xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.จัดโครงการ “รินน้ำใจ สู่น้องชาวใต้” ติวเข้ม นร.3 จชต.มุ่งสู่มหาวิทยาลัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นราธิวาส - นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เข้าติวเข้มพื้นฐานความรู้มุ่งสู่มหาวิทยาลัยในโครงการ “รินน้ำใจ สู่น้องชาวใต้” ด้านผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เผยโรงเรียนในพื้นที่พร้อมต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่มีความถนัดด้านภาษาอาเซียนและภาษาอาหรับเป็นทุนเดิม

วันนี้ (10 ม.ค.) ณ โรงแรมอิมพีเรียล อ.เมือง จ.นราธิวาส สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15 โดยศูนย์ส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการมัธยมศึกษาตอนปลาย จังหวัดนราธิวาส ได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับคณะครู วิทยากร พร้อมคณะผู้บริหารสถานศึกษา จากกรุงเทพมหานคร โดยมีนายสามารถ วราดิศัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “รินน้ำใจ สู่น้องชาวใต้” ครั้งที่ 9 ประจำปีการศึกษา 2555 ในช่วงเย็นวานนี้ (9 ม.ค.)

โครงการ “รินน้ำใจ สู่น้องชาวใต้” เป็นโครงการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดขึ้น ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางวิชาการและยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้การจัดการเรียนรู้ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าว ได้ช่วยเติมเต็มพื้นฐานความรู้ ทำให้นักเรียนสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทั้งของรัฐ และสถานศึกษาอื่นเพิ่มมากขึ้น

สำหรับปีนี้มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการ รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,000 คน โดยมีการจัดสรรโควตา ตามสัดส่วนจำนวนนักเรียนที่มีแต่ละโรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนที่เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายของรัฐ ในจังหวัดนราธิวาส จำนวน 19 แห่ง โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาสายสามัญที่เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 36 แห่ง รวมถึงโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ อีกจำนวน 55 แห่ง

โดยโครงการดังกล่าว ได้แบ่งการสอนออกเป็น 3 ศูนย์ ได้แก่ 1.ศูนย์โรงเรียนนราธิวาส สายวิทยาศาสตร์ จำนวน 550 คน จัดสอน ณ ห้องนราธิวาสฮอลล์ โรงแรมอิมพีเรียล จ.นราธิวาส 2. ศูนย์โรงเรียนนราสิกขาลัย สายศิลป์ จำนวน 450 คน จัดสอน ณ ห้องโสภาพิสัย โรงแรมตันหยง จ.นราธิวาส และ 3. ศูนย์โรงเรียนสุไหง-โกลก สายศิลป์ จำนวน 500 คน จัดสอน ณ โรงแรมมารีน่า อ.สุไหง-โกลก จ.นราธิวาส และ สายวิทย์ศาสตร์ อีกจำนวน 500 คน จัดสอน ณ โรงแรมเก็นติ้ง อ.สุไหง-โกลก จ.นราธิวาส ซึ่งมีการติวเข้มเสริมความรู้ ทั้งหมด 9 วิชา โดยมีโรงเรียนจากส่วนกลาง 15 แห่ง จัดคณะครู วิทยากร พร้อมคณะผู้บริหารสถานศึกษา รวม 41 ท่าน ทั้งนี้ โครงการ “รินน้ำใจ สู่น้องชาวใต้” ครั้งที่ 9 ประจำปีการศึกษา 2555 นี้ จัดติวเข้มเป็นระยะเวลา 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 9 - 14 มกราคม 2555 ตั้งแต่เวลา 9.00 น. จนถึง 16.00 น.

นายปราโมทย์ แก้วสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวถึงแผนการพัฒนาระบบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังการตรวจเยี่ยมดังกล่าว ณ โรงแรมเก็นติ้ง และโรงแรมมารีน่า อ.สุไหงโก-ลก ว่า ต้องยอมรับว่าการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาอีกมาก เพื่อให้นักเรียนในพื้นที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาทั้ง 2 ส่วน คือ ต้องทำให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งรวมถึงเด็กด้อยโอกาสและเด็กที่มีความจำเป็นต้องออกจากระบบการศึกษาก่อนกำหนดด้วยปัจจัยทางครอบครัวหรือปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ที่จะต้องเข้าถึงการศึกษาที่มีทั้งโรงเรียนอาชีวะ กศน. สพฐ. ร่วมถึงโรงเรียนเอกชนที่ต้องร่วมมือกันทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

ในขณะที่ส่วนที่ 2 คือการทำให้นักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดีขึ้น ทั้งนี้ หลังเกิดผลกระทบจากปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบที่ทำให้ครูที่มีคุณภาพส่วนหนึ่งย้ายออกจากพื้นที่ ครูมีเวลาอยู่ในโรงเรียนน้อยลงเนื่องจากความไม่ปลอดภัยและเวลาเรียนที่มีอย่างจำกัด ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องเข้ามาจัดทำแผนการศึกษาเพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาดและเพิ่มเติมในส่วนที่จะเสริมสร้างองค์ความรู้ ให้เด็กมีพัฒนาการทางศึกษาที่ดีขึ้น โดยยุทธศาสตร์ทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 7 ปีที่ผ่านมามีเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นเพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนในพื้นที่

พร้อมกันนี้ นายปราโมทย์ แก้วสุข ได้ประกาศความพร้อมของการศึกษาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เนื่องจากได้มีการพัฒนาความรู้ด้านภาษา ทั้งภาษาอาเซียน และภาษาอาหรับ ที่เป็นความถนัดของนักเรียนส่วนใหญ่ในพื้นที่ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในอนาคต โดยได้มีการทำบันทึกความเข้าใจในการเป็นโรงเรียนคู่ขนานระหว่างโรงเรียนตามแนวชายแดนของจังหวัดชายแดนภาคใต้กับประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษา รวมถึงการแลกเปลี่ยนครูและนักเรียนมาโดยตลอด ซึ่งในส่วนนี้ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบที่โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน



กำลังโหลดความคิดเห็น