xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐทบทวนดึงเยาวชนฝึกทหารพราน-ติดอาวุธ หวั่นซ้ำรอย 4 ศพปัตตานี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัตตานี - องค์กรพัฒนาเอกชนจี้รัฐบาลทบทวนการจัดตั้งกองกำลังทหารพรานในพื้นที่ชายแดนใต้ จวกอ่อนประสบการณ์การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและความชำนาญในการใช้อาวุธ หวั่นเกิดเหตุซ้ำรอยทหารยิงชาวบ้านดับ 4 ศพที่ปัตตานี

จากกรณีที่ทหารพรานยิงถล่มรถยนต์ของชาวบ้านที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บอีก 5 ราย เมื่อค่ำวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังจากกลุ่มคนร้ายยิงถล่มฐานทหาร ซึ่งเมื่อตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว เชื่อได้ว่า เป็นความเข้าใจผิดของทหารนั้น

นายปรีดา นาคผิว เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสีย และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และคณะกรรมอิสระที่จะจัดตั้งขึ้นสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมา เพื่อหาคำตอบต่อเหตุการณ์สะเทือนขวัญดังกล่าว เพื่อให้ผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ ผู้เสียหายต้องได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมด้วย

ทั้งนี้ นโยบายการจัดตั้งกองกำลังทหารพรานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เท่าที่มีการเปิดเผยข้อมูล พบว่า รัฐบาลโดยกระทรวงกลาโหม กองทัพภาคที่ 4 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จัดให้มีประกาศรับสมัครประชาชนชายหญิงอายุ 18-20 ปี เข้ารับการฝึกและปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัครทหารพราน ตั้งแต่ปลายปี 2554 โดยจะมีการเพิ่มจำนวนอาสาสมัครทหารพรานจำนวนกว่า 5,000 นาย

โดยแบ่งเป็นกองร้อยทหารพรานจำนวนทั้งสิ้น 12 กรม กับอีก 9 หมวดทหารพรานหญิงเป็นหน่วยปฏิบัติการหลักในพื้นที่ควบคู่กับกองพลทหารราบที่ 15 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนการปฏิบัติหน้าที่ของทหารหลัก แต่ไม่มีการเปิดเผยว่ากองกำลังทหารพรานมียุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีอย่างไรในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่

จากความไม่ชัดเจนดังกล่าว มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการจัดตั้งกองกำลังทหารพรานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยหลักการควรเน้นแนวทางลดกำลังติดอาวุธในพื้นที่แทนการเพิ่มจำนวนกองกำลังในพื้นที่ โดยเฉพาะการรับสมัครพลเรือนชายหญิงอายุ 18-20 ปี เพื่อฝึกอาวุธ ซึ่งมีหลักสูตรอบรมที่จำกัดกว่าทหารหลัก และจัดให้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีความซับซ้อนของปัญหาความขัดแย้ง ตลอดจนมีบรรยากาศความไม่ไว้วางใจกันสูงในกลุ่มประชากรต่างๆ

ทั้งนี้ การฝึกอาวุธและการมอบหมายงานที่มีความเสี่ยงต่อพลเรือนฝึกอาวุธ และการให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอาสาสมัครทหารพรานจึงอาจมีความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายในขณะปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งอาจขาดซึ่งประสบการณ์การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และขาดการอบรมเรื่องกฎการใช้อาวุธตามระเบียบปฏิบัติสากลว่าด้วยการใช้กำลังบังคับและอาวุธของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles on the use of force and firearms by law enforcement officials)

ดังนั้น หน่วยงานระดับนโยบายควรคำนึงถึงความสูญเสียของบุคคลที่เพิ่งผ่านพ้นช่วงวัยเยาวชน แต่ต้องมาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอาสาสมัครทหารพรานในพื้นที่ความขัดแย้งเป็นความสูญเสียที่มิอาจประเมินค่าได้ฉันใด ความสูญเสียของผู้บริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ที่บกพร่องและขาดซึ่งการกำกับดูแลของผู้บังคับบัญชาที่มีประสิทธิภาพ ก็มิอาจประเมินค่าได้ฉันนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น