คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยาวนานถึง 8 ปี เป็นเหตุให้มีคนตายจากสาเหตุการก่อการร้ายจำนวนถึง 5,000 คน และมีคนเจ็บ คนพิการ อีกกว่า 8,000 คน มีคนถูกอุ้มหายไปอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาผู้เสียชีวิตที่เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน เช่น ครู พัฒนาการ อนามัย ท้องถิ่น และอื่นๆ ต่างได้รับการเยียวยาจากรัฐ ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบราชการ ซึ่งได้รับเงินชดเชย ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป จนถึง 1.8 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุด
ในขณะที่ประชาชน ซึ่งตกเป็นเหยื่อการก่อวินาศกรรม และการฆ่ารายวันที่เกิดขึ้นทุกวันๆ ละ 2-3 ราย ที่ผ่านมาถ้าเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจ และปกครอง ยอมรับว่าผู้ตายๆ เพราะฝีมือของอาร์เคเค รัฐจะจ่ายค่าเยียวยาให้รายละ 100,000 บาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือครอบครัวของผู้ตกเป็นเหยื่อสถานการณ์ ซึ่งเรียกว่าเป็นคดีความมั่นคง
ยกเว้นกรณีที่คนร้ายซึ่งเป็นอดีตทหารพรานที่กราดยิงเข้าไปในมัสยิดไอร์ปาแย อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้มีคนตายจำนวน 10 ศพ ที่รัฐได้จ่ายเงินเยียวยาให้มากกว่า 100,000 บาท ส่วนคดีอื่นๆ ที่มีการฟ้องร้องว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต เช่น กรณีการเสียชีวิตของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ซึ่งกองทัพต้องจ่ายค่าชดเชยให้ 5.3 ล้าน บาท เป็นการได้มาเพราะการฟ้องร้อง ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งยังมีอีกหลายคดีที่เป็นคดีการกักขังหน่วงเหนี่ยว ทำร้ายร่างกาย และศาลสั่งให้จ่าย ส่วนผู้ที่ไม่มีการฟ้องร้องหรือคดีอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในศาลอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่จบ เช่น คดีการตายหมู่ 85 ศพ ที่ตากใบ เป็นต้น
ทั้งนี้ จากกรณีที่รัฐบาลมีมติให้มาการจ่ายเงินค่าเยียวยาครั้งใหม่ ให้กับกลุ่มเหยื่อสถานการณ์จำนวน 4 กลุ่ม ที่เสียชีวิตใน 3 จังหวัด 4 อำเภอ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกับที่รัฐ ต้องการเยียวกลุ่ม “คนเสื้อแดง” ที่เสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมืองที่ “ราชประสงค์” จึงกลายเป็น “อานิสงส์” ให้กับผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์การก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ซึ่งหากไม่มีกรณี “คนเสื้อแดง” เกิดขึ้น ผู้เสียชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คงจะได้ได้รับการเยียวยาเท่าที่ได้ไปแล้วเท่านั้น
แต่ในที่สุดเงินเยียวยาจำนวน 7.5 ล้าน ที่รัฐบาลมีมติจ่ายเป็นค่าเยียวให้กับ “เหยื่อ” สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็สร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้น เนื่องจากกติกาของการเยียวยากำหนดไว้ว่า ผู้ที่อยู่ในข่ายการได้รับเงินจำนวน 7.5 ล้านบาท ต้องเป็นผู้เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น ส่วนผู้ที่เป็นเหยื่อสถานการณ์ที่เป็นประชาชน ข้าราชการ อาสาสมัคร อรบ ชรบ. และอื่นๆ ไม่อยู่ในข่ายของเงินเยียวยา 7.5 ล้าน แต่อย่างใด
และยิ่งร้าวฉานยิ่งขึ้น เมื่อกลุ่มคนที่อยู่ในข่ายได้รับเงิน 7.5 ล้าน เป็นผู้ที่เสียชีวิตในมัสยิสกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี และผู้ที่ถูกกราดยิงเสียชีวิตในมัสยิดไอร์ปาแย อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และ ผู้เสียชีวิตจำนวน 12 ราย ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลาด้วย
ขณะนี้จึงมีเสียงคัดค้านแสดงความไม่เห็นด้วย และเห็นว่าขบวนการเยียวยาที่เกิดขึ้นเกิดความไม่เป็นธรรมต่อเหยื่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เป็นข้าราชการพลเรือน โดยเฉพาะครูที่เสียชีวิตไปแล้ว 151 ศพ และประชาชนที่เป็นเหยื่อสถานการณ์อีกนับพันคน โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับการเยียวยาเพียงศพละ 100,000 บาทเท่านั้น
ในขณะที่ผู้เสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะ ซึ่งอยู่ในข่ายผู้ก่อความไม่สงบ เนื่องจากนำกำลังบุกเข้าไปฆ่าเจ้าหน้าที่ วางเพลิงเผาจุดตรวจ ก่อนที่จะเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ และหลบหนีเข้าไปอาศัยในมัสยิดกรือเซะ และถูกเจ้าหน้าที่กวาดล้างจนเสียชีวิตทั้งหมด ส่วนกรณีการกราดยิงจนมีผู้เสียชีวิตที่มัสยิดไอร์ปาแย อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส นั้น ผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีในขณะนี้คือ อดีตทหารพราน และสาเหตุการฆ่าหมู่ 10 ศพ มีการระบุในสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เช่นเดียวกับการตายของคน 12 ศพ ที่ตลาดสะบ้าย้อย จ.สงขลา เกิดจากคนทั้ง 12 คน ซึ่งเป็น “แนวร่วม” หลงเชื่อ “แกนนำ” การก่อการร้ายว่ามีเครื่องรางของขลัง และมีคาถากำบังตัว บุกเข้าไปยิงเจ้าหน้าที่ในจุดตรวจ จนถูกเจ้าหน้าที่ไล่ยิงจนเสียชีวิตทั้งหมด
ในกรณีมัสยิดกรือเซะ และกรณีสะบ้าย้อย จึงถูกคนส่วนหนึ่งมองว่า ทั้ง 2 กรณี ผู้เสียชีวิตมีส่วนในการก่อความไม่สงบ จึงไม่น่าจะอยู่ในข่ายได้รับการเยียวยาจำนวน 7.5 ล้านบาท เช่นเดียวกับกรณีไอร์ปาแย ที่ผู้เป็นผู้ต้องหาเป็นอดีตทหารพราน คำว่า “อดีต” แสดงว่าไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่น่าจะอยู่ในข่ายการเยียวยา 7.5 ล้านบาทเช่นกัน
ดังนั้น ในความเห็นของคนส่วนใหญ่ ผู้เสียหายที่อยู่ในข่ายได้รับเงินชดเชย 7.5 ล้านบาท จึงเป็นกรณี 85 ศพ ที่ “ตากใบ” ซึ่งเสียชีวิตจากการนำผู้ต้องสงสัยจาก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งเดินทางโดยรถบรรทุกไปยังที่ควบคุมตัว ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต และกรณี อิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่มีหลักฐานพยาน ว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายจนเสียชีวิต กับกรณีผู้สูญหาย ซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนมีมูลว่าถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับ หรือ “อุ้ม” หายไป เช่น กรณีของทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นต้น
ประเด็นความยุ่งเหยิงที่ส่อเค้าของความ “คับแค้น” ครั้งใหม่ ที่มาจากเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทครั้งนี้ มาจากความไม่พอใจของข้าราชการพลเรือน โดยเฉพาะ “ครู” และข้าราชการพลเรือนอื่นๆ กับประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่ไม่อยู่ในข่ายการเยียวยาเพิ่มเติมจากที่ได้รับไปแล้ว ซึ่งขณะนี้หลายๆ กลุ่มได้ออกมาเคลื่อนไหว ทวงถามมาตรฐานการเยียวยา และทวงถามความยุติธรรม จากรัฐบาลกันแล้วว่า ทำไมชีวิตของประชาชน ที่เป็น “เหยื่อ” สถานการณ์ จึงมีค่าแค่ 100,000 บาท แต่ชีวิตของคนบางกลุ่ม จึงถูกตีค่ามากกว่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ นี่คือความยุ่งเหยิง วุ่นวาย ประการแรก
ส่วนความยุ่งเหยิง วุ่นวาย ประการที่สอง คือ ขณะนี้ได้เกิดขบวนการ “นายหน้า” ขึ้นใน 3 จังหวัด 4 อำเภอ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย “นายหน้า” เหล่านี้ ได้เข้าพบกับญาติๆ ของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บที่อยู่ในข่ายจะได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือดำเนินการทางด้านเอกสาร และด้านกฎหมาย ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ มีการเก็บเอกสาร เช่น มรณะบัตร ทะเบียบบ้าน บัตรประชาชน และเรียกค่าดำเนินการตั้งแต่รายละ 1 ล้านบาท หรือ 20 เปอร์เซ็นของเงินเยียวยาที่ได้รับ
ถ้าเป็นภูมิภาคอื่น สิ่งเหล่านี้คงจะเกิดขึ้นยาก แต่สำหรับในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งเหล่านี่คือเหตุการณ์ปกติ เนื่องจากคนส่วนหนึ่งในพื้นที่เข้าไม่ถึงองค์ความรู้ พูดภาษาไทยไม่คล่อง อ่านหนังสือไทยไม่ได้ และมี “อคติ” เป็นทุนเดิมกับข้าราชการ รวมทั้งกลัวว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงมีคนส่วนหนึ่งยอมที่จะแบ่งเงินให้กับ “นายหน้า” เพื่อมั่นใจว่า จะได้รับเงินเยียวยาแน่นอน
และอีกหนึ่งความ “ร้าวฉาน” ที่กำลังตามมากับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทคือ ความแยกแยกในครอบครัว ที่พ่อ แม่ ลูก ลูกสะใภ้ และลูกๆ ของผู้ตาย รวมทั้งวงศาคณาญาติที่ต้องการจะมีส่วนแบ่ง ในเงิน 7.5 ล้าน และสิทธิต่างๆ ที่รัฐจะมอบให้เพื่อเป็นการเยียวยาทางด้านจิตใจ ซึ่งถ้าไม่มีการวางกฎเกณฑ์ กติกาที่ทุกคนรับได้ เงิน 7.5 ล้าน จะเป็นปมของความแตกแยกในสังคม
แน่นอนว่าเงินเยียว 7.5 ล้าน ไม่มากและไม่น้อย และทุกคนเห็นด้วยที่จะมีการจ่ายเงินเพื่อเยียวยาผู้เสียหายจากสถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่รัฐบาลต้องชี้แจงที่มาของผู้ที่ได้รับสิทธิ์ของเงิน 7.5 ล้านให้ชัดเจน และต้องมีเหตุผลที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ถูกต้อง และในขณะเดียวกัน รัฐต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนในการตอบคำถามให้กับกลุ่มคนที่สูญเสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบ ที่เป็นประชาชนทั่วไป และข้าราชการอีกหลายสังกัด ที่เขาได้รับเงินเยียวยาเป็นค่า “ชีวิต” ที่ไม่เท่าเทียม
วันนี้ ปัญหาทั้งหมดจึงตกอยู่บนบ่าของศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่จะต้องเร่งวางกฎเกณฑ์ กติกา ในการจ่ายค่าเยียวยาให้ชัดเจน สามารถตอบคำถามของสังคมได้ และสามารถตอบคำถามของญาติผู้เสียชีวิตอีกจำนวนหลายพันคน ที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับเงิน 7.5 ล้านบาท เร่งดำเนินการให้รวดเร็ว ชัดเจน และยุติธรรม ให้เหมือนกับที่มีการประกาศว่าจะใช้ “ยุติธรรมนำการเมือง”
อย่าปล่อยให้ชนวนเงินเยียวยา 7.5 ล้าน กลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” และอย่างให้เงินเยียวยา 7.5 ล้าน กลายเป็นชนวนเหตุของความ “คับแค้นใจ” ครั้งใหม่ในหมู่ของประชาชน ซึ่งจะเป็นเหมือนกับรัฐใช้เงิน 7.5 ล้าน เพื่อดับไฟกองเก่าที่คุกรุ่นอยู่ ซึ่งยังไม่มีใครตอบได้ว่าการใช้เงินเยียวยารายละ 7.5 ล้าน จะดับไฟกองเก่าได้หรือไม่ แต่ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากเงินเยียวยา 7.5 ล้าน กำลังเป็นไฟกองใหม่ที่ถูกจุดขึ้นมาแทนที่
และสุดท้าย ถ้าการบริหารจัดการไม่เป็นไปตามความเป็นจริง และไม่ตั้งอยู่ในบรรทัดฐานของความ ยุติธรรม ผลงานการเยียวยาของรัฐบาล แทนที่จะเป็นผลงานชิ้น “โบแดง” ในการแก้ปัญหาด้วยการใช้เงินเพื่อดับ “ไฟใต้” ก็จะกลายเป็นผลงานที่เป็น “โบว์ดำ” และจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้รุนแรงยิ่งขึ้น