คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้”
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
ความจริงวันนี้ผมตั้งใจที่จะเขียนถึงเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะบอกกันตรงๆ ว่า 8 ปีที่ผ่านมาผมเขียนถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินปลายด้ามขวานมาจนเบื่อตัวเอง ซึ่งคงเหมือนกับผู้อ่านส่วนมากที่เบื่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน 3-4 จังหวัดภาคใต้เต็มประดา
แต่สุดท้ายวันนี้ผมก็ต้องเขียนถึงเรื่องของจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง เพราะตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีคำถามของประชาชนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมี “สื่อ” จำนวนไม่น้อย ที่โทรศัพท์มาถาม และพูดคุยกับผมในเรื่องร้อนๆ 2 เรื่องด้วยกัน
เรื่องแรกคือ “เงินค่าเยียวยา” ผู้เสียชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเรื่องที่ 2 คือเรื่อง “ความคืบหน้าของคดีทหารพรานฆ่าประชาชน” ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
สำหรับเรื่องแรกนั้น วันนี้ทุกคนที่ติดตามข่าวสารคงจะได้ทราบแล้วว่า ผู้เสียชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีหลักฐานยืนยันว่าเสียชีวิตเพราะ “ฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ” อย่างเช่น กรณีของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง หรือ กรณีเสียชีวิตจากการนำผู้ชุมนุมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส มายังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ซึ่งเสียชีวิตเพราะ เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำ จะได้รับการเยียวยาเท่ากับกรณี “คนเสื้อแดง” ที่เสียชีวิตจากการชุมชุมทางการเมืองที่ราชประสงค์ คือ จะได้รับการเยียวยารายละ 7.5 ล้านบาท
ถือเป็นเรื่องความโชคดีของญาติๆ เหยื่อที่เสียชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสียชีวิตเพราะฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะหากรัฐบาลชุดนี้ไม่มีมติจ่ายค่าเยียวยาให้กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวน 7.5 ล้านบาทแล้วไซร้ รับรองว่าเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คงจะได้รับการเยียวยาย้อนหลังไม่เกิน 5 แสนบาท
หรือเอาให้ตรงตามหลักศาสนาอิสลามที่บัญญัติว่า ในกรณีเจ้าหน้าที่รัฐทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ต้องเยียวยาเป็นอูฐ 10 ตัว ซึ่งถ้าคิดเป็นตัวเงินประมาณ 1.5 ล้านบาท คงไม่มีใครจะได้เงินมากขนาด 7.5 ล้านบาทอย่างแน่นอน
เรื่องของคนเสื้อแดงจึงเป็นอานิสงส์ให้เหยื่อเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับเงินเยียวยาเท่าๆ กับคนเสื้อแดง เพราะหากเป็นไปไม่เหมือนกัน รัฐบาลจะหาคำตอบให้กับประชาชนไม่ได้
ดังนั้น คำถามที่มีคนในพื้นที่ถามต่อมา คือ ผู้เสียชีวิตที่มัสยิดไอร์ปาแย และที่มัสยิดกรือเซะ ทำไม่จึงอยู่ในข่ายที่จะได้รับการเยียวยาเท่ากับกรณีอิหม่ามยะผา และกรณีการชุมนุมที่ตากใบ ในเมื่อมีการกล่าวว่าการเยียวยาผู้เสียหายที่อยู่ในข่าย 7.5 ล้านบาทนั้น ต้องเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
แต่กรณีการยิงเข้าไปในมัสยิดไอร์ปาแย อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส จนมีผู้เสียชีวิต 10 ราย และบาดเจ็บจำนวนหนึ่งนั้น กองทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แถลงว่า ผู้ที่เป็นคนร้ายเป็น “อดีตทหารพราน” ที่ปลดประจำการไปแล้ว และในสำนวนสอบสวนของตำรวจระบุว่า สาเหตุการฆ่าหมู่ 10 ศพเป็นเรื่องส่วนตัว
ประชาชนจึงตั้งข้อสงสัยผ่านมายังผมว่า คำว่า “อดีตทหารพราน” ยังเป็นคนของรัฐอยู่หรือไม่ และคำว่า “เรื่องส่วนตัว” ย่อมหมายความว่า เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการใช่หรือไม่ ถ้าใช่แล้วทำไม่คดีไอร์ปาแยจึงได้รับการเยียวยาเท่ากับคดีที่คนของรัฐเป็นผู้กระทำให้ตาย บาดเจ็บ หรือสูญหาย
และคำถามข้อที่ 2 ของประชาชน คือ คดี “กรือเซะ” ซึ่งก่อนเกิดเหตุให้ทหารส่งกำลังเข้าไปปิดล้อมมัสยิดกรือเซะ คนเหล่านั้นได้บุกเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ในป้อมยาม มีเจ้าหน้าที่ตาย บาดเจ็บ และมีการเผาทำลายป้อมยาม จนทำมาถึงการล้อมจับกุม และเมื่อผู้ที่หลบอยู่ในมัสยิดไม่ยอมมอบตัวและมีการยิงต่อสู้ จึงถูกเจ้าหน้าที่ยิงจนเสียชีวิต
ประชาชนในพื้นที่ถามว่า ผู้ที่เสียชีวิตอยู่ในข่ายของ “คนร้าย” ที่เป็น “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือเป็น “พลเมืองดี”
และถ้าผู้เสียชีวิตที่ “กรือเซะ” ได้รับการเยียวยาเท่ากับที่เหยื่อที่ “ตากใบ” ได้รับ มีการถามต่ออีกว่า คนเสียชีวิตในคืนเดียวกัน ซึ่งมีอาวุธในมือบุกเข้าโจมตีที่ว่าการอำเภอ โรงพัก ที่ อ.กรงปีนัง ที่ อ.แม่ลาน ที่ อ.สะบ้าย้อย และที่อื่นๆ กว่า 10 จุด และถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตเช่นเดียวกับที่ “กรือเซะ” ทำไมจึง “ตกสำรวจ”
รวมทั้งเหตุการณ์ที่ผู้บริสุทธิ์ในร้านน้ำชาที่บ้านกาโสด อ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่ถูก “อดีตทหารพราน” กราดยิงบาดเจ็บและเสียชีวิต ทำไมจึงไม่อยู่ในบัญชี 7.5 ล้านบาท ทั้งที่ผู้เป็นเหยื่อคือ “ผู้บริสุทธิ์” ส่วนผู้กระทำก็เป็นอดีตทหารพรานเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่มัสยิดไอร์ปาแย
เหล่านี้คือ คำถามที่รัฐบาลต้องตอบให้ชัดเจน เพราะคนส่วนใหญ่ต้องการฟังคำตอบ ส่วนเรื่องจำนวนเงิน 7.5 ล้านบาทนั้น ท่านก็ต้องอธิบายด้วยว่า เป็นการเยียวยาด้วยหลักเกณฑ์สากล ที่ประเทศที่เจริญแล้วเขาปฏิบัติกัน และใช้เฉพาะในกรณีคนของรัฐ เข่นฆ่าประชาชนเท่านั้น
ส่วนเรื่องประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูก “แนวร่วม” ฆ่าจำนวนหลายพันศพ รัฐเยียวยาให้เพียง 1 แสนบาทต่อราย ถือว่าเป็นกรรมเก่าของทุกคนที่ตกตาย เพราะไม่รู้จักหลบหลีกให้พ้นจากปฏิบัติการของ “แนวร่วม”
เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ พลเรือน ท่านมีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของประชาชน เมื่อถูก “แนวร่วม” เข่นฆ่าถึงแก่ชีวิต บาดเจ็บ พิการ ย่อมไม่สามารถเรียกร้องค่าเยียวยาจำนวน 7.5 ล้านบาท เพราะท่านตายจากการทำหน้าที่
วันนี้เรื่องค่าตอบแทนหรือ “เงินเยียวยา” กลายเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจาก 8 ปีมีคนตายไปสี่พันกว่าศพ บาดเจ็บไปกว่าแปดพันคน ทุกคนต่างต้องการคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องของการเยียวยา
ดังนั้น งานที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องประโคมโหมโรงเรื่องการเยียวยาจำนวนเงิน 7.5 ล้านบาท เหมือนกับว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง แต่ต้องเร่งดำเนินการ “สื่อสารกับสังคม” ทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องหลักเกณฑ์การเยียวยา ชี้แจงให้ทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบได้รับทราบ เพื่อให้เขาเข้าใจถึงหลักเกณฑ์ที่ถูกกำหนดขึ้น
เพราะหากไม่ทำความเข้าใจกับประชาชน สุดท้ายจะเป็นเหมือนว่ารัฐบาลได้ “ดับไฟกองเก่า” แล้ว “จุดไฟกองใหม่” ขึ้นมา ซึ่งเป็นไฟแห่งความคับแค้น ความไม่เข้าใจ อันจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ความเป็นปรปักษ์กับรัฐมากขึ้น!!
ผมเป็นห่วงครับ เป็นห่วงที่สุดท้ายแล้วปัญหา “ความยุติธรรม” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะกลับไปสู่วงจรเดิมๆ คือรัฐได้งาน เสียเงิน แต่ “ไม่ได้ใจ” ของคนในพื้นที่ และถ้าเป็นอย่างนี้ “ไฟใต้” ก็จะไม่มีวันมอดดับอย่างแน่นอน ?!?!