ศูนย์ASTVผู้จัดการหาดใหญ่
กว่า 1 เดือนที่รัฐบาลรับปากประกันราคายางพารา 120 บาท/กก.หลังเสียงปืนลั่นระหว่างการชุมนุมชาวสวนยางภาคใต้เริ่มบนถนนสี่แยกคูหา อ.หาดหาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา แม้ขณะนี้ราคาจะทยอยปรับขึ้นแตะประมาณ 110 บาทแล้ว แต่สถานการณ์ก็ยังน่าเป็นห่วง เมื่อมีผลการปรับ ครม. ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งไม่ยี่หระต่อพัฒนาวงการยางพาราที่ควรจะแข็งแกร่งและเติบรับการสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้าอย่างเต็มตัว
อย่างไรก็ตาม “ASTVผู้จัดการ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กูรูที่คร่ำหวอดในวงการยางไทยกว่า 50 ปี และเป็นหัวหอกสำคัญผ่านองค์กร เครือข่ายต่างๆ ผลักดันและพัฒนาธุรกิจยางไทย ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 7 ล้านคนทั่วประเทศ แต่ผลิตยางพาราส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยรายได้ปีละเกือบ 5 แสนล้านบาท
หลังการชุมนุมจนถึงขณะนี้แล้ว ราคายางเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่แตะ 120 กก.ตามที่รับปาก จะมีการติดตามอย่างไรบ้าง
ราคายางก็เป็นไปตามกลไก แต่ก็ยังรออยู่ เพราะถ้ารอ 105 บาทตามที่เขาล็อกไว้ ราคายางประเทศไทยก็เหลือ 80 บาท เราก็แย่นะสิ คุณอยู่ทางใต้ก็รู้นี่คนใต้ 80% มีอาชีพผูกพันอยู่กับยาง เมื่อเราปลดล็อคตัวนี้ราคายางก็ขึ้นไปเรื่อยๆ
เพราะที่เราต้องการเรียกร้อง คือ ขอให้รัฐบาลเลิกเข้าไปมีส่วนได้เสีย และบล็อกราคาตลาด เพื่อให้กลไกของราคาเดินด้วยตัวมันเอง เพราะตอนนั้น รมช.เกษตรฯ ไปเซี่ยงไฮ้ เป็นสักขีพยานซื้อขายยางพาราล่วงหน้า เหมือนล็อคราคา 105 บาท/กก. FOB ราคามาตกที่เมืองไทยราว 91 บาท แต่เวลาพ่อค้ารับซื้อจะได้ 88-89 ไม่ถึง 90 สักที ผมเลยยื่นหนังสือเรียกร้องวันที่ 7 ม.ค. ก็ยื่นหนังสือไปหลายฉบับทั้งนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ผลสุดท้ายก็ไม่ได้รับการตอบรับ
แต่พอเราปิดถนนนิดหน่อย..ไม่ได้ปิดหรอกนะ คนมันมาแน่น ถนนก็เลยปิดเองก็ทำให้รัฐบาลขานรับ จากนั้นยางก็ขึ้นจนตอนนี้ 112 บาทแล้ว อันนี้น่าพอใจแล้วในระดับหนึ่ง แต่เราเองก็ต้องดูพืชอื่นด้วย และต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ไปดูว่าราคานี้เกษตรกรอยู่ได้แล้ว แต่ผู้ประกอบการเจ๊ง อันนี้ก็อยู่ไม่ได้ งั้นก็เลยต้องให้ไปด้วยกันทั้งเกษตรกร ผู้ผลิตยางแท่ง และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ถ้าทุกฝ่ายวิน-วิน ประเทศชาติก็จะอยู่ได้
แต่ถ้าเราไปคิดเห็นแก่ตัวคนเดียว ยางต้องกิโลกรัมละ 150, 160 หรือ 170 บาท ผมว่าให้มันเป็นไปตามกลไกดีมานด์ ซัพพลายด์ ดีกว่า ยางราคาไม่ต่ำหรอกครับ เพราะน้ำมันราคาแพง และเศรษฐกิจโลกต้องการยางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี
แสดงว่าส่วนหนึ่งมั่นใจเรื่องความต้องการของตลาดโลก ว่าอย่างไรเสียยางธรรมชาติก็ยังมีแนวโน้มที่สดใส
ตอนนี้ความต้องการของตลาดโลกต่อยางธรรมชาติมีมาก แต่ไม่สามารถผลิตป้อนได้เพียงพออยู่แล้ว เรื่องราคาจึงไม่น่าเป็นห่วง ส่วนหนึ่งที่ยางธรรมชาติขาดแคลนก็ต้องหันมาใช้สังเคราะห์ยางมาแทน เพราะฉะนั้นแน่นอนอยู่แล้ว ไม่ต้องไปวิเคราะห์ ไปคิดอะไร เพราะความต้องการของตลาดโลกมีมาก และยางธรรมชาติดีกว่ายางสังเคราะห์ ราคายางธรรมชาติก็จะขึ้นไปตามกลไกไปขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่มีใครไปบล็อกราคาไว้
ส่วนเรื่องการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าคราวนั้น การชุมนุมและข้อเรียกร้องยังส่งผลให้ อสย.ยอมถอยไปด้วยอย่างไร
พอเราชุมนุมและยื่นข้อเรียกร้อง สัญญาที่องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ไปทำไว้ 1.8 แสนตันก็ยกเลิกไปเลย เขายอมถอย ไม่ขาย อสย.3 แสนตันนั้นไม่ขาย ยกเว้นแต่สัญญาซื้อขายของเอกชน ที่รัฐมนตรีช่วยฯ บอกว่าเผอิญไปอยู่ร่วมถ่ายรูปเป็นสักขีพยานด้วย
สิ่งสำคัญที่ผมอยากเรียนตรงนี้ คือ การที่รัฐมนตรีไปเป็นพยานอย่างนั้นมันไม่ได้ คุณดูรัฐมนตรีของกลุ่มโอเปคที่ดูแลน้ำมันสิ เขากล้าที่จะแสดงตัวอย่างนั้นไหม ทำแบบนั้นสื่อก็ออกทั่วโลก ราคายางก็ร่วงทันที แล้วบล็อกอยู่ตรงนั้น เพราะราคาซื้อ FOB อยู่ที่ 105 บาท ไม่ใช่เฉพาะ 1.8 แสนตัน แต่ไปขายอีก 3 แสนตัน รวมเป็น 4.8 แสนตัน หรือคิดเป็น 4% ของมวลรวมทั่วประเทศ มีผลกระทบต่อเกษตรกร ที่เราปลดล็อคราคานั้นถูกต้องแน่นอน และถ้านายกฟังเราตั้งแต่แรก พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางคงไม่ถูกยิงตรง 4 แยกคูหาหรอก แต่ยังจับตัวคนร้ายไม่ได้
แม้ปัญหาส่วนนี้จะคลี่คลายลง แต่ก็ยังมีอีกข้อเรียกร้องหนึ่งที่ดูเหมือนรัฐบาลยังไม่ดำเนินการใดๆ คือการเรียกร้องให้ลดอัตราเก็บค่าเงินเซส ให้เหลือ 1.4 บาท/ กก. เพื่อเพิ่มการแข่งขันในตลาดโลก เพราะกว่า 20 ประเทศไม่มีส่วนนี้ และก็ไม่มีเหตุผลรองรับการใช้เงินด้วยว่าเป็นไปอย่างไร
ใช่ครับ ผมนำเสนอไปแล้วว่าให้เหลือ 1.40 บาท ได้ไหม ให้เท่ากับมาเลเซีย แต่รัฐบาลเขาก็ไม่ค่อยฟัง ผมก็ทำไปอีก (รัฐบาลไม่ฟังหรือไม่เข้าใจกันแน่คะ) ไม่ใช่เขาไม่เข้าใจ แต่เพราะเขาอยากเอาเงินเราไปใช้ คิดง่ายๆ เอาเงินเซสที่เก็บได้ไปจ่ายเป็นเงินเดือนข้าราชการ เอาไปค้นคว้าทดลอง ถามดูสิว่ามีการเก็บเงินจากพืชอื่นๆ ไหม ปาล์มเอย ข้าวเอยก็ยังไม่ให้เลย มันสำปะหลัง แถมรัฐบาลยังมีเงินช่วยเหลือกลุ่มพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ตลอด แต่ของเราเก็บเงินเอาไปช่วยเหลือด้วย ให้เงินเดือนเขาด้วยอีกมันเสียเปรียบไหม เกิดความเหลื่อมล้ำในวงการยางนะ เอาเงินคุณกิโลละ 5 บาทไปจ่ายให้เงินเดือนข้าราชการ
จริงๆ ต้องเก็บเฉพาะผู้ประกอบการที่ส่งออกยางพารา แต่เขาเก็บจริงที่เกษตรกรที่ขายยางให้พ่อค้าคนกลาง แต่ละกิโลนั้นพ่อค้าคนกลางจะหักไว้ล่วงหน้าบวกไว้ 5 บาทเผื่อไว้ คือทุกบาททุกสลึงเขาต้องเก็บที่เกษตรกรทั้งหมด แต่ผู้ส่งออกเป็นผู้เสีย ดังนั้น ใช้ในประเทศก็โดน 5 บาทเหมือนกัน นี่เป็นความเสียเปรียบของเกษตรกรไทยในเรื่องยาง
ฟังอย่างนี้แล้วก็น่าเป็นห่วงอนาคตของการแข่งขัน หากรัฐบาลไม่ปรับตัวเป็นผู้นำเดินหน้าปัญหา อีก 3 ปี การเคลื่อนย้ายเงินทุน แรงงาน ตลาดเสรี ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจไทย ณ วันนี้ มองท่าทีของรัฐมนตรีซึ่งดูแลเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ที่เขาเปลี่ยนตัว รมช.เป็นคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แทนคนเก่าที่ไปเข้ากับเอกชนซื้อขายยางล่วงหน้านั้น ผมก็ยังคิดว่าต้องดูงานเขาก่อนสักระยะ แต่ก็ไม่คาดหวังอะไรเขาก่อนนะ แต่ถ้าให้เหมาะคนที่เข้ามาอยู่ตรงนี้ต้องรู้เรื่องยางมาช่วย ไม่ใช่ใครก็ได้ หน้าห้อง ในห้อง เต็มไปหมดโดยที่ไม่รู้เรื่องยาง มันช่วยอะไรไม่ได้ และเท่าที่ดูหน้าตาคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติตอนนี้ก็เหมือนเดิม ไม่ได้แก้ไขอะไร..ก็ไม่เป็นไร
ตรงนี้ผมอยากให้เอามาจากองค์กรเกษตรกรสวนยาง ให้เลือกตัวแทนของเขาเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยตัวของเค้าเอง ไม่ใช่นึกจะเอาหัวคะแนนก็เอา หรือคนที่ช่วยเหลือพรรคก็เอาขึ้นมา อย่างนี้มันไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหา เพราะมันต้องแก้จากของจริง
แต่หากปล่อยให้ปัญหายังคาราคาซังแบบนี้ กว่าจะถึงปี 58 เราขาดโอกาสทางการแข่งขันไปแล้วถ้ายังไม่ลดเงินเซส เพราะพ่อค้าคนกลางก็จะบวกไป 5 บาทจากชาวสวนเวลาไปขายยางแผ่นให้ไง ต้นทุนเราก็แพงขึ้น ขืนเป็นแบบนี้ต่อไปประเทศผู้ใช้เขาไปซื้อที่อินโดนีเซีย เวียดนามหมดแล้ว ไม่มาซื้อยางไทย
ตอนนี้เรื่องสำคัญนั้น เราก็ต้องเตรียมความพร้อมด้านความรู้สำหรับอาเซียน ไม่ใช่เฉพาะพวกผม รัฐบาลต้องออกมาทำให้ชาวสวน ผู้ประกอบการมีความรู้ ความพร้อมรับเสรีอาเซียน ตอนนี้เกษตรกร 80% ยังไม่รู้จักอาเซียนเลย คนที่มีความรู้ต้องลงมาเตรียมพร้อมตั้งแต่เยาวชน ชาวบ้าน นักศึกษา มหาวิทยาลัย รัฐบาลต้องประกาศออกไปและพยายามทำความเข้าใจเรื่องอาเซียนให้มากๆ เพราะจะเป็นโลกเสรีซื้อขายกันได้ เคลื่อนย้ายแรงงาน พม่าจบปริญญาตรีแค่ 2,000 บาท เขมรแค่ 2,400 บาท ถ้าเปิดเสรีแล้วสามารถเคลื่อนย้ายมาไทยได้อย่างเสรี กรรมกรที่โน่นค่าแรงแค่ร้อยเดียว ของเรา 300 บาท ก็เคลื่อนย้ายโดยที่เราปิดกั้นไม่ได้ แต่คนเจ๊งก็คือคนไทย จึงต้องวางมาตรการให้ดีและให้ความรู้ ต้องเร่งระดม อย่าไปแต่ระดมแก้กฎหมาย แก้อะไร แต่ต้องให้ความรู้ชาวบ้านในเรื่องอาเซียน เพราะปี 58 จะเปิดโลกเสรีใน 10 ประเทศ
ผมเองก็ยังทำอยู่เรื่องยางมา 50 ปี ต้องเอาเรื่องยางเป็นหลัก ตอนนี้อายุการทำงานในตำแหน่งนี้ผมเหลือแค่กุมภาพันธ์ปีหน้า และก็จะหันมาทำเรื่องเศรษฐกิจไทย-มาเลเซีย หลังจากที่ทำไทย-ลาว, พม่า, กัมพูชา ต่อไปก็มาเลเซีย
หมายเหตุ
คณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2553-2554 ได้ศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราการเก็บเงินสงเคราะห์การทำสวนยาง (CESS) ต่อขีดความสามารถการค้ายางพาราของประเทศ และการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ โดยระบุว่า
ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 ส.ค.2553 เห็นชอบให้ปรับเพิ่มอัตราการเก็บเงินสงเคราะห์ให้สูงขึ้น พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจัดเก็บแตกต่างกันออกไป โดยเป็นลักษณะแบบ 5 ขั้นบันไดระหว่าง 0.90-5.00 บาท/กก.
โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2553 เป็นต้นมา ซึ่งในประเทศผู้ส่งออกยางพารากว่า 20 ประเทศทั่วโลกไม่ต้องจ่ายเงินสงเคราะห์ ยกเว้นมาเลเซียซึ่งเก็บในอัตรา 1.40 บาท/กก. ซึ่งเท่ากับการเก็บอัตราเดิมของไทยนั้นส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นั่นคือ เกษตรกร ผู้แปรรูป-ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง และผู้ส่งออก ดังนี้
1.ผู้ประกอบการไทยต้องอาศัยตลาดต่างประเทศถึงร้อยละ 90 จะเกิดความเสียหายจากต้องรับภาระการจ่ายเงินสงเคราะห์การทำสวนยางที่สูงขึ้น ต้นทุนราคายางจึงสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ลดความสามารถแข่งขันในตลาดการค้ายางสากล ซึ่งหากเสียตลาดต่างประเทศไทยจะส่งผลกระทบถึงเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง
2.ผู้ส่งออกหรือพ่อค้าคนกลางจะผลักภาระการจ่ายเงินสงเคราะห์การทำสวนยางให้เกษตรกร ด้วยการตั้งราคารับซื้อยางจากเกษตรกรต่ำกว่าราคาที่แท้จริง จากการบวกเงินสงเคราะห์ล่วงหน้า ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง 3.60 บาท/กก. โดยเงินส่วนนี้เป็นเงินออม เงินลงทุนของเกษตรกร คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท/ปี
3.ทำให้ต้นทุนผลิตของผู้ประกอบการสูงขึ้นจากปัญหาการลักลอบส่งออกยางโดยไม่จ่ายเงินสงเคราะห์เพิ่มขึ้น ทั้งทางบกและทางทะเล ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสุจริตสูงกว่าผู้ประกอบการทุจริต 2-5 บาท/กก.และกลไกการค้ายางภายในที่เกิดความผิดปกติ อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการบางส่วนต้องยกเลิกกิจการไป เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับผู้ลักลอบส่งออกได้
4.แม้ว่าการเก็บเงินสงเคราะห์การทำสวนยางจะมีความจำเป็นต่อการพัฒนาพันธุ์ยางพารา การวิจัย และสนับสนุนช่วยเหลือสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง แต่การปรับขึ้นอัตราเก็บเงินสงเคราะห์แบบขั้นบันไดในทุก 15 วัน ส่งผลต่อการปฏิบัติ เนื่องจากยางมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการส่งออกยางมีการขายยางล่วงหน้าหลายเดือน แต่ต้องรออัตราเงินสงเคราะห์ที่ประกาศในวันส่งมอบ ทำให้ไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้แน่นอน ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันขายยางของประเทศ
5.การเพิ่มอัตราการเก็บเงินสงเคราะห์การทำสวนยางส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากการกระจายรายได้ลดลง เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และยังอาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พรบ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง โดยต้นทุนส่วนต่างระหว่างผู้ประกอบการที่สุจริตและทุจริต 2-5 บาท/กก. ส่งผลให้รายได้ที่จะเป็นเงินออมและลงทุนลดลงไม่น้อยกว่า 9,000 ล้านบาท ในปริมาณยาง 3 ล้านตัน
6.การเก็บเงินสงเคราะห์การทำสวนยางในอัตรา 1.40 บาท/กก.ที่ผ่านมา จัดเก็บได้ประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท และปัจจุบันยังมีเงินคงเหลือกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางยังไม่มีแผนการใช้เงินที่ชัดเจน และการเพิ่มอัตราการจัดเก็บนั้นขาดเหตุผลรองรับ
แต่เหตุผลที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอนั้น ไม่ได้เป็นไปตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ไม่ชัดเจนและไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ที่เน้นเรื่องการสงเคราะห์ปลูกแทน แต่เน้นการขอเพิ่มอัตราโดยอ้างว่าค่าบริหารงานและจัดสรรให้เกษตรกรชาวสวนยางไม่เพียงพอ และไม่ได้นำตัวเลขทางสถิติมาแสดงว่าใช้เงินในแต่ละปีอย่างไร