนเงิน 4,624,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,211,000 บาท และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551 นายยะผา กาเซ็ง ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายยะผา กาเซ็ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 และมีคำสั่งแล้วเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ว่าผู้ตายคือ นายยะผา กาเซ็ง ตายที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม หมู่ที่ 2 ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551 เนื่องจากผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา ระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ต่อมา นางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยา และบุตรหญิงชายรวม 4 คน ได้ขอความช่วยเหลือร้องความเป็นธรรมไปยังมูลนิธิผสานวัฒนธรรม สภาทนายความมุสลิม เพื่อดำเนินฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากกรณีที่อิหม่ามยะผา กาเซ็ง ถูกควบคุม นำไปแถลงข่าว และถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น