มูฮำหมัด ดือราแม
อารีด้า สาเม๊าะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
ยิง 4 ศพ ถึงสหประชาชาติ จี้รัฐรับข้อเสนอทบทวนสถานการณ์ละเมิดสิทธิ UN แฉมาตรา 17 พ.ร.ก.ฉุกเฉินอนุญาตเจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายชาวบ้าน ไม่ต้องรับผิดทั้งแพ่ง-อาญา 2 ประเทศแคนาดา-สวิสเซอร์แลนด์ จับมือรณรงค์ให้รัฐไทยยกเลิก เอ็นจีโอจี้รัฐลดกองกำลังติดอาวุธ ส่งทหารพรานชุดใหม่ลงพื้นที่เกิดเหตุ ทั้งชาย-หญิงผูกผ้าพันคอสีชมพูหวานจ๋อย
ตำรวจสอบปากคำเหยื่อ
เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้อง 101 ตึกเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว โรงพยาบาลปัตตานี พนักงานสอบสวนคดีชาวบ้านปัตตานีถูกถล่มยิงเสียชีวิต 4 ศพ บาดเจ็บ 5 คน ได้สอบปากคำนายมะแอ ดอเลาะ อายุ 76 ปี ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ยิงชาวบ้านตันหยงบูโละห์ ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก เสียชีวิต 4 ศพ บาดเจ็บ 5 คน เมื่อคืนวันที่ 29 มกราคม 2555 โดยใช้เวลาในการสอบปากคำนานกว่า 3 ชั่วโมง
จากนั้น เวลาประมาณ 15.30 น. พนักงานสอบสวนชุดเดียวกัน ได้เดินทางไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลปัตตานี เพื่อสอบปากคำนายยา ดือราแม คนขับรถคันเกิดเหตุ และนายอับดุลเลาะ นิ อายุ 17 ปี ชาวบ้านที่ไม่ได้รับบาดเจ็บเพียงรายเดียว โดยพนักงานสอบสวนได้แยกสอบสวนคนละห้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง
พล.ต.ต.พิเชษฐ์ ปิติเศรษฐพันธ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนและสืบสวนชุดนี้ มีพ.ต.อ.โพธิ สวยสุวรรณ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน
คนเจ็บอาจพิการ
นายแพทย์อรุณ ประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี เปิดเผยว่า ได้ย้ายผู้ถูกยิงที่ได้รับบาดเจ็บ 2 คน ไปรักษาตัวในห้องพิเศษแล้ว โดยย้ายนายมะแอ ดอเลาะ อายุ 79 ปี ไปอยู่ที่ห้อง 101 ตึกเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ส่วนนายมะรูดิง แวกาจิ อายุ 15 ปี ไปห้อง 202 ตึกประชานิเวศน์ โรงพยาบาลปัตตานี ส่วนนายซอบรี บือราเฮง อายุ 19 ปี ยังต้องอยู่ในห้องไอซียู คาดว่าอีก 2-3 วัน จะย้ายไปอยู่ห้องพิเศษได้
“ยังไม่กล้าบอกว่า ผู้ถูกยิงบางคนจะพิการหรือไม่ เพราะเกรงจะกระทบกระเทือนจิตใจญาติๆ” นายแพทย์อรุณกล่าว
ทหารพรานชุดใหม่ผูกผ้าพันคอสีชมพู
วันเดียวกัน พ.อ.ชาคริต สนิทพ่วง ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 22 ได้นำกำลังทหารพรานชุดใหม่ 200 นาย ไปปฏิบัติหน้าที่แทนกำลังพลของกรมทหารพรานที่ 43 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ ตามข้อตกลงระหว่างพล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กับตัวแทนชาวบ้านและญาติผู้ที่เสียชีวิต โดยกำลังพลชุดใหม่ผูกผ้าพันคอสีชมพู เป็นกำลังผสมกับทหารพรานหญิง
พ.อ.ชาคริต ได้มอบแนวทางการปฏิบัติหน้าที่และการปฏิบัติตนให้กำลังพลทราบว่า ให้ยึดมั่นหน้าที่ปกป้องผู้บริสุทธิ์ ให้ได้รับความยุติธรรมและความเป็นธรรม ไม่ให้มองว่าทุกคนเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง นอกจากนี้ ยังกำชับให้กำลังพลทุกนายปฏิบัติงานด้วยการมีสติ ห้ามประมาท และหากมีเหตุที่ต้องลั่นไกปืน กระสุนที่ออกจากกระบอกปืนของเจ้าหน้าที่นายใด ก็ต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบ ตลอดจนคาดโทษกำลังพลที่ผ่าฝืนระเบียบวินัย
พ.อ.ชาคริต กล่าวว่า เหตุที่ย้ายกำลังชุดเก่าซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุออกนอกพื้นที่ เพื่อลดความตึงเครียดระหว่างกลุ่มชาวบ้านที่เกิดความไม่พอใจการกระทำที่เกินกว่าเหตุ
ยิง4ศพถึงสหประชาชาติ
นายอกนิษฐ์ หอรัตนคุณ เจ้าหน้าที่โครงการรณรงค์สหประชาชาติ มูลนิธิศักยภาพชุมชน เปิดเผยว่า ในวันที่ 15 มีนาคม 2555 ประเทศไทยจะต้องให้คำตอบว่า จะตอบรับข้อเสนอในการปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศหรือไม่ ในเวทีการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนสำนักข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UPR) มูลนิธิศักยภาพชุมชนจะนำเหตุการณ์ชาวบ้านถูกยิงเสียชีวิต 4 ศพที่ปัตตานี มารณรงค์ให้รัฐบาลไทยตอบรับข้อเสนอให้ปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศ
มาตรา17เครื่องมือรัฐละเมิดสิทธิ์
นายอกนิษฐ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโดยสำนักข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UPR) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้ออ่อนของกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การมีอยู่ของมาตรา 17 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางวินัย ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิประชาชน
จากรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ในพื้นที่ความขัดแย้งของไทย ที่มูลนิธิศักยภาพชุมชนเป็นผู้จัดทำ พบว่าประเด็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ต้องรับผิด ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด จากตัวแทนประเทศแคนาดาและประเทศสวิตเซอร์แลนด์
2ประเทศเสนอรื้อ พ.ร.กฉุกเฉิน
นายอกนิษฐ์ เปิดเผยว่า ตัวแทนทั้งสองประเทศเสนอให้ถอนมาตรา 17 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แต่ครั้งนั้น ตัวแทนประเทศไทยชะลอการตัดสินใจ โดยระบุว่าจะให้คำตอบในวันที่ 15 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติที่ชะลอการตัดสินใจทุกประเทศ ต้องให้คำตอบพร้อมเหตุผลผ่านกลไก UPR ว่าจะตอบรับข้อเสนอให้ปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศหรือไม่
นายอกนิษฐ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมดังกล่าว มีการนำเสนอรายงานการละเมิดสิทธิจากประเทศไทย จากที่มีผู้ส่งไปทั้งหมด 27 เล่ม โดยทั้งหมดสหประชาชาติมารวมเป็นเล่มเดียวกัน เป็นที่น่ายินดีว่า สหประชาชาติได้นำเนื้อหาของรายงานที่ส่งโดยมูลนิธิศักยภาพชุมชนหลายข้อมาพิจารณา โดยเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายอกนิษฐ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยยังไม่ได้เตรียมให้คำตอบต่อสหประชาชาติในประเด็นดังกล่าว เช่น การจัดประชุมสัมมนาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าล่าช้า เพราะเป็นประเด็นใหญ่ที่ประเทศไทยต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า จะลดสถานการณ์การละเมิดสิทธิในประเทศได้อย่างไร
“การจัดทำรายงานของมูลนิธิศักยภาพชุมชน มีการนำข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเครือข่ายนักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ มาเขียนรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ความขัดแย้ง ส่งสำนักข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ ผ่านกลไก UPR ด้วย” นายอกนิษฐ์ กล่าว
นายอกนิษฐ์ เปิดเผยอีกว่า ที่ผ่านมามูลนิธิได้รณรงค์ให้ทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนมาตลอด โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการเจรจาหว่านล้อมตัวแทนรัฐบาลไทยให้ทำความเข้าใจประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อประกอบการตัดสินใจในเกี่ยวกับรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายครั้ง
นายอกนิษฐ์ เปิดเผยว่า ล่าสุดกำลังจะขอพบเลขานุการคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอข้อมูลจากพื้นที่ผ่านไปยังกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศเพื่อให้เข้าใจประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น เพราะภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 กระทรวงการต่างประเทศจะต้องแถลงต่อสาธารณชนว่า จะมีคำตอบต่อข้อเสนอในการปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศในเวที UPR อย่างไร โดยเฉพาะต่อข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 17 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
นายอกนิษฐ์ กล่าวว่า กรณีเจ้าหน้าที่ทหารพรานยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพที่จังหวัดปัตตานี อาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงในพื้นที่ขยายวงมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น กรณีนี้ กระบวนการยุติธรรมต้องทำให้ความจริงต้องปรากฏว่าเป็นอย่างไร เพราะจะทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อมั่น เพราะที่ผ่านมามีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายอกนิษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการปิดบังข้อมูลการตาย หรือไม่มีการไต่สวนการตาย ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่า รัฐปกป้องเจ้าหน้าที่ ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนต่างประเทศมองว่า เป็นจุดอ่อนที่สุดของกระบวนการยุติธรรมไทย เรียกว่าวัฒนธรรมความไม่รับผิดชอบ (Culture of Impunity) ซึ่งปัญหานี้ ในประเทศไทยพบมากที่สุดในกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ผสานวัฒนธรรมจี้รัฐลดกำลังถืออาวุธ
ขณะเดียวกัน มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลทบทวนแนวทางจัดตั้งกองกำลังทหารพรานในการแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ โดยเน้นการลดกำลังติดอาวุธในพื้นที่แทนการเพิ่มจำนวนกองกำลัง โดยเฉพาะการรับสมัครพลเรือนชายหญิงอายุ 18-20 ปี เพื่อฝึกอาวุธ ซึ่งมีหลักสูตรอบรมที่จำกัดกว่าทหารหลักและจัดให้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่มีปัญหาความขัดแย้งซับซ้อน ตลอดจนมีบรรยากาศความไม่ไว้วางใจกันสูงในกลุ่มประชากร
แถลงการณ์ ระบุต่อไปว่า การให้พลเรือนฝึกอาวุธและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอาสาสมัครทหารพราน อาจมีความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย อีกทั้งอาจขาดประสบการณ์การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และขาดการอบรมกฎการใช้อาวุธตามระเบียบปฏิบัติสากลว่าด้วยการใช้กำลังบังคับและอาวุธของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles on the use of force and firearms by law enforcement officials)
ล้อมกรอบ
ใบอนุญาตฆ่า : มาตรา17พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
มาตรา 17 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระบุว่า พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่