คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
ไชยยงค์ มณีพิลึก
สองเดือนที่ผ่านมา อุณหภูมิของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าอยู่ในอาการความร้อนขึ้นสูง ถ้าเป็นคนก็เหมือนอยู่ใน “เคราะห์หามยามซวย” ชนิดพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก หรือเพราะประเด็น ทหารพราน ยิงชาวบ้านตาย 4 เจ็บ 4 ยังไม่ทันคลี่คลายไปในทางที่สร้างความพอใจให้กับประชาชน กลับมีเรื่อง 2 พลทหาร หรือ “ไอ้เณร” ทหารเกณฑ์ จากกองทัพภาคที่ 2 ล่อลวงเด็กสาวอายุ 16 ในหมู่บ้านที่ทหารไปตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ ไป “ร่วมรัก” และให้เพื่อน “ไอ้เณร” ด้วยกัน ถ่ายคลิปทำออกเผยแพร่
กลายเป็นข่าวร้ายในสังคมมุสลิมที่แพร่ขยายวงกว้าง เหมือนกับ “ไฟลามทุ่ง” สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนทั้งในพื้นที่ และในสังคมมุสลิมทั่วโลก จนสุดท้าย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต้องถอนทหารชุดดังกล่าวออกจากพื้นที่ เช่นเดียวกับที่ต้องถอนทหารพรานออกจาก ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หลังมีเหตุการณ์ ทหารพราน ยิงชาวบ้าน 4 ศพ
ทั้งสองเหตุการณ์ห่างกันแค่เดือนเดียว จึงเหมือนกับ “ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็มาแทน” วันนี้สถานการณ์ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงอยู่ในอาการ “ถอยร่น” โดยที่ “แนวร่วม” ไม่ต้องออกแรงระดมโหมโจมตีด้วยกำลังด้วยอาวุธแต่เป็นการถอยร่นแบบ “ญะญ่ายพ่ายจะแจ” เพราะการกระทำของกำลังพลของตนเอง
ดังนั้น จึงเป็นการ “เข้าทาง” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เข้าทางขององค์กรสิทธิเสรีภาพต่างๆ ที่รอฉกฉวยวิกฤตของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้เป็นโอกาสในการที่จะชี้ให้มวลชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นว่า ทหาร คือ “ปัญหา” ดังนั้น การแก้ปัญหาให้ตรงจุด คือ ต้องเอา “ทหาร” ออกจากพื้นที่
ความจริงเรื่องทหารพรานยิงชาวบ้าน 4 ศพ เจ็บอีก 4 ราย เป็นเรื่องที่แก้ได้ และทำความเข้าใจกับชาวบ้านกับสังคม นอกและในพื้นที่ได้ไม่ยาก เพราะการ “พลาดพลั้ง” ในสภาพของ สงครามกองโจรที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องเป็นเหยื่อเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งคนในพื้นที่เข้าใจและพร้อมที่จะให้อภัยและรับการเยียวยา
แต่ที่เป็นประเด็นที่ชาวบ้านและสังคมมุสลิมรับไม่ได้ คือ อาวุธปืนทั้ง 2 กระบอก ที่อยู่ในรถยนต์ของผู้ตายและบาดเจ็บมาจากฝีมือของใคร ซึ่งประเด็นนี้ต่างหาก ที่กลายเป็นเรื่อง “คาใจ” และยิ่งขบวนการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ยืดระยะเวลาออกไปมากเท่าไหร่ กระแสความร้อนในหัวใจของผู้คนยิ่งเพิ่มมากขึ้น
เช่นเดียวกับเรื่อง “ชู้สาว” ที่เกิดขึ้นระหว่าง “ไอ้เณร” กับ “เด็กสาว” ในหมู่บ้าน ถ้าไม่มีเรื่อง “คลิป” ที่แพร่ไปทั่วในโลกของสังคม “ออนไลน์” การเจรจา การเยียวยา จะทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเรื่องความสัมพันธ์เชิงชู้สาวเป็นเรื่องที่ห้ามกันยากในสังคม โดยเฉพาะกับสังคมในปัจจุบันที่มีวิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์ที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาเป็นส่วนประกอบ ยิ่งห้ามมิให้เกิดยากยิ่ง
วันนี้ต้องยอมรับว่าสังคมเปลี่ยนไป โดยเฉพาะสังคมของคน “มุสลิม” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถ้ามองเพียงผิวเผินดูเพียงเปลือกนอก จะพบว่าเป็นสังคมที่อยู่ในกรอบจารีตประเพณีที่แข็งแรง แต่โดยข้อเท็จจริง วันนี้สังคมมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสังคมที่ “เคร่งครัด” แต่ไม่ “เข้มแข็ง” เหมือนกับในอดีตอีกแล้ว
วัยรุ่น ชายหญิง ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในกรอบอันดีงามของศาสนาอย่างในอดีต วัยรุ่นชาวหญิงตกเป็นทาสของยาเสพติด ตกเป็นทาสของการพนัน ตกเป็นทาสของแฟชั่นตะวันตกใช้ชีวิตแบบฟุ้งเฟ้อ หลงระเริงกับ วัฒนธรรมใหม่ และเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งนับวันยิ่งหางไกลจาก คำสอนของศาสนา เช่นเดียวกับคนไทย จำนวนมากที่เป็น “พุทธ” เพราะมีการระบุไว้ในบัตรประชาชนเท่านั้น
นับตั้งแต่ปี 2547 ที่เกิดเหตุความไม่สงบขึ้น มีการส่งทหารจากกองทัพภาค 1-2 และ 3 เข้ามารับผิดชอบในพื้นที่ 3 จังหวัด เรื่องชู้สาวเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างเด็กสาวในกำปง ( หมู่บ้าน) และสตรีมุสลิมอีกจำนวนไม่น้อย ที่มีความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาวกับทหารตั้งแต่ระดับ ไอ้เณร ชั้นประทวน และสัญญาบัตร
มีจำนวนไม่น้อย ที่หลังเกิดเรื่องต้องรับสภาพ คือ “ตกร่องปล่องชิ้น” อยู่กินเป็นสามี ภรรยา ตามหลักศาสนาอิสลาม มีจำนวนไม่น้อยที่เลิกรากันไป เพราะการโยกย้ายของหน่วยทหาร และจำนวนหนึ่งที่ตั้งครรภ์และไม่มีผู้รับผิดชอบ กลายเป็นภาระของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องไปอยู่บ้านฉุกเฉินก็มี
แต่ที่น่าสนใจเป็นกรณีศึกษา เพราะที่จะเป็นแนวทางแก้ปัญหา คือ มีหญิงสาวจำนวนไม่น้อยที่ยินยอมติดตามสามีที่เป็นทหารกลับไปยังภาคเหนือ และอีสาน ซึ่งเป็นถิ่นฐานของทหารเหล่านั้น แต่สุดท้ายต้อง “ซมซาน” กลับมายังบ้านเกิด เพราะรับสภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกับวิถี วัฒนธรรม ของสังคมมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งรับสภาพจากการเป็น “เมียน้อย” ที่เกิดขึ้นไม่ได้
วันนี้ ผลพวงที่เกิดขึ้นกับสถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ส่งผลให้มี “หญิงม่าย” เกิดขึ้นใน 2 กรณีด้วยกัน กรณีแรกเกิดจากสามีเสียชีวิต จากสถานการณ์ความไม่สงบกรณีที่สอง เกิดจากสามีที่เป็น ทหาร ทิ้งหลังจากการได้เสีย และการทิ้งสามี เพราะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่แตกต่างในถิ่นอื่นๆ ไม่ได้ และแน่นอนว่า เด็กส่วนหนึ่งที่เกิดมาจากผลพวง ดังกล่าว คือเด็กกำพร้าที่กลายเป็นภาระของครอบครัว และกลายเป็นข้อครหาของสังคม
ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นสิ่งที่ “สะสม” เป็นเหมือนกับ “ตะกอน” ที่อยู่ในจิตใจของสังคมมุสลิมในพื้นที่ และเป็นเหมือนกับระเบิดเวลาที่พร้อมจะระเบิด เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อย่าได้วางใจกับปัญหาสังคมที่ก่อตัวขึ้นมา และในวันนี้ พร้อมที่จะ แสดงพิษสงออก เพราะมีการกระตุ้น มีการขับเคลื่อน แสดงออกให้เห็นชัดถึงความไม่พอใจต่อสภาพสังคมที่เกิดขึ้น และมีการมองหา คนผิด ซึ่งแน่นอนที่สุด เมื่อ ประชาชนมองโจทย์ ชั้นเดียว คนผิดคือ กองทัพ เพราะถ้าไม่มีคนของกองทัพถูกส่งเข้ามาปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
ที่ผมหยิบเรื่องนี้มาเขียนมาพูดคุย เป็นประเด็นร้อน ในวันนี้ เพราะผมตระหนักดีว่า สงครามประชาชนในแผ่นดินด้ามขวาน ยังต้องใช้เวลาในการต่อสู้กันอีกยาวนาน กองทัพยังต้องคงกำลังพลใน 3 จังหวัดอีกหลายปี จึงควรที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต้องมีมาตรการที่ ชัดเจน รัดกุม ต่อการป้องกัน มิให้เกิดเรื่อง ชู้สาว ขึ้นระหว่างกำลังพล และสตรีมุสลิมในพื้นที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องร่วมมือกับองค์กรทางด้านศาสนา หน่วยของของรัฐหน่วยอื่นๆ ไม่ว่าเป็น พม.จะเป็นองค์กรเครือข่ายสตรี และอื่นๆ ที่มีบทบาท ในการชี้นำ ป้องกันเพื่อมิให้เกิดเรื่องอย่างที่เกิดขึ้น ซึ่งล้วนเป็นการทำลายความเข้มแข็งของกองทัพ และทำลายความชอบธรรมของกองทัพ ในการที่เข้ามาแก้ปัญหา ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนแดนภาคใต้
บางครั้งเงินที่ได้รับการการเยียวยาในสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ลบล้างความผิดพลาด และไม่สามารถลบความคับแค้นที่ถูกสร้างให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะ “ตราบาป” ที่ถูกสร้างให้เกิดขึ้น เงินจำนวนเท่าไหร่ก็ไม่สามารถลบล้างได้
ถ้าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ไปเดินท่อมๆ เพื่อรับรู้ถึงสถานการณ์ และรับรู้ถึงความรู้สึกของชาวบ้านอย่างผม ท่านคงจะได้ยินทั้งสองหู ว่า ทหารคือตัวปัญหา เอาทหารออกไป เราไม่ต้องการทหาร
วันนี้ จึงเป็นอีกวันหนึ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อยู่ในภาวะของการถดถอย โดยเฉพาะการถดถอยทางด้านมวลชน และสังเกตได้ถึงความฮึกเหิมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ปฏิบัติการวางระเบิดต่อเป้าหมายที่เป็นกำลังพลของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าอย่างถี่ยิบ เพราะ ขบวนการฉวยโอกาส ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าอยู่ในภาวะถดถอยทางด้านมวลชน เพราะมวลชนที่เป็นมวลชนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าในพื้นที่ ซึ่งเคยสนับสนุน เจ้าหน้าที่ต่างสงบนิ่ง ต่อ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากการกระทำของกำลังพลของ กอ.รมน.เอง
ความเพลี่ยงพล้ำทั้ง 2 เหตุการณ์ในระยะเวลา 2 เดือน จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่กองทัพต้องเร่งสรุปบทเรียนเพื่อป้องกัน อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แต้ต้องเปิดเกมรุกเพื่อดึงมวลชนให้กลับมาสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของกองทัพอีกครั้ง