xs
xsm
sm
md
lg

“ร.ร.บ้านราโมง” ต้นแบบวิถีอิสลามศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สอนเด็กๆ เรียนรู้การทักทายของอิสลาม
โดย...สุกัญญา แสงงาม

หลายปีก่อนโรงเรียนของรัฐในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งยะลา ปัตตานี นราธิวาส มีนักเรียนเข้าเรียนน้อยมาก เนื่องเพราะหลักสูตรการเรียนการสอนไม่สนองต่อความต้องการของชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม พ่อแม่ผู้ปกครองต่างอยากให้ลูกๆ เรียนรู้หลักปฏิบัติของอิสลาม ภาษาอาหรับ ภาษามลายู ส่วนใหญ่จึงส่งไปเรียนโรงเรียนเอกชนที่สอนอิสลาม หรือส่งไปเรียนที่ประเทศมาเลเซีย

นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาฯ กพฐ.) เล่าถึงสภาพปัญหาก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จะจัดหลักสูตรบูรณาการโดยให้เด็กเรียนวิชาสามัญควบคู่อิสลามศึกษา ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา โดยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รองเลขาฯ กพฐ.พร้อมคณะผู้บริหาร เดินทางไปยังโรงเรียนบ้านราโมง อ.เบตง จ.ยะลา โรงเรียนต้นแบบของการจัดหลักสูตรอิสลามศึกษาแบบเข้ม

นายสมเกียรติ บอกว่า โรงเรียนบ้านราโมง เปิดสอน ป.1 ถึง ม.3 โดยนักเรียนจะเรียนตามหลักสูตรสามัญ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ด้านศาสนาอิสลาม เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับตัวนักเรียนเอง เมื่อเด็กเรียนจบ ม.3 จะได้รับวุฒิ ม.3 สายสามัญ คู่กับวุฒิทางศาสนาอิสลาม ส่งผลให้เด็กสามารถเลือกนำวุฒิที่ได้รับไปศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือไปศึกษาต่อด้านศาสนาก็ได้

“หลักสูตรอิสลามศึกษา เกิดจากความร่วมมือของผู้นำศาสนาในชุมชน และมาเลเซีย ช่วยกันพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งโรงเรียนบ้านราโมง สอนหลักสูตรสายสามัญ 8 กลุ่มสาระ ยังมีหลักสูตรอิสลามศึกษา 5 วิชา ได้แก่ สาระย่อย อัล-ฮาดิษ สาระย่อย อัล-อากีดะฮฺ สาระย่อย อัล-ฟิกฮฺ สาระย่อย อัล-ตารีค และ สาระย่อย อัล-อัคลาค” นายสมเกียรติ กล่าว

นายทวัฒน์ จุลเสวก ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านราโมง อ.เบตง จ.ยะลา เล่าให้ฟังว่า นักเรียนของเราจะเรียนวิชาการเหมือนกับโรงเรียนทั่วไป ส่วนหลักสูตรอิสลามศึกษาจะแบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 2 ระดับ ตามวุฒิทางการศึกษาอิสลามศึกษา ได้แก่ ระดับอิสลามศึกษาตอนต้น (ฮิบติดาอียะฮฺ) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ช่วงชั้นที่ 1 และระดับอิสลามศึกษาตอนกลาง (มุตะวัสสีเฏาะฮฺ) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ช่วงชั้นที่ 2 ในขณะนี้ยังไม่ได้เปิดสอน เนื่องจากอยู่ระหว่างการออกแบบหลักสูตรของชุมชน

ในปัจจุบันโรงเรียนได้ขยายชั่วโมงเรียนอิสลามศึกษาจากเดิม 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็น 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามหลักสูตรที่คณะกรรมการและโรงเรียนช่วยกันร่างขึ้น เพราะคณะกรรมการมีความเชื่อว่าจะทำให้การเรียนการสอนเกิดความเข้มข้น ส่งผลให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถด้านวิชาการ สำหรับวุฒิทางการศึกษาอิสลาม เด็กจะต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานอิสลามศึกษา (I-NET) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดระดับความรู้ความสามารถของนักเรียนด้วย

“เราจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบบูรณาการที่ผสมผสานทั้งการเรียนวิชาอิสลาม ควบคู่กับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเน้นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่สอดคล้องกับ วิถีชีวิตมุสลิม เช่น การละหมาดร่วมกัน การถือศีลอด การแต่งกาย มารยาทต่อผู้ใหญ่และการทักทายต่อครู ซึ่งโรงเรียนได้เพิ่มชั่วโมงเรียนอิสลามศึกษาจาก 2 ชั่วโมงเป็น 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ประกอบด้วย 8 สาระวิชา อัลกุรอาน อัลฮาดิษ อัลฟิกษ์ อัลอากีตะฮุ อัตตารีค ภาษาอาหรับ และภาษามลายู” ผอ.โรงเรียนบ้านราโมง กล่าวต่อว่า ภายหลังเปิดอิสลามศึกษา มีนักเรียนมาเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วมีเสียงเรียกร้องจากคนในชุมชนขอให้ขยายไปจนถึงมัธยมปลาย เพราะแถวนี้ยังไม่มีโรงเรียนแห่งไหนเปิด ม.ปลาย ทำให้หลายครอบครัวต้องส่งเด็กไปเรียนที่ตัวเมือง และต้องเช่าบ้าน ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

ด้าน มะรากี ตาเยะ ครูสอนอิสลามศึกษา บอกว่า นักเรียนค่อนข้างเรียนหนัก เพราะต้องเรียนวิชาการและศาสนาด้วย ในส่วนของศาสนาพบว่ามีเด็กจำนวนหนึ่งสอบ I-NET ไม่ผ่าน จำเป็นต้องหาสื่อการเรียนการสอนเพิ่ม เพื่อให้เด็กเข้าใจและจำได้แม่นยำขึ้น ส่วนภาษาอาหรับมีความสำคัญสำหรับผู้ที่นับถืออิสลาม เพื่อเข้าจะได้อ่านบทสวดอัลกุรอาน พิธีฮัจญ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย
นายทวัฒน์ จุลเสวก ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านราโมง


กำลังโหลดความคิดเห็น