xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านร้อง จนท.ใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ในชายแดนใต้โดยมิชอบกว่า 2,300 เรื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กลุ่มทนายความมุสลิมจี้ยกเลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” เผยตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในเขตชายแดนใต้ กว่า 2,300 เรื่อง ชี้ กรณีถูก จนท.ซ้อม-ทรมาน ร่วม 300 เรื่อง ขณะที่ศาลพิพากษาแล้ว 122 เรื่อง สั่งลงโทษเพียง 33 เรื่อง และยกฟ้องอีกกว่า 80 เรื่อง

มูลนิธิทนายความมุสลิม เปิดเผยตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ว่า ขณะนี้ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม รับเรื่องร้องเรียนผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนถึง วันที่ 31 สิงหาคม 2554 รวมเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 2,338 เรื่องร้องเรียนแล้ว

ทั้งนี้ ในเรื่องร้องเรียนดังกล่าวนั้น มีกรณีละเมิดสิทธิประชาชน ด้วยการซ้อมทรมาน จำนวน 282 เรื่องร้องเรียน โดยมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเป็นทนายความแก้ต่างให้กับจำเลยในคดีเกี่ยวกับความมั่นคง สืบเนื่องจากบังคับใช้กฎหมายพิเศษ จำนวน 495 เรื่องร้องเรียน ซึ่งศาลมีคำพิพากษาแล้ว จำนวน 122 เรื่องร้องเรียน ศาลพิพากษาลงโทษจำนวน 33 เรื่องร้องเรียน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 27.04 และศาลพิพากษายกฟ้องมากถึง จำนวน 87 เรื่องร้องเรียน คิดเป็นร้อยละ 72.95

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จึงมีความเห็นว่า การใช้พยานหลักฐานในการซักถามตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคนใช้กฎหมายได้โดยมิชอบด้วย เนื่องจาก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในมาตรา 11(1) ระบุว่า “เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการจับและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย และนำเข้าสู่กระบวนการซักถามโดยที่ผู้ถูกควบคุมตัวไม่มีสิทธิในการพบหรือปรึกษาทนายความ” ส่งผลให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยถูกดำเนินคดีโดยไร้ความชอบธรรม

มูลนิธิทนายความมุสลิม ยังเผยอีกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางมูลนิธิได้ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้ศาลได้ไต่สวน นำเสนอข้อเท็จจริงในชั้นศาลมาโดยตลอด เพื่อเป็นบรรทัดฐานทางสังคม ทั้งกรณีการซ้อมนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กรณีลูกชายของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง และผู้ถูกควบคุมตัวร่วมกับอีหม่ามยะผา กาเซ็ง รวมทั้งกรณีที่ควบคุมตัวราษฎรในพื้นจังหวัดสงขลา ด้วย

ทั้งนี้ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไร ที่มุ่งเผยแพร่ให้ความรู้ทางกฎหมาย และช่วยเหลือคดีความแก่ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากกระบวนการยุติธรรม โดยมีพันธกิจในการพัฒนาและสร้างนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เครือข่ายอาสาสมัคร ผู้ช่วยทนายความรวมถึงร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร เพื่อผดุงความยุติธรรมนำสันติสุขสู่สังคม

และศูนย์ทนายความมุสลิม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากข้อเท็จจริงรวมทั้งตัวอย่างที่นำเสนอมานี้ จะทำให้ทางรัฐบาลได้ตระหนักถึงการละเมิดสิทธิ และทบทวนรวมทั้งยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นี้ต่อไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น