xs
xsm
sm
md
lg

กฎอัยการศึกแก้ไขไฟใต้ได้จริงหรือ? บางคำตอบจาก ‘พลตรีอัคร ทิพโรจน์’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 จวบจนวันนี้ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว ของเหตุการณ์ปล้นปืน ณ กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ต.ปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ทว่าภาพจิ๊กซอว์ซึ่งมีชื่อว่า ‘ความสงบ’ ที่ ‘รัฐ’ พยายามต่อให้สมบูรณ์ กลับยังคงแหว่งเว้าไม่เข้ารูปเข้ารอย ตัวช่วยหรือเครื่องมืออย่างกฎอัยการศึกและกฎหมายพิเศษอื่นๆ ที่หวังจะใช้ระงับเหตุร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คล้ายจะเป็นเครื่องมือที่แก้ไขได้ไม่ตรงจุด

เหตุระเบิดรายวัน เหตุการณ์คนร้ายฆ่าครู ฆ่าพระ ฆ่าคนไทยพุทธ ฆ่าคนไทยมุสลิม ฆ่าทหาร ฆ่าตำรวจ ฆ่าผู้บริสุทธิ์ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่ถูกเรียกขานว่า ‘สามจังหวัดชายแดนภาคใต้’

เพราะเหตุนั้น คงไม่ใช่เรื่องเกินเลยไปนัก หากจะตั้งคำถามว่า เป็นไปได้ไหม? ที่กฎอัยการศึก อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา ด้วยขอบข่ายอำนาจมหาศาลที่มอบให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการเข้าปิดล้อม จับกุม เชิญตัว โดยมิต้องรอหมายศาล ถึงที่สุดแล้ว นั่นอาจเป็นช่องโหว่ซึ่งเอื้อให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบ จนนำไปสู่ความขัดแย้งที่บานปลายยิ่งขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า?

ความเข้าใจในรากเหง้าและวัฒนธรรมของผู้คน ความเคารพในอัตลักษณ์ที่แตกต่าง การให้เกียรติ ยอมรับและเปิดใจกว้างในวิถีชีวิต ความเชื่อ ขนบประเพณี อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าหรือไม่? ในการที่รัฐจะลองหยิบมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่ไม่ว่าจะคิดเห็นอย่างไร นั่นย่อมไม่สำคัญเท่ากับการหาเวลามาขอคำตอบจากคนของรัฐโดยตรง และในฐานะโฆษกของกองทัพ จึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่า พลตรีอัคร ทิพโรจน์ ผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ผู้นี้ จะคิดเห็นเช่นไร? เกี่ยวกับประเด็นอันว่าด้วยการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยใช้กฎอัยการศึก ร่วมด้วยอีกหลากหลายประเด็นที่น่ารับฟังไม่น้อยไปกว่ากัน

คิดว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกรวมทั้งกฎหมายพิเศษอื่นๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบได้จริงหรือ
การที่รัฐบาลจะประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ใดๆ ก็แล้วแต่ มันจะต้องมีสาเหตุ…เพราะพื้นที่ภาคอื่นๆ เขาไม่มีการวางระเบิด เขาไม่มียิงครู ไม่มียิงพระ ไม่มีคาร์บอมบ์ คนเหล่านั้นเขาก็ใช้ชีวิตตามปกติสุข เขาก็ใช้กฎหมาย ป. วิอาญา แต่สิ่งต่างๆ ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดมันเกิดขึ้นในปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ตั้งแต่มันเกิดมาก็จะต้องมีเครื่องมือให้ช่างมาแก้ไขสถานการณ์ เราก็ต้องยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่อยู่ตามปกติ เขาควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ เพราะสถานการณ์มันไม่เป็นปกติ ไม่เพียงพอ ต้องใช้คนเพิ่ม

คราวนี้ คนที่จะมาใช้เพิ่มนั้น ตามกฎหมาย ป.วิอาญา จะต้องเป็นคนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งคำว่าเจ้าพนักงานก็หมายความว่ามีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ทหาร เป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะไปปฏิบัติตามกฎหมายยังไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมในรัฐธรรมนูญเขาให้ทำหน้าที่ปกป้องขอบขัณฑสีมา รักษาเอกราชและอธิปไตยจำเป็นต้องประกาศใช้กฎหมายพิเศษจึงจะทำหน้าที่รักษากฎหมายในฐานะผู้ช่วยเจ้าหน้าที่พนักงานได้

เพราะฉะนั้น การที่จะให้เจ้าหน้าที่ทหารรักษากฎหมายได้ ก็จำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ ดังนั้น เขาจึงประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งกฎอัยการศึกนั้น ประกาศใช้มาเป็นเวลานานแล้ว และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สามารถเป็นเจ้าพนักงานได้ กล่าวคือ สามารถทำการปิดล้อม ตรวจค้น จับยึด ทำลาย หรือห้ามได้ โดยไม่ต้องรอหมายเรียก หมายจับ หรือหมายศาล เช่น เมื่อเกิดเหตุระเบิดตู้ม! แล้วชาวบ้านบอก ไอ้ 2 คนนั้นเป็นคนทำ ถ้ามัวรอหมายศาล กว่าหมายศาลจะมาถึง คนร้ายก็ไม่รู้หายไปไหนแล้ว

กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือ มันก็เหมือนยาทิงเจอร์ มันจะแสบเมื่อโดนแผล ถ้าไม่โดนแผล มันก็จะเย็น…คนที่มีแผลเท่านั้นที่จะรู้สึกแสบเวลาเจอเจ้าหน้าที่ เฉพาะคนที่เป็นแผลเท่านั้นที่เขารู้สึกแสบกับกฎอัยการศึก ถ้าเขาไม่มีความผิดเขาจะไม่รู้สึกร้อนรนกับเรื่องเหล่านี้

รัฐตั้งใจจะใช้กฎอัยการศึกรวมทั้งกฎหมายพิเศษอื่นๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปอีกนานแค่ไหน มีความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกกฎหมายพิเศษเหล่านั้นในพื้นที่
ปีหน้า (พ.ศ.2556) มีแนวโน้มว่าอย่างน้อยจังหวัดละหนึ่งอำเภอต้องมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งพ.ร.ก. ก็ไม่ต่างจากกฎอัยการศึก แต่กฎอัยการศึกมันกว้างกว่า เพราะมันไม่ใช่แค่ยาเสพติด แต่มันรวมทั้งภัยสงครามทั้งการก่อการร้าย น้ำมันเถื่อน แต่ พ.ร.ก. เขาให้อำนาจที่แตกต่างจากกฎอัยการศึก คือควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้คราวละ 7 วัน ต่ออายุได้ไม่เกิน 4 ครั้ง ครั้งละ 7 วัน รวมแล้วไม่เกิน 30 วัน แต่การควบคุมตัวแต่ละครั้งต้องมีหมายศาล ซึ่งหมายความว่า นายอำเภอ ผู้กำกับฯ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจหมายเลข 2 ตัว ของหน่วยทหารต้องลงมติร่วมกันว่า ให้ออกหมายจับคนนี้ แล้วหมายศาลก็จะออกมาคู่ขนานกับการไปควบคุมตัว ซึ่งท่านแม่ทัพภาค 4 ท่านก็มีนโยบายจะลดพื้นที่ใช้กฎหมายพิเศษลงเท่าที่ การเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อเหตุร้ายและความรุนแรงลดลง มีกิจกรรมทางศาสนาเพิ่มมากขึ้น พี่น้องประชาชน มีรอยยิ้ม ชีวิตประจำวันกลับคืนมา แต่ถ้าพื้นที่ใด ความยังมีเหตุร้ายอย่างต่อเนื่อง เราก็ยังยกเลิกกฎหมายพิเศษไม่ได้

ณ ตอนนี้ มีปัญหาใดบ้างที่กังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
วันนี้ที่น่าห่วงที่สุด คือการขยายความของสื่อสารมวลชน ถ้าสื่อสารมวลชนเข้าใจสถานการณ์แล้วก็เดินคู่ขนานไปกับเรา เช่น คนเดิมๆ ทำงานคู่กับกองทัพแล้วก็จะรู้ว่าเราจะเดินไปทางไหน คำถามที่สื่อมวลชนจากกรุงเทพฯ มักจะถามเราก็คือ ตากใบ, กรือเซะ แต่เมื่อได้มาเห็นและกลับไปแล้วเขาไม่ถามอีกเลย

การสื่อสารมวลชนเป็นสิ่งสำคัญ ผมอยากให้สื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการสร้างสันติสุขในใจคนที่รับรู้ข่าวสาร เขียนข่าวแดงด้วยสีน้ำเงินได้ไหม? ไม่ต้องผนวก ไม่ต้องซ้ำเติม ไม่ต้องขยายแผล ผมก็พยายามที่จะไปพบทีละคนๆ ไปอธิบายเขา ผมยอมที่จะเหนื่อยเอง ไปอธิบายเขา ถ้ามีคอลัมน์หนึ่งเขียนตำหนิทหารว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ผมไม่ตำหนิเขา แต่ผมตำหนิข้อมูลเขา เหมือนรับรู้ด้านเดียว แล้วมองแต่ด้านนี้ เหมือนแก้วใบเดียว มันไม่ครบทุกมิติ การนำเสนองานสื่อสารมวลชนในโลกธุรกิจ เขาก็ต้องสะกดลูกค้า ซึ่งสิ่งที่สะกดคือความสนใจก็คือความโหดร้าย หวือหวา แต่เราไม่ชวนทะเลาะกันในเรื่องนี้ เราต้องเดินเคียงข้างไปด้วยกัน ผมอยากให้เขียนถึงมิติการทำงานของเจ้าหน้าที่ อย่าไปโฟกัสเฉพาะกฎอัยการศึก อยากให้เขียนว่า การเมืองนำการทหารมันเป็นยังไง

ในกรณีที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าบุคคลที่รัฐจักกุมนั้น เขาไม่ผิดตามที่ถูกกล่าวหา รัฐจะเยียวยาเขาอย่างไร โดยเฉพาะในกรณีที่เขาเป็นเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะแล้วถูกเจ้าหน้าที่รัฐซ้อมทรมาน
ในกรณีที่รัฐจับคนผิด รัฐก็จะเยียวยาเขาด้วยการชดเชยในสิ่งที่เขาสูญเสียไป นอกเสียจากว่าเขาผิด และรัฐเชื่อว่าเขาผิด แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าเขาผิด เวลานี้คนที่ยกฟ้องออกมา ใช้ชีวิตอย่างอิสระ เป็นคนบริสุทธิ์ ปรกติธรรมดา

เวลานักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนมา เขาก็จะมาไล่บี้ว่าเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิ แต่เวลาผู้ก่อเหตุความรุนแรงวางระเบิด ยิงคนแก่อายุ 74 ปี ตายในร้ายขายของชำ มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องตาย แบบนี้ไม่รู้ว่ากลุ่มผู้เคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนหายไปไหน? เพราะฉะนั้น เราก็จะฟังแต่เรื่องร้ายๆ เรื่องที่เจ้าหน้าที่ตกเป็นจำเลยสังคม คนที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเขาบอกสื่อ เพราะสื่อเสียงดังกว่าคนอื่น ถ้าบอกสื่อมวลชน มันดังมาก แล้วการใช้งานสื่อสารมวลชนเป็นเพียงวิธีเดียวที่จะสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มผู้ก่อความรุนแรงอยู่เหนือเจ้าหน้าที่รัฐ

หากประชาชนหรือเยาวชนในพื้นที่ รู้สึกว่าเขาได้รับความไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วต้องการร้องเรียนหรือต่อสู้คดีในชั้นศาล พอมีคำแนะนำอะไรบ้างไหม และอยากฝากอะไรทิ้งท้ายเกี่ยวกับแนวทางในการทำงานของกอ.รมน. ภาค 4 สน.
ในกรณีที่เยาวชนต้องการสู้คดี กระทรวงยุติธรรมมีกองทุนให้กู้ยืม ช่วยประกันออกมาได้ เราแต่งตั้งทนายฯ สู้คดีให้ได้ แต่ปัญหาที่เด็กไม่ออกมาเพราะการสื่อสารของเราไปไม่ถึงเด็ก เนื่องจากว่าเขาถูกเก็บตัวไว้ในที่ห่างไกล ทั้งที่กระทรวงยุติธรรมเป็นแม่งานในการให้ความช่วยเหลือเลยนะ แต่การสื่อสารมันไปไม่ถึงเด็ก เพราะมีผู้ใหญ่ใจร้าย เขาหวังประโยชน์ในการที่จะใช้เด็กสร้างฐานอำนาจต่อไปเพราะมันโยงใยกับเรื่องธุรกิจทั้งหลาย ซึ่งกอ.รมน.ภาค 4 สน. มีความพยายามที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับพี่น้องประชาชน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และชาวไทยทั่วประเทศ และกับประชาคมโลก ทั้งพร้อมจะรับฟัง ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน และตระหนักดีว่าเราจะยุติปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ถาวรด้วยสันติวิธีเท่านั้น
>>>>>>>>>>>

……….
เรื่อง : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล

กำลังโหลดความคิดเห็น