ตรัง - เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดตรัง 8 องค์กร เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กรณี กฟผ.รุกตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.ตรัง พบ จนท.รุกเข้าหาชาวบ้าน ทั้งมอบเงินและให้ข้อมูล แต่พบว่าข้อเท็จจริงนั้นยังไม่ตรงกัน โดยทั้งโครงการต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 61,136 ล้านบาท
วันนี้ (9 ก.พ.) เวลา 10.00-15.00 น. ที่ห้องประชุมคอซิมบี้เทศบาลเมืองกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดตรัง 8 องค์กร ประกอบด้วย ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง เป็นต้น ได้จัดเวทีเรียนรู้ “โรงไฟฟ้าถ่านหินดีจริงหรือ?” มีผู้เข้าร่วมประมาณ 150 คน
นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา กล่าวว่า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 (PDP 2010) ของกระทรวงพลังงาน จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ 9 โรงในภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา กระบี่ ตรัง และสตูล ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Sea Borad) ของประเทศไทย
นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เลขานุการมูลนิธิอันดามัน กล่าวว่า จากเอกสารรายงานการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดตรัง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุถึงแผนการดำเนินโครงการว่า ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554-วันที่ 30 มีนาคม 2554 เป็นช่วงการคัดเลือกสถานที่ จากนั้นจะเริ่มกระบวนการจัดซื้อสถานที่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554-วันที่ 31 ธันวาคม 2557
จากการที่ตนศึกษาเอกสารรายงานการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังระบุว่า ใช้น้ำสำหรับระบบหล่อเย็นและระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,190,836 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน น้ำสำหรับผลิตน้ำจืดเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตไอน้ำและกิจกรรมต่างๆ 4,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมทั้งสิ้น 2,195,086 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ล่าสุดตนได้รับเอกสารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปรียบเทียบข้อมูลและมุมมองของผู้ไม่เห็นด้วยกับข้อมูลที่ถูกต้องโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินใช้น้ำในระบบหล่อเย็นกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์วันละไม่เกิน 2 แสนลูกบาศก์เมตร และปล่อยลงทะเล 190,000 ลูกบาศก์เมตร น้ำสำหรับผลิตน้ำจืดโดยใช้น้ำทะเล 4,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
“เอกสารชุดนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้นมาชี้แจงข้อมูล เพื่อตอบโต้ข้อมูลของเครือข่ายภาคประชาสังคมของจังหวัดตรัง ข้อน่าสังเกตคือข้อมูลในเอกสารที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยชุดนี้ ไม่ตรงกับเอกสารรายงานการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ทั้งที่เป็นข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเหมือนกัน” นายภาคภูมิ กล่าว
ช่วงท้ายของมีการเวทีเสนอให้จัดเวทีสาธารณะคุยกับชาวบ้านเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังในระดับอำเภอ และในระดับจังหวัดตรัง โดยเชิญเจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยมีชาวบ้านที่มาร่วมเวทียกมือสนับสนุนให้มีการประสานงานจัดเวทีสาธารณะดังกล่าวขึ้น
ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ศาลาประชาคมอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ในการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน นายสมชาติ ศรีปรัชญากุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เข้าชี้แจงข้อมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง อีกทั้งร่วมกับอำเภอกันตังมอบเงิน 100,000 บาท ให้กับชาวประมงพื้นบ้านที่ประกอบอาชีพโพงพาง นำไปปรับเปลี่ยนอาชีพ
และเมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 30 มกราคม 2555 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดตรัง ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดตรัง ประจำเดือนมกราคม 2555 นายสุมิต วงศ์แสงจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เข้าชี้แจงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง
โดยนายสุมิต ชี้แจงว่า ได้มีการคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า จำนวน 3 พื้นที่ คือ บริเวณคลองเจ้าไหม ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง ลุ่มแม่น้ำตรัง ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง และลุ่มแม่น้ำปะเหลียน ตำบลวังวน อำเภอกันตัง ในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 800 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีเรือขนส่งถ่านหินอยู่แล้ว สำหรับการนำเข้าวัตถุดิบ
นายสุมิต ชี้แจงอีกว่า ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้ศึกษาศักยภาพและความเป็นไปได้ของพื้นที่เบื้องต้นไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการลงพื้นที่ให้ข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจากการลงพื้นที่พบปะกับผู้นำชุมชน โดยส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้านหรือให้การสนับสนุน
...................................................
รายงานการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ระยะเวลาดำเนินงาน
1.Site Selection คัดเลือกสถานที่ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554-วันที่ 30 มีนาคม 2554
2.Land Procurement จัดซื้อสถานที่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554-วันที่ 31 ธันวาคม 2557
3.Pre Feasibility Study เตรียมการศึกษาความเป็นไปได้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554-วันที่ 31 พฤษภาคม 2554
4. Feasibility Study (Incl. Port Coal Terminal) ศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับภาษี ท่าเรือ ถ่านหิน อาคารสถานที่ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555-วันที่ 31 กรกฎาคม 2556
5.TOR,EHIA Study and Approval จัดทำกรอบข้อตกลง (TOR) จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ,จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) และพิจารณาอนุมัติโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2556-วันที่ 31 กรกฎาคม 2558
6.Public Participation กระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2556-วันที่ 31 กรกฎาคม 2558
7.Project Approval การอนุมัติโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558-วันที่ 31 ตุลาคม 2558
8.Bid Preparation การเตรียมการเสนอราคา ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558-วันที่ 31 ธันวาคม 2558
9. Biding Period ระยะเวลาในการเสนอราคา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559-วันที่ 31 พฤษภาคม 2559
10.Evaluation Negotiation and Approval ประเมินผล การเจรจา และการอนุมัติ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559-วันที่ 31 ธันวาคม 2559
11.LOI ลงลายมือชื่ออนุมัติสร้างโครงการ ในวันที่ 1 มกราคม 2560
12.Design Manufacturing and Delivery ออกแบบ การก่อสร้าง และการส่งมอบ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560-วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563
13.Site Preparation and Civil Work การเตรียมสถานที่ และดำเนินการก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560-วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564
14.Installation and Erection การติดตั้ง และดำเนินการก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560-วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564
15.Test,Commissing and COD การทดสอบอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้า การว่าจ้าง และการประชุมการบริหารการจัดการ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563-วันที่ 31 พฤษภาคม 2564
สถานที่ตั้งโครงการ พื้นที่ศึกษา
1.บ้านหัวหิน ตำบลบ่อน้ำร้อน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
2.บ้านเกาะแลน ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
3.บ้านหาดทรายขาว ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
4.บ้านนายอดทอง (บ้านไพร) ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
5.บ้านทุ่งนา ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
เปรียบเทียบรายละเอียดทางเทคนิควิศวกรรมของสถานที่ตั้งโครงการ
ลักษณะพื้นที่ของบ้านหัวหิน ตำบลบ่อน้ำร้อน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลน บางส่วนเป็นท่าเทียบเรือและเหมืองแร่ การใช้ประโยชน์ที่ดินอยู่ในเขตประกาศผังเมืองรวม (อุตสาหกรรม/เกษตรกรรม) มีขนาดพื้นที่ 400 ไร่ ห่างจากปากแม่น้ำตรัง 14 กิโลเมตร ความกว้างของแม่น้ำบริเวณพื้นที่ 150 เมตร ความลึกของร่องน้ำ 3-4 เมตร การขนส่งเชื้อเพลิงใช้ทางเรือ Barge ขนาดประมาณ 8-9 พันตัน (ความต้องการใช้ถ่านหินประมาณ 7,184 ตันต่อวัน สำหรับการขนส่งวัสดุ อุปกรณ์จะใช้ทางท่าเรือน้ำลึกสงขลา หรือท่าเรือสุราษฎร์ธานี ส่วนระบบส่งไฟฟ้าที่ใกล้เคียง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงกระบี่ ขนาด 230 กิโลวัตต์ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร
ลักษณะพื้นที่ของบ้านเกาะแลน ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นเกาะอยู่กลางแม่น้ำ มีป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าชายหาดและป่าดิบชื้น ที่ดินจะอยู่ในเขตประกาศผังเมืองรวม ประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ มีขนาดพื้นที่ 2500 ไร่ ห่างจากปากแม่น้ำตรัง 10 กิโลเมตร แม่น้ำบริเวณดังกล่าวกว้าง 250 เมตร ร่องน้ำลึก 3-4 เมตร การขนส่งเชื้อเพลิงใช้ทางเรือ Barge ขนาดประมาณ 8-9 พันตัน (ความต้องการใช้ถ่านหินประมาณ 7,184 ตันต่อวัน สำหรับการขนส่งวัสดุ อุปกรณ์จะใช้ทางท่าเรือน้ำลึกสงขลา หรือท่าเรือสุราษฎร์ธานี ส่วนระบบส่งไฟฟ้าที่ใกล้เคียงคือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงกระบี่ขนาด 230 กิโลวัตต์ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร
ลักษณะพื้นที่ของบ้านหาดทรายขาว ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง พื้นที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำ มีป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าชายหาดและป่าดิบชื้น ที่ดินจะอยู่นอกเขตประกาศผังเมืองรวม มีขนาดพื้นที่ 1,200 ไร่ ห่างจากปากแม่น้ำตรัง 6 กิโลเมตร แม่น้ำบริเวณดังกล่าวกว้าง 1500 เมตร ร่องน้ำลึก 3-4 เมตร การขนส่งเชื้อเพลิงใช้ทางเรือ Barge ขนาดประมาณ 8-9 พันตัน (ความต้องการใช้ถ่านหินประมาณ 7,184 ตันต่อวัน สำหรับการขนส่งวัสดุ อุปกรณ์จะใช้ทางท่าเรือน้ำลึกสงขลา หรือท่าเรือสุราษฎร์ธานี ส่วนระบบส่งไฟฟ้าที่ใกล้เคียงคือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงกระบี่ขนาด 230 กิโลวัตต์ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร
ลักษณะพื้นที่ของบ้านนายอดทอง (บ้านไพร) ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่ราบใกล้แม่น้ำ ปลูกพืช ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และนากุ้ง เป็นพื้นที่เกษตรกรรมมีเอกสารสิทธิ อยู่ติดป่าชายเลน มีขนาดพื้นที่ 1,200 ไร่ ห่างจากปากแม่น้ำตรัง 7 กิโลเมตร แม่น้ำกว้าง 1,200 เมตร ร่องน้ำลึก 6-8 เมตร การขนส่งเชื้อเพลิงใช้ทางเรือ Barge ขนาดประมาณ 8-9 พันตัน (ความต้องการใช้ถ่านหินประมาณ 7,184 ตันต่อวัน สำหรับการขนส่งวัสดุ อุปกรณ์จะใช้ทางท่าเรือน้ำลึกสงขลา หรือท่าเรือสุราษฎร์ธานี ส่วนระบบส่งไฟฟ้าที่ใกล้เคียงคือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงกระบี่ขนาด 230 กิโลวัตต์ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร
ลักษณะพื้นที่ของบ้านทุ่งนา ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นสวนปาล์มน้ำมันทั้งหมด มีความสูงระดับถนน เป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ มีขนาดพื้นที่ 1,200 ไร่ และ 800 ไร่ กรณีใช้น้ำจากแม่น้ำตรัง บริเวณท่าเรือนาเกลือ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ต้องใช้ท่อขนาดใหญ่ผ่านเขตชุมชน หรือเขตป่าชายเลน กรณีใช้น้ำจากคลองเจ้าไหม ต้องพิจารณาการสูบน้ำ เนื่องจากการสูบน้ำในปริมาณมากในคลองขนาดเล็กเป็นเหตุให้น้ำทะเลหนุน ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสัตว์น้ำวัยอ่อน และป่าชายเลน แม่น้ำกว้าง 150 เมตร ความลึกของร่องน้ำไม่ทราบแน่ชัด
การขนส่งเชื้อเพลิง กรณีใช้ท่าเรือนาเกลือขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ซึ่งอยู่ห่างจากโครงการ 7 กิโลเมตร รองรับเรือขนาด 4 พันตัน จำนวน 2 ลำ การลำเลียงถ่านหินมาโรงไฟฟ้าทำโดยรถบรรทุกขนาด 40 ตัน จำนวน 200 คัน เดินทาง 400 เที่ยวต่อวัน สายพานลำเลียงต้องผ่านชุมชน หรือป่าชายเลน ระยะทาง 5-7 กิโลเมตร กรณีลำเลียงผ่านคลองเจ้าใหม่ที่มีความกว้าง 150 เมตร ความลึกไม่ทราบแน่ชัด มีป่าชายเลนคั่นระหว่างพื้นที่ท่าเรือกับคลอง ประมาณ 300 เมตร สำหรับการขนส่งวัสดุ อุปกรณ์จะใช้ทางท่าเรือน้ำลึกสงขลา หรือท่าเรือสุราษฎร์ธานี ส่วนระบบส่งไฟฟ้าที่ใกล้เคียง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงกระบี่ ขนาด 230 กิโลวัตต์ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร
เปรียบเทียบข้อดี ข้อจำกัดของพื้นที่ศึกษาทางเทคนิค วิศวกรรม
พื้นที่ของบ้านหัวหิน ตำบลบ่อน้ำร้อน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีข้อดีที่เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า มีท่าเรือเอกชน ขณะที่มีข้อจำกัดตรงที่พื้นที่เพียงพอสำหรับโครงการ เป็นที่ราบลุ่ม แม่น้ำแคบ อาจมีผลต่อการขนส่งถ่านหิน และสูบน้ำใช้
พื้นที่ของบ้านเกาะแลน ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีข้อดีคือที่ดินใช้ประโยชน์ 100 ไร่ สามารถพัฒนาเพิ่มได้อีก 1,400 ไร่ ไม่มีชุมชนอาศัยอยู่บนเกาะ ขณะที่มีข้อจำกัดบริเวณกลางพื้นที่เป็นแอ่งลุ่มต่ำ ต้องถมดินสูงประมาณ 3-4 เมตร เป็นพื้นที่ป่าชายเลนหนาแน่น ไม่มีถนนเชื่อมต่อถึงพื้นที่
พื้นที่ของบ้านหาดทรายขาว ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีข้อดีคือพื้นที่อยู่นอกเขตผังเมืองกันตัง อยู่บริเวณปากแม่น้ำตรัง ผลกระทบต่อชุมชนในการขนส่งทางเรือน้อย ขณะที่มีข้อจำกัดเป็นที่ราบลุ่ม มีคลองเตะหมุนผ่านกลางพื้นที่ เป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์หนาแน่น
พื้นที่ของบ้านนายอดทอง (บ้านไพร) ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีข้อดีคือเป็นพื้นที่มีเอกสารสิทธิประมาณ 1,000 ไร่ ขณะมีข้อจำกัดที่มีแนวป่าชายเลนกั้นระหว่างพื้นที่โครงการกับแม่น้ำปะเหลียน
พื้นที่ของบ้านทุ่งค่าย ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีข้อดีคือเป็นพื้นที่มีเอกสารสิทธิประมาณ 1,200 ไร่ และ 800 ไร่ มีประชาชนอาศัยอยู่เบาบาง ขณะมีข้อจำกัดที่เป็นพื้นที่ห่างไกลจากแหล่งน้ำ ไม่ติดแม่น้ำ และทะเล
เปรียบเทียบข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเบื้องต้น
พื้นที่ของบ้านหัวหิน ตำบลบ่อน้ำร้อน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามประกาศผังเมืองรวมอยู่ในเขตสีม่วง (ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า) และเขตสีเขียว (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม) เป็นพื้นที่ป่าชายเลน เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีคนอาศัย 585 คน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของบริษัทเอกชน
พื้นที่ของบ้านเกาะแลน ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ตามประกาศผังเมืองรวมอยู่ในเขตสีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว (ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้) เป็นป่าชายเลน อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีคนอาศัย 767 คน ไม่มีคนอาศัยอย่างถาวร
พื้นที่ของบ้านหาดทรายขาว ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อยู่นอกเขตประกาศผังเมืองรวม เป็นป่าชายเลน อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นพื้นที่คุ้มครองเนื่องจากได้รับผลกระทบจากธรณีพิบัติ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีคนอาศัย 182 คน ไม่มีคนอาศัยอย่างถาวร
พื้นที่ของบ้านนายอดทอง (บ้านไพร) ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อยู่นอกเขตประกาศผังเมืองรวม พื้นที่บางส่วนเป็นป่าชายเลน อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นพื้นที่คุ้มครองเนื่องจากได้รับผลกระทบจากธรณีพิบัติ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีคนอาศัย 475 คน เป็นชุมชนเกษตรกรรม ทำสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน
พื้นที่ของบ้านทุ่งค่าย ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีคนอาศัย 413 คน เป็นสวนปาล์มน้ำมันทั้งหมด มีความสูงระดับถนน
การจัดหาน้ำ
โครงการนี้จะใช้น้ำทั้งหมดจากบริเวณปากแม่น้ำปะเหลียน ซึ่งมีสภาพเป็นน้ำเค็ม และมีปริมาณมากเพียงพอ โดยหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแหล่งน้ำจืดธรรมชาติเพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อการใช้น้ำของชุมชนให้มากที่สุด
สำหรับการใช้น้ำของโครงการประกอบด้วย
1.น้ำสำหรับระบบหล่อเย็นและระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,190,836 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
2.น้ำสำหรับผลิตน้ำจืดเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตไอน้ำและกิจกรรมต่างๆ 4,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมทั้งสิ้น 2,195,086 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
รายละเอียดเบื้องต้นของโรงไฟฟ้า
กำลังผลิตติดตั้ง 860 เมกะวัตต์
กำลังผลิตสุทธิ 800 เมกะวัตต์
ประสิทธิภาพเฉลี่ยตลอดอายุโรงไฟฟ้า 30 ปี 41.78%
ปริมาณความต้องการใช้ถ่านหิน 7,183.7 ตันต่อวัน
อุปกรณ์ควบคุมมลภาวะทางอากาศ (ประสิทธิภาพ)
เครื่องดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิตย์ (ESP) 99%
เครื่องกำจัดก้าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) 90%
ระบบดักจับก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (SCR) 70%
ระบบส่งไฟฟ้า
การเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าของโครงการฯ เข้ากับระบบไฟฟ้าหลัก จะทำการเชื่อมโยงจากโรงไฟฟ้าฯ เข้าที่สถานีแรงสูง 230 kv ทุ่งสง โดยมีกำหนดเวลาแล้วเสร็จในปี 2563 ก่อนโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จประมาณ 12 เดือน เพื่อรองรับการทดสอบอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าได้
การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ผลกระทบเบื้องต้นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากมลสารทางอากาศที่ปล่อยออกจากโครงการฯ ในกรณีเครื่องเดินเต็มพิกัด (100% Load) มีค่าดังนี้
ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ค่าควบคุม 144 ppmvd ค่ามาตรฐาน 180 ppmvd
ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ค่าควบคุม 72 ppmvd ค่ามาตรฐาน 200 ppmvd
ฝุ่นละออง ค่าควบคุม 13 Mg/m3 ค่ามาตรฐาน 80 Mg/m3
ประมาณราคาโครงการ
ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดตรัง ประกอบด้วย มูลค่าการลงทุนในส่วนของโรงไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า สรุปได้ดังนี้
โรงไฟฟ้า เงินตราต่างประเทศ 32,691 ล้านบาท เงินไทย 23,356 บาท รวม 1,808.26 บาท
ระบบส่งไฟฟ้า เงินตราต่างประเทศ 740 ล้านบาท เงินไทย 4,340 บาท รวม 5,080 บาท
รวมเงินลงทุนทั้งสิ้น 61,136 ล้านบาท
การพิจารณาความเหมาะสมโครงการ
ด้านนโยบาย เป็นโครงการที่สนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตและเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคใต้ และสนองนโยบายในเรื่องการกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิง
ด้านเทคนิคและสิ่งแวดล้อม โครงการเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินนำเข้าที่มีปริมาณกำมะถันต่ำเป็นเชื้อเพลิง รวมถึงมีมาตรการติดตาม ตรวจสอบ และป้องกันที่รัดกุมเพื่อให้มีผลต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน แบ่งเป็น 2 กรณี ตามวิธีขนส่งถ่านหินนำเข้า ดังนี้
กรณีที่ 1 ขนส่งถ่านหินโดยเรือเดินทะเลจากอินโดนีเซีย และขนถ่ายลงเรือ Barge ราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ย 2.4007 บาท/กิโลวัตต์/ชั่วโมง อัตราผลตอบแทนการลงทุนของโครงการ 7.29% มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์สุทธิส่วนทุน 3,462 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนส่วนทุน 10.92% ระยะเวลาคืนทุน 12 ปี
กรณีที่ 2 ขนส่งถ่านหินโดยเรือ Barge จากอินโดนีเซีย มายังโครงการโดยตรง ราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ย 2.4007 บาท/กิโลวัตต์/ชั่วโมง อัตราผลตอบแทนการลงทุนของโครงการ 7.29% มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์สุทธิส่วนทุน 3,462 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนส่วนทุน 10.62% ระยะเวลาคืนทุน 12 ปี
ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)