xs
xsm
sm
md
lg

ชงเยียวยาเหยื่อไฟใต้ศพละ 7.5 ล.ชี้ย้อนหลัง 8 ปี ต้องใช้งบร่วม 3.7 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) การประชุมคณะกรรมการเยียวยาเหยื่อไฟใต้ซึ่งสรุปหลักเกณฑ์เมื่อวานนี้ (12 ก.พ.)
สงขลา - เปิดหลักเกณฑ์ช่วย 4 กลุ่ม ซึ่งกรรมการเยียวยาฯ เห็นชอบให้เงินช่วยเหยื่อไฟใต้ชงเข้า ครม.เร็วๆ นี้ รายละ 7.5 ล้าน ขณะที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มอ.ปัตตานี โชว์สถิติเหยื่อ 8 ปีไฟใต้เกือบ 5,000 ศพ เฉพาะผู้เสียชีวิตหากเข้าหลักเกณฑ์นี้จะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 37,000 ล้านบาท

จากกรณีที่เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2555 ที่โรงแรมลีการ์เด้น พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการประชุมคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 2/2555 เพื่อพิจารณาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การเยียวยาฯ รายละไม่เกิน 7.5 ล้านบาท เท่ากับกรณีผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง และจะเร่งนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ได้ในวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 และคาดว่าจะสามารถดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาได้ภายใน 1-2 เดือน นั้น

นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ยังมีผู้ที่ไม่เข้าใจปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่อีก การให้เงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่เสียชีวิตถึงรายละ 7.5 ล้านบาท มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และการตั้งมูลนิธิเพื่อจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ความรู้สึก เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตตามข้อเสนอของคณะทำงานกำหนดกรอบการเยียวยา กลุ่มผู้ที่ถูกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐกรณีถูกบังคับให้สูญหายหรือการทรมานหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน อาจจะสร้างปัญหาให้กับรัฐตามมา จึงไม่เห็นด้วยกับการตั้งมูลนิธิดังกล่าว

ด้าน นางคอดีเยาะ หะหลี ชาวตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี บุตรของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ซึ่งร่วมการประชุมด้วย กล่าวว่า เดิมไม่ต้องการให้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในรูปตัวเงินมากนัก ซึ่งตนเคยเสนอเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่สุดท้ายคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมติจะให้เงินช่วยเหลือรายละไม่เกิน 7.5 ล้านบาท เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มอย่างเท่าๆ กัน และไม่เห็นด้วยถ้าจะทยอยให้เป็นงวดๆ

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับกรอบการช่วยเหลือเยียวยาและแนวทางการช่วยเหลือตามที่คณะทำงานกำหนดกรอบการเยียวยาทั้ง 4 กลุ่ม กำหนด เบื้องต้น มีดังนี้

กลุ่มที่ 1 เหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 ทั้งหมด 11 จุด รวมเหตุการณ์กรือเซะและสะบ้าย้อย ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 106 คน บาดเจ็บ 6 คน และถูกจับกุม 6 คน ให้เงินเยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 4.5 ล้านบาท พิการ 1 ล้านบาทและสนับสนุนการไปประกอบพิธีฮัจย์

กลุ่มที่ 2 เหตุการณ์ตากใบและไอร์ปาแย แยกเป็นเหตุการณ์ตากใบ มีผู้เสียชีวิต 85 คน บาดเจ็บ 51 ราย ผู้ถูกดำเนินคดี 58 ราย ผู้ที่ถูกควบคุมตัว 1,300 ราย เสียชีวิตเยียวยารายละไม่เกิน 7.5 ล้านบาท ทุพพลภาพ 350,000 บาท บาดเจ็บสาหัส 313,000 บาท บาดเจ็บ 65,000 บาท ถูกดำเนินคดีได้รับค่าชดเชยเบื้องต้น 30,000 บาท ค่าชดเชยที่ถูกคุมขังตามจำนวนวัน วันละ 400 บาท ค่าชดเชยในการไปดำเนินคดีต่อศาล 10,000 บาท ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมได้รับค่าเยียวยาทางจิตใจรายละ 10,000 บาท ผู้ได้รับเงินเยียวยาต้องหักเข้ากองทุนร้อยละ 20

กลุ่มที่ 3 กรณีการสูญหาย ซึ่งมีจำนวน 37 ราย ค่าชดเชยรายละ 7.15 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ถูกซ้อมทรมานมี 36 ราย ส่วนกลุ่มที่ 4 เหตุการณ์ทั่วไป จะพิจารณาช่วยเหลือภายใต้วงเงินไม่เกินรายละ 7.5 ล้านบาท นอกจากนี้ ทั้ง 4 กลุ่มจะได้รับแล้วยังมีการช่วยเหลือในด้านอื่น เช่น ที่อยู่อาศัย อาชีพ การศึกษา และการประกอบพิธีฮัจญ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รวบรวมสถิติผู้ได้รับ ล่าสุด ในเดือนพฤศจิกายน 2554 ชี้ให้เห็นจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในรอบเจ็ดปีกว่าหรือ 94 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนตุลาคม 2554 ที่เกิดเหตุความไม่สงบรวมทั้งสิ้นประมาณ 11,265 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บรวมกันจำนวนประมาณ 13,207 ราย แยกเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตรวม 4,943 ราย จำนวนผู้บาดเจ็บรวม 8,264 ราย ซึ่งจำนวนผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว หากได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์ใหม่นี้ เฉพาะผู้เสียชีวิต จะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 37,000 ล้านบาท

มูฮัมหมัด ดือราแม
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
กำลังโหลดความคิดเห็น