xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเอกสาร‘กฟผ.’โต้ฝ่ายค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

พลันที่กลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ได้แจกจ่ายเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะมาสร้างในจังหวัดตรัง
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็ผลิตเอกสารตอบโต้ข้อมูลของกลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ในแทบจะทันทีทันใด

ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลการตอบโต้กลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ถอดออกมาจากเอกสารข้อต่อข้อ ประโยคต่อประโยค

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า การใช้ถ่านหินซับบิทูมินัส นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย มีคุณภาพต่ำกว่าบิทูมินัส และมีมลภาวะมากกว่า

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า คุณสมบัติของถ่านหินซับบิทูมินัสและบิทูมินัส มีปริมาณกำมะถันหรือก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์น้อยกว่า 1% ซึ่งเป็นถ่านหินที่มีคุณภาพดีใกล้เคียงกัน และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะมากกว่ากัน

กลุ่มผู้คัดค้าน ระบุว่า สารปนเปื้อนที่เป็นองค์ประกอบของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ร้อยละ 0.1-1 แต่มีสารหนู 0.73-0.85 แคดเมียมต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปรอทต่ำกว่า 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และตะกั่วต่ำกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีโครเมียม และซีรีเนียม
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า สารเจือปนต่างๆ ขึ้นอยู่กับแหล่งของถ่านหิน ซึ่งถ่านหินบิทูมินัสและซับบิทูมินัสมีความเจือจางน้อยมาก ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยตามหลักวิทยาศาสตร์

พร้อมกับยืนยันว่า กรมควบคุมมลพิษได้กำหนดค่ามาตรฐานของสารที่เจือปนในสิ่งแวดล้อมไว้ว่า สารหนู (Arsemic) ต้องไม่เกิน 3.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แคดเมี่ยมและสารประกอบแคดเมี่ยม (Cadmium and compounds) ต้องไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

กลุ่มผู้คัดค้านระบุว่า กองถ่านหินใช้น้ำดิบเพื่อฉีดพ่นประมาณ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น และควบคุมอุณหภูมิของถ่านหินไม่ให้ลุกไหม้ น้ำพ่นถ่านหินใช้หมุนเวียนโดยนำกลับมาใช้ใหม่ แต่ต้องมีการเติมเพิ่มในระบบวันละ 360 ลูกบาศก์เมตร น้ำชะกองถ่านหินปนเปื้อนสารโลหะหนักและอื่นๆ ซึ่งต้องบำบัดด้วยสารเคมี หากจะระบายออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องระบายน้ำทิ้ง

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า การจัดเก็บถ่านหินมีโรงจัดเก็บ มีหลังคาคลุมและผนังโดยรอบ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย และป้องกันการชะล้างจากน้ำฝน เนื่องจากเป็นระบบปิด ทำให้ต้องใช้น้ำบางส่วนฉีดพรมป้องกันการฟุ้งกระจาย โดยน้ำดังกล่าวจะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ไม่มีการปล่อยลงสู่ทะเลและแหล่งน้ำธรรมชาติ

กลุ่มผู้คัดค้าน ระบุว่า โครงการมีการดึงน้ำจากทะเลมาใช้เพื่อดูดซับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากอากาศที่เกิดจากหม้อไอน้ำ หรือเรียกว่า Seawater FGD ซึ่งอาจทำให้โลหะหนักบางส่วนปนเปื้อนลงน้ำทะเล เช่น สารหนู แคดเมียม ปรอท และตะกั่ว

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ใช้ระบบดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยน้ำปูน ไม่ใช้ระบบ Seawater FGD (ระบบดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยน้ำทะเล) โดยใช้น้ำจืดจากกระบวนการผลิตน้ำในโรงไฟฟ้า ซึ่งน้ำดังกล่าวจะนำกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่มีการปล่อยลงทะเลและแหล่งน้ำธรรมชาติ

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า สารสูบน้ำทะเลจากตะแกรงกรองน้ำขนาด 1 เซนติเมตร จะมีแพลงก์ตอนพืชและสัตว์เข้าสู่ระบบ และตายเนื่องจากความร้อนจากน้ำร้อนที่ทิ้งสู่ทะเลจำนวนมาก จากการต่อท่อน้ำทิ้งออกไปในทะเล 500-1,000 เมตร จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำเป็นบริเวณกว้างหรือไม่

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า การสูบน้ำเข้าสู่ระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า จะสูบน้ำที่ระดับลึกจากท้องน้ำ 1 เมตร เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสัตว์หน้าดิน แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ รวมทั้งลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน ติดเข้าระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า เนื่องจากที่ระดับลึกของน้ำจะพบแพลงก์ตอนพืชในปริมาณน้อย เพราะแพลงก์ตอนพืชจะใช้แสงในการสังเคราะห์อาหารเพื่อการดำรงชีวิต ประกอบกับแพลงก์ตอนพืชมีวงจรชีวิตสั้น แต่มีการเพิ่มปริมาณได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงพบแพลงก์ตอนพืชอาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำเป็นส่วนมาก ส่วนแพลงก์ตอนสัตว์และลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน ก็จะอาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำเป็นส่วนมากเพื่อกินแพลงก์ตอนพืชเป็นอาหาร
 
ดังนั้นการสูบน้ำจากกระดับน้ำลึกจึงไม่กระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของแพลงก์ตอนแต่อย่างใด
น้ำทะเลที่ผ่านการใช้หล่อเย็น ไม่ได้ต่อท่อออกไปในทะเล มีการควบคุมอุณหภูมิของน้ำที่หอหล่อเย็น การปล่อยน้ำลงสู่ทะเลนั้น กฎหมายกำหนดไว้ว่า ณ จุดปล่อยอุณหภูมิของน้ำต้องไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส และวัดรัศมีออกไป 500 เมตร จากจุดปล่อย อุณหภูมิบริเวณปะการังต้องไม่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิบริเวณอนุรักษ์เปลี่ยนแปลงได้บวกลบ 1 องศาเซลเซียส และบริเวณชุมชนอุณหภูมิเปลี่ยยนแปลงได้บวกลบ 2 องศาเซลเซียส

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า การเผาไหม้ของถ่านหินของโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์จะก่อให้เกิดเถ้าหนัก 22,500 ตันต่อปี เถ้าลอย 202,000 ตันต่อปี เถ้าลอยเป็นฝุ่นขนาดเล็กมากขนาดต่ำกว่า 10 ไมครอน กระจายได้ไกล และระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ไม่สามารถดักจับได้ และปัจจุบันประเทศไทยไม่มีเครื่องมือตรวจวัดได้

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า การเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์ จะมีฝุ่นขี้เถ้า ประกอบด้วย เถ้าหนักประมาณ 19,250 ตัน/ปี เถ้าลอยประมาณ 76,950 ตัน/ปี จะถูกดักจับโดยเครื่องดักจับฝุ่นที่มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นขนาดเล็กต่ำกว่า 10 ไมครอนอยู่ที่ 99.9 % ทั้งนี้เถ้าหนักสามารถนำไปทำปุ๋ยได้ และเถ้าลอยจะนำไปใช้ในระบบการผลิตปูนซิเมนต์ต่อไป

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า จะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการเผาน้ำมัน 29% และมากกว่าก๊าซธรรมชาติถึง 80% ซึ่งเป็นเหตุสำคัญทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และภัยธรรมชาติตามมา
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า จากผลการศึกษาโรงไฟฟ้าลิกไนต์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติประมาณ 10% อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่ใช้ถ่านหินคุณภาพดี เทคโนโลยีในกระบวนการเผาไหม้มีประสิทธิภาพสูง จะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปอีก
ข้อมูลการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละประทศในปี 2551 เรียงตามลำดับดังนี้ ประเทศจีน 21.1% ประเทศสหรัฐอเมริกา 20.2% ประเทศรัสเซีย 5.5% ประเทศอินเดีย 5.3% ประเทศญี่ปุ่น 4.6% ประเทศเยอรมัน 2.8% ประเทศอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ 2.0% ประเทศแคนาดา 1.9% ประเทศเกาหลีใต้ 1.7% ประเทศอิตาลี 1.7% ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับ 22 ที่ 0.95%

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า กรณีปะการังอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 0.5 องศาเซลเซียส ในเวลาประมาณ 1 เดือน จะทำให้เกิดปะการังฟอกขาว

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า กรณีปล่อยน้ำหล่อเย็นออกจากโรงไฟฟ้า จะมีการควบคุมอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นไม่ให้มีอุณหภูมิน้ำสูงเกิน 1 องศาเซลเซียส จากค่าอุณหภูมิน้ำเข้าสู่ระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ห่างไกลจากแนวปะการัง ดังนั้นการระบายน้ำหล่อเย็นออกจากโรงไฟฟ้า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงค่าอุณหภูมิน้ำในแนวปะการังแต่อย่างใด จึงมั่นใจได้ว่าน้ำหล่อเย็นที่ระบายออกจากโรงไฟฟ้าจะไม่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำในแนวปะการัง จนก่อให้เกิดปะการังฟอกขาวแต่อย่างใด

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า ปริมาณสารคลอรีนความเข้มข้นเพียง 0.1 มิลลิกรัม/ลิตร ที่หลงเหลือจากกระบวนการผลิต เมื่อปล่อยลงสู่น้ำทะเลจะส่งผลกระทบทำให้แพลงก์ตอนตาย และกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศน์ทางทะเล

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า ปริมาณสารคลอรีนตกค้างในน้ำหล่อเย็นที่ระบายออกจากโรงไฟฟ้ามีค่าน้อยกว่า 0.1 มิลลิกรัม/ลิตร และเป็นสารที่สลายตัวได้ง่ายเมื่อโดนความร้อน ดังนั้นเมื่อระบายออกจากโรงไฟฟ้าจึงสลายตัวได้รวดเร็ว และไม่ตกค้างในน้ำทะเลจนเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และระบบนิเวศน์ทางทะเล

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า น้ำทะเลที่ผ่านการใช้หล่อเย็น มีอุณภูมิสูงกว่าน้ำทะเล 2-6 องศาเซลเซียส
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การปล่อยน้ำลงสู่ทะเล กฏหมายกำหนดไว้ว่า อุณหภูมิของน้ำ ณ จุดปล่อยและในรัศมี 500 เมตร ต้องไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิบริเวณปะการังต้องไม่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิบริเวณอนุรักษ์เปลี่ยนแปลงได้บวกลบ 1 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิบริเวณชุมชนเปลี่ยนแปลงได้บวกลบ 2 องศาเซลเซียส

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า ความเสี่ยงจากโรงไฟฟ้าและสารเคมีที่ใช้ การปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจนที่เกิดจากการเผาไหม้ อาจก่อให้เกิดฝนกรด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ได้แก่ ดินเสื่อมคุณภาพ การเจริญเติบโตของพืช และการให้ผลผลิตยางพารา ผลไม้ การสะสมโลหะหนักในดิน น้ำกิน น้ำใช้ และอาหาร ส่งผลต่อมนุษย์ และทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจต่างๆ

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ โรงไฟฟ้ามีการติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ เครื่องดักจับฝุ่น และเครื่องดักจับก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ ที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ยังติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่องที่ปลายปล่อง และติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณชุมชนรอบโรงไฟฟ้า รวมทั้งได้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพดิน และแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดฝนกรด หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจต่างๆ
กลุ่มคัดค้านระบุว่า ความจริงที่แม่เมาะ การทำเหมืองและโรงไฟฟ้ามีปัญหาขัดแย้งกับชุมชน ด้านมลภาวะจนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีจำนวนมาก ดัง 3 กรณีต่อไปนี้

คดีที่ 1 ศาลจังหวัดลำปางมีคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 11960/2542 และ 1945/2542 คดีหมายเลขแดงที่ 354/2547 และ 431/2547 เมื่อปี 2547 ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะทำให้เกิดมลภาวะฝนกรดจริง ทำให้ผู้ป่วย 868 ราย ศาลสั่งให้ชดใช้ค่าพืชผลที่เสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี

คดีที่ 2 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 140/2546 คดีหมายเลขแดง 60/2552 เมื่อเดือนมิถุนายน 2542 ว่า ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจ่ายค่าเสียหายให้กับชาวบ้านรอบพื้นที่เหมืองและโรงไฟฟ้า 112 ราย โดยแต่ละรายจะได้รับค่าเสียหายตามที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่ได้บำบัดอากาศเสียให้มีค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดก่อนปล่อยสู่บรรยากาศ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2535-สิงหาคม 2541 ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสื่อมทั้งสุขภาพอนามัยและจิตใจ

คดีที่ 3 ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 44/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 44/2552 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ สรุปว่า

1.ให้อพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร
2.ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุด และให้ปลูกป่าทดแทน ในพื้นที่ฟื้นฟูขุมเหมืองที่ไปทำสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ
3.ยื่นแก้ไขมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงมาตรการในพื้นที่ชุ่มน้ำ
4.วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดิน ไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดไปยังชุมชน และกำหนดพื้นที่แนวกันชนจุดปล่อยดินให้ห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำกำแพงกันฝุ่นให้จุดปล่อยดินต่ำกว่าความสูงของกำแพง ให้จัดทำรายงานการตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อมทุก 2 ปี

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า คดีที่ 1 สิ้นสุดการพิจารณาคดี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยชดเชยค่าเสียหายแก่ประชาชนตามคำสั่งศาล คดีที่ 2 และ 3 อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ ซึ่งคดีที่ 3 เป็นคดีที่เกี่ยวกับการทำเหมืองลิกไนต์ โดยโรงไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะสร้างในพื้นที่ จะไม่มีการทำเหมืองลิกไนต์

ระหว่างที่คดีอยู่ในการพิจารณา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยมิได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยได้ช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งปรับปรุงและติดตั้งอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อดักจับมวลสาร ตลอดจนมีมาตรการตรวจสอบติดตามอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันสภาพอากาศของแม่เมาะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา

ปัจจัยด้านเทคโนโลยี
 

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิตไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ ต้องใช้ถ่านหิน 1,968,600 ตัน/ปี ถ้าต้องการผลิตไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ จะต้องใช้ปริมาณถ่านหินเพิ่มขึ้น

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนประเภทผลิตพลังงานไฟฟ้าฐาน ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าสุทธิ 800 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินซับบิทูมินัสจากต่างประเทศ ปริมาณวันละประมาณ 8,000 ตัน หรือประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่มีข้อมูลเรื่องท่าเรือว่า จะดำเนินการอย่างไร การขนส่งถ่านหินด้วยเรือบรรทุกลำละ 10 ตัน จะมีการขนส่งประมาณ 250,000 เที่ยว/ปี หรือ 685 เที่ยว/วัน จำเป็นต้องมีการขุดลอกร่องน้ำเป็นประจำ

ข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อยู่ในระหว่างการศึกษาการออกแบบท่าเรือ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็น เพื่อปรับรูปแบบของท่าเรือให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน

เรือขนส่งถ่านหินขนาดบรรทุกประมาณ 8,000-10,000 ตัน/เที่ยว (ประมาณวันละ 1 เที่ยว) ปัจจุบันในแม่น้ำตรังมีการขุดลอกร่องน้ำเป็นประจำอยู่แล้วทุกปี

แหล่งน้ำที่ใช้ในระบบหล่อเย็น ควบคุมอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นด้วยหอหล่อเย็น (Cooling Tower) โดยใช้น้ำทะเลในระบบหล่อเย็นไม่เกิน 200,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และน้ำทะเลปล่อยกลับของระบบหล่อเย็นประมาณ 190,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ใช้ระบบจากผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล โดยใช้ปริมาณน้ำทะเลในการผลิตน้ำจืดประมาณ 4,5000 ลูกบาศก์เมตร/วัน

ระบบขนส่งถ่านหิน ใช้ระบบปิดตั้งแต่การขนส่งทางทะเล จนถึงกระบวนการผลิตในโรงงานไฟฟ้า การควบคุมสภาพอากาศ โดยติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (SCR) ประสิทธิภาพสูง ติดตั้งเครื่องดักจับฝุ่น (ESP) ประสิทธิภาพสูง ติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ (FGD) ประสิทธิภาพสูง และติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศ

การควบคุมคุณภาพน้ำ โดยก่อสร้างหอหล่อเย็นเพื่อลดอุณหภูมิน้ำ ให้มีระดับใกล้เคียงแหล่งน้ำธรรมชาติ ก่อสร้างโรงบำบัดน้ำทิ้ง และเก็บกักในบ่อพัก ส่วนการควบคุมระบบตรวจวัดคุณภาพเสียง ติดตั้งอุปกรณ์ดูดซับเสียง และปลูกต้นไม้รอบพื้นที่โครงการ

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ต้องใช้น้ำหล่อเย็นมากกว่า 4,000 ล้านลิตร/วัน โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ต้องใช้น้ำหล่อเย็นมากกว่า 4,000 ล้านลิตร/วัน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ใช้ระบบหล่อเย็น โดยสูบน้ำทะเลมาระบายความร้อนในโรงไฟฟ้าเพียงวันละไม่เกิน 200,000 ลูกบาศก์เมตร และปล่อยน้ำทะเลกลับคืนประมาณ 190,000 ลูกบาศก์เมตร จึงมีน้ำทะเลที่หอคอยหล่อเย็น (Cooling Tower) บางส่วนระเหยกลายเป็นไอน้ำขึ้นไปในอากาศ

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า โรงไฟฟ้าใช้น้ำจืดในกระบวนการผลิตมากกว่า 1,062 ลูกบาศก์เมตร/วัน เดือนละ 31,860 ลูกบาศก์เมตร และต้องมีน้ำจืดอีกจำนวนหนึ่งสำหรับสาธารณูปโภคในโรงงาน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะใช้ระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล โดยใช้ปริมาณน้ำทะเลประมาณ 4,500 ลูกบาศก์เมตร/วัน เพื่อไม่ให้กระทบแหล่งน้ำจืดของชุมชน

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า มีข้อสงสัยว่า 1.จำเป็นต้องสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นหรือไม่ 2.จำเป็นต้องมีบริบทบริหารน้ำแบบจังหวัดระยอง เพื่อนำน้ำไปใช้ในอุตสาหกรรมหรือไม่'

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า 1.ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อน เนื่องจากใช้น้ำทะเลในกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้า 2.ไม่จำเป็นต้องมีบริษัทน้ำแบบจังหวัดระยอง เนื่องจากโรงไฟฟ้ามีระบบผลิตน้ำใช้เป็นของตัวเองอย่างเพียงพอ จึงไม่กระทบการใช้น้ำของชุมชน

กลุ่มคัดค้านระบุว่า แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ต้องรอนสิทธิในที่ดินที่เป็นเส้นทางสายส่งไฟฟ้ากว้าง 30 เมตร ห้ามปลูกไม้ยืนต้นทุกชนิด

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจ่ายค่าชดเชยการรอนสิทธิประมาณ 90% ของราคาประเมิน ส่วนความกว้างเขตแนวสายส่งขึ้นอยู่กับระดับแรงดันไฟฟ้า เช่น ระดับแรงดัน 230 กิโลโวลต์ แนวเขตใต้สายส่งสามารถปลูกพืชบางชนิดได้ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า ยังไมมีข้อมูลการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะดำเนินการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงอย่างไร

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า ในเบื้องต้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะใช้สายส่งระดับแรงดัน 230 กิโลโวลต์ 4 วงจร เชื่อมต่อไปยังที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงทุ่งสง ระยะทางประมาณ 95 กิโลเมตร

ปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์
 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า

1.กองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ระบุว่า ระหว่างก่อสร้าง (ระยะเวลาประมาณ 5 ปี) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ตามกำลังการผลิตติดตั้งในอัตรา 50,000 บาท/เมกะวัตต์/ปี เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะจ่ายเงินเข้ากองทุนประมาณ 40 ล้านบาท/ปี

ระหว่างการผลิตไฟฟ้า (ระยะเวลาประมาณ 25 ปี) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะจ่ายเงินเข้ากองทุนในอัตรา 2.0 สตางค์/หน่วย เป็นรายเดือนตามปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เช่น โรงไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะจ่ายเงินเข้ากองทุนประมาณ 112 ล้านบาท/ปี

2.ชุมชนร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) และคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล (คพรต.) ได้รับภาษีเกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้า เช่น ภาษีโรงเรือน และที่ดิน เป็นต้น ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต วิถีชีวิตชุมชน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินงานและพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน (ไตรภาคี) ได้รับการจ้างงาน ส่งเสริมอาชีพ และกระจายรายได้ในพื้นที่ มีแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ทันสมัยของจังหวัด

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ 9 โรง เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักตามแผนพัฒนาภาคใต้ของรัฐบาล

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย วางแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2010 พ.ศ.2553-2573) แผนดังกล่าวจัดทำโดยภาครัฐร่วมกับทุกภาคส่วน รวมทั้งได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้นทุกปี

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า มีพลังงานทางเลือกอื่นหรือไม่ ที่สามารถกยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า ภาครัฐให้ความสำคัญและส่งเสริมสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นทุกปี ตามศักยภาพของแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ศึกษา และพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนมีข้อจำกัด เช่น ถ้าไม่มีลมและไม่มีแสงแดดจะไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ทำให้ใช้เป็นพลังงานหลักไม่ได้ รวมทั้งมีต้นทุนต่อหน่วยสูง

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยปรับพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานสูงเกินจริงมีการบวกสำรองสูงถึงร้อยละ 15 ทำให้ต้องวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าเกินจริง ผลักภาระการลงทุนที่เกินความจำเป็นบวกกับค่าประกันกำไรของผู้ผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชน ผ่านระบบต้นทุนผันแปร หรือค่าเอฟที

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า ในส่วนค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า จัดทำขึ้นโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพลังงานกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยประมาณ 2-3 ปี/ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้พลังงาน สภาพเศรษฐกิจและข้อสมมุติฐานต่างๆ ในการจัดทำค่าพยากรณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อมิให้การจัดหาไฟฟ้าสูงหรือต่ำเกินไป จนเกิดผลเสียต่อประเทศชาติและผู้ใช้ไฟฟ้า

ถ้าหากพยากรณ์สูงเกินจริง จะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบส่ง และระบบจำหน่ายไฟฟ้าสูงเกินความต้องการ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะถูกผลักสู่ค่าไฟฟ้า ทำให้ประชาชานต้องเป็นผู้แบกรับภาระในที่สุด ถ้าหากพยากรณ์ต่ำกว่าความเป็นจริง จะทำให้ไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ส่งผลเสียต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นคณะอนุกรรมการฯ จึงติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าและสภาพเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การปรับปรุงค่าพยากรณ์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนค่าเอฟทีกำหนดโดยอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและบริการ เสนอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้อนุมัติ โดยค่าเอฟทีจะพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเชื้อเพลิงเป็นหลัก

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า จังหวัดตรังใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 100 เมกะวัตต์ ขณะที่จังหวัดภูเก็ตใช้ไฟฟ้ามากที่สุดประมาณ 350 เมกะวัตต์ แต่จังหวัดตรังกลับมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป จึงเท่ากับจังหวัดตรังมีโครงการรุนแรง 8 โครงการอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย ระบุว่า ตามพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป ซึ่งมีค่ามาตรฐานที่ใช้ควบคุมการปล่อยมวลสาร และเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยใช้ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ว่าจะขนาด 100 เมกะวัตต์ หรือ 800 เมกะวัตต์ เท่ากับมีโครงการรุนแรง 1 โครงการเท่านั้น

จากสถิติความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งรับพลังงานไฟฟ้าจากภาคกลาง และรับซื้อจากประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้โรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมเริ่มทยอยหมดอายุการใช้งาน
จังหวัดตรังมีศักยภาพในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตของภาคใต้ และเกื้อหนุนไปในพื้นที่ภาคอื่นๆ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ

กลุ่มคัดค้าน ระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เรียงลำดับพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังดังนี้ 1.บ้านทุ่งไพร ตำบลวังวน อำเภอกันตัง 2.ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง 3.ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นในพื้นที่ที่มีศักยภาพ 3 พื้นที่ เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมเพียง 1 พื้นที่เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น