ศยามล ไกยูรวงศ์ โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกวิทยา
สถานการณ์วันนี้ ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เดินสายหาที่ดินตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วภาคใต้ บางพื้นที่มีการซื้อที่ดินไปแล้ว และหลายพื้นที่ประชาสัมพันธ์ว่าโรงไฟฟ้ามีผลดีอย่างไร มีการพาคนในพื้นที่ไปดูงานที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
ล่าสุดถูกคนจังหวัดนครศรีธรรมราชไล่ออกจากพื้นที่ และกำลังมาเดินสายหาที่ตั้งของโรงไฟฟ้าที่จังหวัดกระบี่ และจังหวัดตรัง
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ 9 โรง เฉลี่ยกำลังการผลิตไฟฟ้าโรงละ 700 เมกะวัตต์ หรือบางจังหวัด เช่น จังหวัดกระบี่ 800 เมกะวัตต์ เป็นการสร้างโรง ไฟฟ้าเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก ตามที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาภาคใต้ของรัฐบาล
เมื่อมีโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องมีอีกหลายอย่างที่ต้องพิจารณาดังนี้
1. ท่าเรือขนส่งถ่านหิน
2. โรงไฟฟ้าซึ่งใช้ความร้อนประมาณ 1,050-1,100 องศาเซลเซียส อุณหภูมิภายในห้องเผาไหม้
3. ลานกองถ่านหิน ปริมาณสำรองประมาณ 45 วัน ประมาณ 300,000 ตัน ใช้เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่
4. น้ำหล่อเย็น ระบบสูบและทิ้งน้ำหล่อเย็นในทะเล
5. สารเคมีที่ใช้ในระบบเสริมการผลิตหรือระบบสาธารณูปโภคของโครงการ
6. ระบบบำบัดน้ำเสียจากโรงไฟฟ้า กิจกรรมของคนงาน และการใช้น้ำดักหรือกำจัดฝุ่น สารอันตราย
7. แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งต้องมีการรอนสิทธิในที่ดินที่เป็นเส้นทางสายส่งไฟฟ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดมีจริงหรือ
การผลิตไฟฟ้าต้องใช้ถ่านหินบิทูมินัส นำเข้าจากอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย มีองค์ประกอบของสารซัลเฟอร์ ร้อยละ 0.1-1 แต่มีสารหนู 0.73 - 0.85 แคดเมียมต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปรอทต่ำกว่า 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วต่ำกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนี้มีโครเมียม ซีรีเนียม องค์ประกอบแบบนี้ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยบอกว่า มีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด แต่ก็ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแน่นอน
โรงไฟฟ้าจะใช้ถ่านหินมีกำลังผลิตไฟฟ้า 700 เมกกะวัตต์ ต้องใช้ถ่าน 1.968,600 ตันต่อปี ถ้าผลิตไฟฟ้า 800 เมกกะวัตต์ ต้องใช้ถ่านหินเพิ่มมากขึ้น
เกิดก๊าซพิษกระทบต่อปอดและกระแสเลือด
การเผาไหม้ของถ่านหินจะก่อให้เกิดเถ้าหนัก 22,500 ตันต่อปี เถ้าลอย 202,000 ตันต่อปี เถ้าลอยเป็นฝุ่นขนาดเล็กมาก กระจายได้ไกล มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีเครื่องมือตรวจวัดได้ ฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถผ่านเข้าไปในปอดและกระแสเลือดได้
ฝุ่นขนาดเล็กต่ำกว่า 10 ไมครอน ประกอบด้วย ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,78 ฝุ่นละออง และมีสารโลหะหนัก เช่น ปรอท สารหนู ตะกั่ว แคดเมียม เจือปนอยู่
ความเสี่ยงจากการโรงไฟฟ้าและสารเคมีที่ใช้ ก่อให้เกิดฝนกรด จากการปลดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ที่เกิดจากการเผาไหม้ และเมื่อสัมผัสกับน้ำฝนจะเกิดเป็นฝนกรด ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ โดยฝนกรดจะส่งผลกระทบด้านต่างๆ ได้แก่ ดินเสื่อมคุณภาพ การเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของพืช การสะสมโลหะหนักในดิน และกระทบต่อสุขภาพ น้ำกินน้ำใช้ และอาหาร
นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการเผาน้ำมัน 29% และมากกว่าก๊าซธรรมชาติถึง 80% ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งต่อการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และเกิดภัยธรรมชาติตามมา
สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย ก็จะเกิดขึ้นจากกระบวนการเผาไหม้ถ่านหินหลายชนิด ซึ่งบางชนิดมีรายชื่ออยู่ในการควบคุมของประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 30 (พ.ศ.2550) เรื่องกำหนดมาตรฐานค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา 1 ปี ในบรรยากาศ เช่น Benzene Chloroform และ Tetrachloroethylene ซึ่งหากมีการดำเนินโครงการ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณ Benzene เพิ่มขึ้นในบรรยากาศ
ปริมาณสารพิษที่เกิดจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเก็คโค่-วัน กำลังการผลิต 700 เมกกะวัตต์
ที่ตั้ง นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง
สารพิษจากสารเคมี
สารเคมีที่ใช้ในโครงการประกอบด้วย
1. กรดซัลฟูริก ใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำ บำบัดน้ำทิ้ง บำบัดนำชะจากกองถ่านหิน 41 ตันต่อปี
2. โซเดียมไอดรอกไซด์ ปรับปรุงคุณภาพน้ำ บำบัดน้ำทิ้ง บำบัดน้ำชะจากกองถ่านหิน 41 ตันต่อปี
3. สารสร้างตะกอน บำบัดน้ำทิ้งน้ำชะลานกองถ่านหิน 1 ตัน ต่อปี
4. โซเดียมไฮโปรคลอไรด์ ปรับปรุงน้ำทะเลที่ใช้ในการหล่อเย็น 1,225 ตันต่อปี
5. แอมโมเนีย/แอมโมเนียมแอนไฮดรัส ปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนป้อนเข้าหม้อไอน้ำ ควบคุมมลพิษทางอากาศ 1,187 ตันต่อปี
6. น้ำมันหล่อลื่น 15 ตัน ต่อปี
กองถ่านหิน
กองถ่านหินต้องใช้น้ำดิบเพื่อฉีดพ่นประมาณ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นและควบคุมอุณหภูมิของถ่านหิน ไม่ให้ลุกไหม้ น้ำพ่นถ่านหินใช้หมุนเวียนแต่ต้องมีการเติมเพิ่มในระบบวันละ 360 ลูกบาศก์เมตร น้ำชะกองถ่านหินปนเปื้อนสารโลหะหนักและอื่นๆ ซึ่งต้องบำบัดด้วยสารเคมีหากจะระบายออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องระบายน้ำทิ้ง
ผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
โรงไฟฟ้าต้องสูบน้ำทะเลใช้ในการหล่อเย็นอุปกรณ์ต่างๆ ปริมาณการใช้น้ำทะเล 42 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือ 3.621.720 ลูกบาศก์เมตร/วัน หรือ 3.621.720,000 ลิตรต่อวัน
ส่วนที่ 1 ใช้หล่อเย็นที่เครื่องควบแน่นไอน้ำเพื่อทำให้น้ำที่ใช้ประโยชน์แล้วเป็นน้ำคอนเดนเสทก่อนหมุนเวียนมาผลิตไอน้ำอีก (ประมาณ 40-41 ลูกบาศก์เมตร/วินาที)
ส่วนที่ 2 ใช้หล่อเย็นที่อุปกรณ์ต่างๆ (ประมาณ 1-2 ลูกบาศก์เมตร/วินาที)
น้ำทะเลที่ใช้แล้วบางส่วนประมาณ 6-7 ลูกบาศก์เมตร/วินาที) ใช้ประโยชน์อีกครั้งที่ระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดจากหม้อไอน้า
น้ำทะเลที่ผ่านการใช้หล่อเย็นทิ้งลงทะเลจำนวน 3,078,462 ลูกบาศก์เมตร/วัน หรือ 3,078,462,000 ลิตรต่อวัน ที่อุณหภูมิสูงกว่าระดับน้ำทะเล 2-6 องศาเซลเซียส
การสูบน้ำทะเลจะมีตระแกรงกรองน้ำขนาด 1 เซนติเมตร อาจสูบในระดับลึก 2 เมตร จะมีแพลงตอนพืชและสัตว์เข้าสู่ระบบและตายเนื่องจากความร้อน ปริมาณน้ำร้อนที่ทิ้งสู่ทะเลจำนวนมากโดยอาจต่อท่อออกไปในทะเล 500 ถึง 1,000 เมตร จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำเป็นบริเวณกว้างหรือไม่ที่ต้องพิจารณา
โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำในภาคใต้ เช่น แม่น้ำตรัง แม่น้ำปะเหลียน เป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของพะยูน โลมา เต่าทะเล หญ้าทะเล และสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ปูม้า หอยชักตีน หอยปะ หอยนางรม เป็นต้น ปะการังซึ่งอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 0.5 องศาเซลเซียสในเวลาประมาณ 1 เดือน จะทำให้เกิดปะการังฟอกขาว
โรงไฟฟ้าถ่านหินมีการดึงน้ำทะเลมาใช้ เพื่อดูดซึมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากอากาศ ที่เกิดจากหม้อไอน้า หรือเรียกว่า Seawater FGD จึงอาจทำให้โลหะหนักบางส่วนปนเปื้อนลงน้ำทะเล สารหนู แคดเมียม ปรอท และตะกั่ว แม้ว่าการปล่อยทิ้งจะเป็นไปตามค่ามาตรฐาน แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตในทะเลในลักษณะผลกระทบสะสม และผลกระทบระยะยาวได้ เนื่องจากโลหะหนักเป็นสารคงตัว ไม่สามารถสลายตัวได้ในกระบวนการธรรมชาติ เมื่อปนเปื้อนลงสู่ทะเลจะสะสมในตะกอนดิน และอาจเปลี่ยนรูปไปสะสมในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต เป็นผลต่อห่วงโซ่อาหารสัตว์น้ำต่อไป
ปริมาณของสารคลอรีนหลงเหลือจากกระบวนการปลดปล่อยลงสู่น้ำทะเล ส่งผลกระทบต่อแพลงค์ตอนทำให้ตาย และกระทบทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลง รวมทั้งระบบนิเวศน์ทางทะเล ปริมาณคลอรีนความเข้มข้นเพียง 0.1 มิลลิกรัม/ลิตร ก็จะส่งผลกระทบต่อแพลงค์ตอน และปริมาณสัตว์น้ำได้
น้ำจืด
โรงไฟฟ้าต้องใช้น้ำจืดในกระบวนการผลิต 1,062 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เดือนละ 31,860 ลูกบาศก์เมตร หรือ 31,860,000 ลิตรต่อเดือน และต้องมีน้ำจืดอีกจำนวนหนึ่งสำหรับสาธารณูปโภคในโรงงาน สิ่งที่ต้องตั้งคำถามจะเอาน้ำจืดมาจากที่ไหน
ท่าเรือและแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง
ท่าเรือและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ยังไม่มีข้อมูลว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะดำเนินการอย่างไร แต่เป็นสิ่งจำเป็นต้องมีเนื่องจากถ่านหินขนส่งทางทะเล และต้องคำนึงถึงผลกระทบจากเรือที่ขนส่งถ่านหินจำนวนมาก จากสภาพความลึกของร่องน้ำบริเวณที่จะก่อสร้าง ต้องใช้เรือที่บรรทุกถ่านหินประมาณลำละ 10 ตัน จะต้องมีเรือขนส่งถ่านหินประมาณ 196,860 เที่ยวต่อปี หรือ 539 เที่ยวต่อวัน อาจทำให้ตะกอนทะเลในช่วงน้ำลงฟุ้งกระจาย หรืออาจจำเป็นต้องมีการขุดลอกร่องน้ำเป็นประจำ หรือในกรณีมรสุมอาจเกิดเรือล่มดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2554
แนวสายส่งไฟฟ้ายังไม่มีข้อมูลว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยออกแบบอย่างไร แต่เป็นองค์ประกอบที่ต้องมี โดยปกติจะมีการรอนสิทธิที่ดินความกว้าง 30 เมตรตามแนวสายส่ง โดยจ่ายค่าชดเชยจำนวนหนึ่งและห้ามเจ้าของที่ดินปลูกไม้ยืนต้นตามแนวสายส่ง การรอนสิทธิมีทั้งโดยความสมัครใจและบังคับโดยกฎหมาย
การขนส่งถ่านหิน
มีการขนส่งถ่านหินทางเรือเข้าสู่ท่าเทียบเรือของโรงไฟฟ้าเดิม ก่อนลำเลียงผ่านสายพานลำเลียงระบบปิดเข้าสู่พื้นที่ลานกองถ่านหินของโครงการ ความถี่การขนส่ง 33 เที่ยว/ปี ถ่านหินประมาณ 1,968,500 ตัน/ปี หรือเที่ยวละประมาณ 59,700 ตัน/ปี และเมื่อโครงการดำเนินการแล้วจะมีการขนส่งถ่านหินทางเรือ 52 เที่ยว/ปี ขณะการขนส่งจะใช้เวลาขนส่งแต่ละเที่ยวเข้าสู่พื้นที่โครงการประมาณ 5-7 วัน/เที่ยว โดยท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับถ่านหินขนาด 60,000 ตัน
ผลกระทบต่อสุขภาพ
การมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ ปอด หอบหืด ปอดบวม เกิดพังผืดในปอด มะเร็งจากสารอินทรีย์ระเหย โรคจากโลหะหนัก จะทำให้ระบบการหมุนเวียนเลือดล้มเหลว ทำลายตับ ไตวายเฉียบพลัน เลือดออกมากผิดปกติ ทำให้กระบวนการเมทาบอลิซึมบกพร่อง เป็นพิษต่อตับ ไต ท่อปัสสาวะ กระเพาะ ลำไส้ ม้าม ไขกระดูก หัวใจ ระบบประสาทส่วนกลาง
ที่มาของข้อมูล: รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนเก็คโค่-วัน (ที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง)
ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2515 โดยในปี 2518 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 โรง ส่วนโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 4-11 มีการก่อสร้างเพิ่มเติมในเวลาต่อมา โรงไฟฟ้าใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิง และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 1.6 ล้านตัน/ปี จนทำให้แม่น้ำลำธารเป็นสีดำ เผาไหม้นาข้าว และสร้างปัญหาต่อสุขภาพของคนแม่เมาะที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อย่างรุนแรง
วันที่ 3 ตุลาคม 2535 เมื่อลมหนาวปะทะลมร้อนที่ยังไม่สิ้นฤดูกาล ทำให้ลมเปลี่ยนทิศทางพัดเข้าสู่หมู่บ้านสบป้าด อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะประมาณ 5 กิโลเมตร ด้วยอุณหภูมิของอากาศที่ผกผัน ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะ จึงทำให้เกิดเพดานอากาศแยกเป็น 2 ชั้น มลพิษที่ถูกปล่อยจากปล่องโรงไฟฟ้าจึงถูกดึงกลับลงสู่พื้นดิน
ในวันที่เกิดเหตุ นอกจากการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และฝุ่นจากโรงไฟฟ้าโดยปกติแล้ว ยังมีเครื่องดักจับฝุ่นของโรงไฟฟ้าบางโรงเสีย อีกทั้งสภาพอากาศที่มีลักษณะปิด จึงทำให้มลพิษกระจายตัวไปทั่วบริเวณ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านและพนักงานโรงไฟฟ้าหลายพันคนล้มป่วยด้วยอาการหายใจไม่สะดวก คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ เคืองตาและจมูก เนื่องจากสูดสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้าไป ในกรณีกลุ่มคนที่อ่อนแอ เช่น เด็ก คนชรา ผู้ป่วยโรคหัวใจ ภูมิแพ้ และโรคระบบทางเดินหายใจ ก็ปรากฏอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน ไม่ถึง 2 เดือนพื้นที่ไร่นากว่าร้อยละ 50 รอบโรงไฟฟ้าก็ได้รับความเสียหายจากฝนกรด
จากการตรวจสอบคุณภาพอากาศในวันนั้น พบว่าช่วงเวลาที่ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงสุด มีมากถึง 2,200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเวลานานถึง 45 นาที หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ป่วยในรายละ 5,000 บาท และผู้ป่วยนอกรายละ 1,000 บาท และค่าเสียโอกาสในการทำงานรายละ 100 บาทต่อวัน รวมเป็นเงินเบ็ดเสร็จกว่า 4 ล้านบาท
หลังจากเกิดปัญหาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงยอมควักกระเป๋าลงทุนติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือเครื่องดักจับออกไซด์ของซัลเฟอร์ (FGD) ในโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 4-11 เพื่อลดผลกระทบของมลพิษทางอากาศ ส่วนหน่วยที่ 1-3 ไม่มีการติดตั้ง เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าเก่า ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนและภายหลังได้ปิดตัวลง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 โรง คือหน่วยที่ 12 และ 13 เริ่มเดินเครื่องใช้งานในปี 2538
ถึงแม้จะมีการติดตั้งเครื่อง FGD แล้วก็ตาม ปัญหามลพิษก็ยังไม่หมดไป เพราะหลังจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เดินเครื่องโรงไฟฟ้าอย่างเต็มพิกัดครบทุกหน่วยในปี 2539 ปัญหามลพิษกลับรุนแรงขึ้นอีกครั้ง และเกิดความรุนแรงซ้ำอีกในปี 2541 ซึ่งทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยยอมรับว่า เครื่อง FDG ของโรงไฟฟ้าในวันเกิดเหตุ ใช้การได้เพียง 2 เครื่อง จากจำนวน 10 เครื่อง
กรมอนามัยระบุว่า แม่เมาะมีปัญหาฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน จากการศึกษาในปี 2538-2543 พบว่าฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนโดยเฉลี่ยแต่ละจุดจะอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ถ้าเจาะเป็นพื้นที่จะพบว่าบางจุดมีค่าสูงเกินกว่า 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานคือ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) แม้ในระยะหลังปัญหาเรื่องฝุ่นละอองจะบรรเทาลง แต่ในวันที่ 4 มีนาคม 2550 ค่าฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ที่แม่เมาะก็ขึ้นไปสูงถึง 209 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
จากปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ในที่สุดจึงนำไปสู่ข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ต้องการอพยพออกจากพื้นที่ เมื่อปี 2539 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตกลงที่จะอพยพโยกย้ายราษฎร 4 ตำบล 16 หมู่บ้านคือ ตำบลนาสัก ตำบลสบป้าด ตำบลแม่เมาะ ตำบลบ้านดงประมาณ 3,500 ครอบครัว แต่ไม่มีการดำเนินการ กระทั่งในปี 2544 คณะรัฐมนตรีมีมติให้อพยพโยกย้ายชาวบ้านก่อนเพียงหมู่บ้านเดียวคือ บ้านหางฮุงราว 400 หลังคาเรือน แต่ปัจจุบันกระบวนการอพยพชาวบ้านก็ยังไม่แล้วเสร็จ
ในส่วนของการฟ้องร้อง เพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยชดเชยค่าเสียหาย ชาวบ้านในอำเภอแม่เมาะ 437 คน ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ในปี 2546 โดยคำฟ้องระบุว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ใช้ถ่านหินลิกไนต์คุณภาพต่ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า และมิได้บำบัดอากาศเสียให้ได้มาตรฐานก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศ จนทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 ศาลปกครองได้วินิจฉัยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ชดเชยค่าเสียหายเป็นค่าเสื่อมสุขภาพและจิตใจให้แก่ชาวบ้าน โดยส่วนใหญ่ชดเชยให้กับชาวบ้านรายละ 246,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้อง รวมทั้งให้จัดหาพื้นที่อพยพให้ชาวบ้านหมู่บ้านห้วยคิง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ที่มาข้อมูล: “แม่เมาะเมืองในหมอก(มลพิษ)” โดยเสมอชน ธนพัธ จากนิตยสารโลกสีเขียว ปีที่ 12 ฉบับที่ 5, “จากเชียงใหม่ถึงแม่เมาะ วิกฤตหมอกควันของเมืองในแอ่งกระทะ” โดยสุเจน กรรพฤทธิ์ จากหนังสือเมื่อปลาจะกินดาว 7, “กฟผ.พ่ายคดีชดเชยแม่เมาะหัวละ2.4แสน” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 มีนาคม 2552
ถึงหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไฟฟ้าก็ไม่ดับ
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2550-2564 หรือแผน PDP2007 ซึ่งได้รับการอนุมัติในปี พ.ศ.2550 มีการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงเกินความต้องการไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริง ดังข้อมูลในตารางที่ 1 นำมาสู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่างๆ มากเกินความจำเป็น และเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้ามากขึ้นทั้งประเทศ
ปัญหาการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้ากับค่าจริงในช่วงปี 2551-2554
อ้างอิง: 1) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, 2550, แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2550-2564 (PDP 2007), ฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
2) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, 2552, แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2551-2564 (PDP 2007: ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2), ฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
3) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, 2553, สรุปแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย
พ.ศ.2553-2573 (PDP 2010), ฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ปัญหาการพยากรณ์ล้นเกินที่นำมาสู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินไป ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องมาสู่แผนซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2553-2573 (PDP2010) ซึ่งได้รับอนุมัติในปีที่แล้ว (พ.ศ.2553) แต่ผ่านมาเพียงปีเดียว ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นจริงในปี 2554 ก็ต่ำกว่าการพยากรณ์ในแผน PDP2010 ไปแล้ว 668 เมกะวัตต์
ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดของระบบ เดือนมกราคม-กันยายน 2554
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย http://prinfo.egat.co.th/indexview.php?main_menu1=01&sub_menu1=01&sub_menu2=0102 เข้าเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554
เมื่อนำค่าจริงของปี 2554 ไปคำนวณตามอัตราการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าตามแผน PDP2010 จะทำให้ค่าการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าต่ำลง โดยในปี 2573 มีค่าลดลง 1,436 เมกะวัตต์ และเมื่อรวมกับกำลังผลิตสำรองอีกร้อยละ 15 จะส่งผลให้ลดความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไปได้ 1,652 เมกะวัตต์ ซึ่งลดภาระในการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้อย่างน้อย 50,000 ล้านบาท
หยุดโรงไฟฟ้ายังพัฒนาประเทศได้
การปรับค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า โดยใช้ค่าจริงของปี 2554 และใช้อัตราการเติบโตตามแผน PDP2010
ดังนั้นโครงการโรงไฟฟ้าในช่วงปี 2554-2559 ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน โครงการโรงไฟฟ้าในภาคใต้ โครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของเอกชนอีก 2 โครงการ และโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนท์ในลาวและพม่า สามารถเลื่อนออกไปได้ถึงปี 2560 หรือยกเลิกโครงการ เพื่อไม่ให้เป็นภาระทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นภาระส่วนเกินของผู้บริโภคที่เกิดจากค่าไฟฟ้า เมื่อเลื่อนหรือยกเลิกโครงการเหล่านี้แล้ว กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศยังคงสูงมากกว่าระดับมาตรฐานที่ร้อยละ 15
การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการจัดการด้านความต้องการไฟฟ้า เป็นทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำที่สุด และมีผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และสุขภาพ ต่ำกว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงต่างๆ
ล่าสุด กระทรวงพลังงานและรัฐบาล เห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ.2554-2573) ซึ่งศึกษาโดยบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งระบุศักยภาพการประหยัดไฟฟ้าภายในปี 2573 ของภาคอุตสาหกรรม, ภาคอาคารธุรกิจขนาดใหญ่, และภาคอาคารขนาดเล็กและบ้านเรือน รวม 84,140 ล้านหน่วย หรือร้อยละ 24.2 ของแผน PDP2010
ทั้งนี้ แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ได้กำหนดเป้าหมายของแผนฯ ประมาณร้อยละ 82 ของศักยภาพ หรือประมาณ 69,000 ล้านหน่วย ซึ่งเท่ากับการลดความต้องการไฟฟ้าประมาณ 10,500 เมกะวัตต์ และสามารถลดความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลงได้ 12,000 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับโครงการโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน รวมกับโรงไฟฟ้าถ่านหินอื่นๆ อีก 8 โรง และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 5 โรง
เป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานในแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีของกระทรวงพลังงาน
ที่มา: กระทรวงพลังงาน, 2554, แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ.2554-2573), หน้า 5
การดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี จะนำไปสู่การประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน272,000 ล้านบาทต่อปี และหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมเฉลี่ย 49 ล้านตันต่อปี รวมทั้งยังลดการใช้น้ำ ลดการปล่อยมลพิษจากการผลิตไฟฟ้า และลดผลกระทบต่อสุขภาพอีกด้วย โดยแผนฯ ได้กำหนดกรอบงบประมาณในช่วง 5 ปีแรกประมาณ 29,500 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 5,900 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีความคุ้มค่าในการลงทุนคิดเฉลี่ยเท่ากับ 2,000-6,000 บาทต่อตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ
พัฒนาพลังงานหมุนเวียนประเทศไทยรุ่งโรจน์
สำหรับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) อันเป็นทรัพยากรภายในประเทศ และมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพน้อยกว่า จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานในเดือนมิถุนายน 2554 มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) และขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนหลายประเภทเสนอขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันรวมเป็นกำลังผลิตทั้งหมด 7,837 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการที่มีความแน่นอนพอสมควร คือ เป็นโครงการที่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว กับได้ตอบรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ แล้ว รวม 5,602 เมกะวัตต์ ซึ่งในจำนวนนี้คิดเป็นกำลังผลิตพึ่งได้ 2,892 เมกะวัตต์ ซึ่งได้พิจารณาความผันผวนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไว้แล้ว
ข้อเสนอ
1. กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ควรยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีแผนจะดำเนินการในภาคใต้ รวมทั้งโครงการอื่นๆ ออกจากแผน PDP ซึ่งหากไม่ดำเนินการ จะเป็นภาระทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นภาระส่วนเกินของผู้บริโภคที่เกิดจากค่าไฟฟ้า ดังนั้นจึงไม่ควรอนุมัติโครงการ หรือดำเนินการอื่นใด ที่จะกลายเป็นการผูกมัด หรือเอื้อประโยชน์แก่ผู้ลงทุนก่อนที่จะปรับแผน PDP ใหม่
2. กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ควรเร่งดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ.2554-2573) อย่างเต็มที่ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนทั้งภาคเอกชนในรูปแบบ SPP และ VSPP และภาคชุมชน ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่งมีศักยภาพ เป้าหมาย และโครงการ มากกว่ากำลังผลิตของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายเท่า และมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และสุขภาพน้อยกว่า
ที่มาของข้อมูล: รายงานความเห็นประกอบส่วนตนโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด โดยนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ นายศุภกิจ นันทะวรการ และนายสัญชัย สูติพันธ์วิหาร กรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (เฉพาะกาล)