xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อร่ำไห้กลางศาลสงขลาเผยถูกซ้อมพร้อม “อิหม่ามยะผา” -นัดอ่านคำพิพากษา 14 มี.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ-ศาลปกครองสงขลา
สงขลา - นายรายู ดอคอ ร่ำไห้กลางศาลปกครองสงขลาระหว่างแถลงด้วยวาจาถึงเหตุการณ์ถูกต้องสงสัยก่อความไม่สงบ แล้วคุมตัวนำไปซ้อมทำร้ายร่างกายและจิตใจพร้อมอิหม่ามยะผาซึ่งเสียชีวิตไปก่อนระหว่างถูกทรมาน ทั้งนี้ ตุลาการนัดพิพากษาคดีฟ้องเรียกค่าเสียหาย 14 มี.ค.55

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา เวลา 10.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 ศาลปกครองสงขลา นายสมยศ วัฒนภิรมณ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสงขลา พร้อมองค์คณะขึ้นนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีหมายเลขดำที่ 94/2553 ระหว่างนายรายู ดอคอ ผู้ฟ้อง กับกระทรวงกลาโหม, กองทัพบก, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1- 4 โดยนายรายูฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด เป็นเงิน 1,631,400 บาท โดยผู้ฟ้องคดีและทนายมาศาล ส่วนผู้แทนผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ไม่มาศาล

โดยคดีนี้ นายรายูได้แจ้งความประสงค์ขอแถลงข้อเท็จจริงด้วยวาจาต่อศาล ว่า ตนถูกควบคุมตัวพร้อมกับอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวของทหาร โดยตนถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานด้วย แต่หลังจากนายรายูแถลงได้ประมาณ 10 นาที นายรายูเริ่มมีสีหน้าเศร้าพร้อมกับมีน้ำตาคลอ จนทำให้การแถลงติดขัด นายรายูจึงแถลงต่อศาลว่า ตนไม่สามารถแถลงข้อเท็จจริงได้อีกต่อไปจนจบ เพราะรู้อัดอั้นตันใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตน ขณะเดียวกันญาติของนายรายู ซึ่งมาฟังการพิจารณาคดีด้วยประมาณ 3 - 4 คน ต่างก็ร้องไห้ออกมาด้วย

นายสมยศ จึงอนุญาตให้หยุดการแถลงข้อเท็จจริงได้ พร้อมกับแถลงว่า ศาลสามารถพิจารณาข้อเท็จจากเอกสารแถลงการณ์ที่ทนายของผู้ฟ้องได้ยืนต่อศาลมาแล้วได้ ศาลจึงกำหนดวันอ่านคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 14 มีนาคม 2555

สำหรับองค์คณะตุลาการพิจารณาคดีนี้ ประกอบด้วย นายสมยศ นายสมมาศ รัฐพิทักษ์สันติ และนายสุทธิพงศ์ เชาวนาดิศัย ส่วนตุลาการผู้แถลงคดี คือนางนัทธมน อิ่มสะอาด

สำหรับความเป็นมาของคดีนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 เมื่อทหารหน่วยเฉพาะกิจที่39 ร่วมกับตำรวจสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ร่วมกันปิดล้อม ตรวจค้น และควบคุมตัว นายรายู ดอคอ ที่บ้านเลขที่ 51/1 หมู่ที่ 5 ตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

จากนั้นนำตัวไปควบคุมตัวพร้อมกับอิหม่ามยะผา กาเซ็ง กับลูกและหลานของอิหม่ามยะผา รวมทั้งหมด 7 คน โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกและนำตัวนายรายูกับพวกไปแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยกล่าวหาว่านายรายูกับพวกเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ และนายรายูมีส่วนร่วมในการฆ่าผู้อื่นในอำเภอรือเสาะ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งต่อไปว่า จากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวนายรายูกับพวกไปควบคุมตัวที่หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 ที่วัดสวนธรรม ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ โดยขังไว้ในรถบรรทุกหกล้อสำหรับรับส่งผู้ต้องหาของสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ

ต่อมานายรายูถูกนำตัวไปซักถามและถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ จากการทรมานอย่างทารุณโหดร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เป็นเหตุให้นายรายูฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองสงขลารับฟ้องคดีและอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตามที่ผู้ฟ้องคดียื่นขอ

โดยคดีนี้นายรายูได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2552 ด้วย แต่ศาลแพ่งเห็นว่าคดีนี้อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลปกครอง ศาลแพ่งจึงสั่งจำหน่ายคดี นายรายูจึงฟ้องร้องต่อศาลปกครองสงขลาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
กำลังโหลดความคิดเห็น